xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนจับมือญี่ปุ่น-จีน-เกาหลีตั้งกองทุนช่วยซื้อ "หนี้เน่าแบงก์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) 10 ชาติ ร่วมกับญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ และจีน ตกลงตั้งกองทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าซื้อหนี้เสียและหนุนธนาคารในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินของโลก ทั้งนี้ตามการแถลงของประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย แห่งฟิลิปปินส์เมื่อวันพุธ (15)

อาร์โรโยล่าวสุนทรพจน์ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงมะนิลาว่า ธนาคารโลกยังให้คำมั่นว่าจะให้เม็ดเงินเริ่มต้น 10,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับกองทุนฝ่าวิกฤตของประเทศในเอเชียดังกล่าว

"เงินในกองทุนดังกล่าวสามารถนำมาใช้ซื้อสิ่งที่นายธนาคารเรียกกันว่า "สินทรัพย์เน่า" และเพิ่มเงินกองทุนให้แก่สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนที่กำลังประสบปัญหา" ประธานาธิบดีอาร์โรโยกล่าว

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกได้เสนอเม็ดเงินรวมกันสูงถึง 3,200,000 ล้านดอลลาร์ในรูปแบบของมาตรการอันหลากหลายเพื่อช่วยกันต้านวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบมากกว่า 70 ปี ซึ่งได้ฉุดเอาสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งให้ล้มครืนลงมาทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

วิกฤตครั้งนี้ก็ยังทำให้หลายคนรำลึกถึงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อปี 1997 ซึ่งเกิดจากค่าเงินในภูมิภาคดิ่งลงรุนแรงและบรรดานักลงทุนต่างประเทศพากันดึงเงินของตนออกจากภูมิภาคนี้จำนวนมหาศาล

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีความต้องการเร่งด่วนในการอัดฉีดเงินทุนเข้าไปในธนาคารหรือบริษัทใดๆ ในเอเชีย เพราะว่าธุรกิจในเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ของสถาบันการเงินตะวันตกมากนัก ไม่เหมือนตลาดเงินและตลาดทุนที่ได้รับกระทบโดยตรงจากวิกฤตดังกล่าว

แต่การมีกองทุนฉุกเฉินดังกล่าวเอาไว้ก็จะทำให้ประเทศในเอเชียสามารถยืนหยัดต่อปัญหาต่างๆ ที่อาจก่อตัวกลายเป็นวิกฤตในระยะต่อไปได้ รวมทั้งยังจะสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจในเอเชียเพิ่มมากขึ้น

"เรายังมองไม่เห็นภาพวิกฤตหนักหน่วงที่รัฐบาลทั้งหลายจะต้องอัดฉีดเงินทุนให้แก่สถาบันการเงินเลย" ไรเตช มเหชวารี นักวิเคราะห์สินเชื่อหลักของบริษัทจัดอันดับเรตติ้งสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์กล่าว

"ในเอเชียยังไม่มีความต้องการใช้เม็ดเงินฉุกเฉินเช่นนั้น แต่มันเป็นพัฒนาการในทางที่ดี โดยจะเตรียมประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดูแลปัญหาภาคการธนาคารได้ดีกว่าเดิม เพราะมีโอกาสที่ธนาคารในภูมิภาคนี้อาจจะล้มครืนลงมาได้เหมือนกัน

อาร์โรโยกล่าวว่าสมาชิก 10 ชาติของอาเซียน บวกกับญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะร่วมกันออกเงินร่วมสมทบการตั้งกองทุนนี้ เพิ่มเติมจากเงินเบื้องต้นที่ธนาคารโลกประกาศว่าจะให้

อาร์โรโย กล่าวอีกว่า แผนการก่อตั้งกองทุนนี้ ได้จัดทำกันขึ้นในระหว่างการประชุมธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟที่กรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ตอนนี้ยังมีการหารือเพื่อกำหนดในรายละเอียดกันต่อไป

ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟจะร่วมกันร่างระเบียบเกี่ยวกลไกต่าง ๆและวิธีขอใช้เงินกองทุนนี้ โดยมีรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือด้านต่างๆ

"สมาชิกของประเทศในอาเซียนรวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบรรดาองค์การระหว่างประเทศ ต่างแสดงความยินดีต่อความคิดริเริ่มในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ต้องการเม็ดเงินสามารถเข้าถึงกองทุน แต่ยังจะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย" อาร์โรโยกล่าว

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมอาร์โรโยจึงเป็นผู้ประกาศข่าวนี้ แทนที่จะเป็นประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในวาระปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ไทยผู้หนึ่งกล่าวว่า อาจจะเป็นเพราะไทยกำลังเผชิญปัญหายุ่งเหยิงทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ ประเทศเอเชียตะวันออกทั้งสาม ได้เสนอแนวคิดเรื่องข้อตกลงสวอปเงินสกุลในเอเชียมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขยายข้อตกลงที่ทำกันไว้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเพื่อให้ประเทศที่ประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงินสามารถได้เม็ดเงินเข้าไปเสริมสภาพคล่องในประเทศ เพียงแต่จำนวนเงินที่ตกลงกันไว้นั้นน้อยมาก

อาร์โรโย ย้ำว่า อาเซียนบวกสามจะหารือระหว่างกันอีกครั้ง ในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือกันในรายละเอียดว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียอย่างไรบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น