xs
xsm
sm
md
lg

จีน-เวียดนามแข่งอิทธิพลกันในลาว (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China and Vietnam square off in Laos
By Brian McCartan
29/08/2008

การที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในลาว ย่อมส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์อันยาวนานที่ลาวมีอยู่กับเวียดนาม โดยที่ทั้งจีนและเวียดนามต่างกำลังจับจ้องกันตาเยิ้ม ต่อทรัพยากรธรรมชาติและพลังน้ำของลาว ซึ่งนอกจากมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์แล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกแตะต้องกล้ำกราย เท่าที่ผ่านมา เวียงจันทน์ยังคงได้รับผลดี ด้วยการสร้างความสมดุลจากการรุกคืบของเพื่อนบ้านทั้งสองรายนี้

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เวียงจันทน์ – การที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในลาวที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากร กำลังถูกตีความจากบางกลุ่มบางคนว่าเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์รายสำคัญที่สุดและในทางพฤตินัยก็เป็นผู้ค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ลาวมานมนานแล้ว แต่แท้จริงแล้วการปรับศูนย์ตั้งสมดุลทางการทูตกันใหม่คราวนี้ของลาว เป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามของประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลรายนี้ ที่จะบูรณาการทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคแถบนี้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น และเท่าที่ผ่านมาก็ดูจะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ลาวเป็นอันดี

ลาวกำลังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของจีนหรือเวียดนาม อันเป็น 2 ชาติในเอเชียที่กำลังมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุด ผลประโยชน์ของเวียดนามนั้นจุดสำคัญที่สุดอยู่ที่เรื่องการรักษาให้ชายแดนทางบกที่ติดต่อกับลาวอยู่ในสภาพมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนเรื่องการพัฒนาช่องทางเข้าถึงตลาดในประเทศไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่วนสำหรับจีนแล้ว ลาวสามารถเป็นเส้นทางใหญ่ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างกว้างไกลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกจากพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ห่างไกลและด้อยพัฒนากว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศ

นอกจากนั้น ทั้งจีนและเวียดนามต่างก็มีความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทรัพยากรธรรมชาติ, ผลิตผลทางการเกษตร, และพลังน้ำของลาว ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์อีกทั้งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกแตะต้องกล้ำกราย โดยเฉพาะพลังน้ำนั้นสามารถที่จะใช้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้แก่เศรษฐกิจซึ่งกำลังขยายตัวของประเทศทั้งสองได้เป็นอย่างดี

นักวิเคราะห์บางรายในเวียงจันทน์ทำนายว่า สมดุลด้านอิทธิพลบารมีภายในพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พปปล.) อีกไม่นานอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทางข้างที่ทำให้ฝ่ายปักกิ่งได้เปรียบมากขึ้น เนื่องจากพวกผู้นำระดับอาวุโสของลาวกำลังทยอยถอยห่างออกจากเวทีการเมือง ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานรุ่นหนุ่มกว่าและมีความรู้ความชำนาญเรื่องเศรษฐกิจแบบตลาดมากกว่า ทว่าไม่มีประสบการณ์ในยุคการต่อสู้ปฏิวัติของชาวคอมมิวนิสต์ กำลังก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งหน้าที่ทรงอำนาจทั้งหลาย

ถึงแม้ในคณะประจำของกรมการเมือง พปปล. ที่มีด้วยกัน 11 คน ยังมีถึง 10 คนที่สามารถพูดภาษาเวียดนามได้อย่างคล่องแคล่ว อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้งเป็นส่วนตัวที่พวกเขามีอยู่กับฮานอยตลอดคณะผู้นำทางการเมืองของประเทศนั้น แต่พวกผู้ปฏิบัติงานระดับกลางที่กำลังผงาดขึ้นสูงไปเรื่อยๆ กลับมีจำนวนน้อยลงที่เคยไปศึกษาในเวียดนาม ตรงกันข้ามคนเหล่านี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผู้ผ่านการศึกษาในอดีตสหภาพโซเวียตล จีน, หรือที่อื่นๆ

นายกรัฐมนตรีลาวคนปัจจุบัน บัวสอน บุบผาวัน ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 8 เมื่อปี 2006 ได้รับการจับตามองจากผู้คนจำนวนมากว่า เป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางที่อิทธิพลจีนจะเพิ่มทวีขึ้นในคณะรัฐบาลของลาว บัวสอนเกิดเมื่อปี 1954 เมื่อตอนที่คอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศในปี 1975 นั้น เขามีอายุ 21 ปีและเป็นนักศึกษาที่มีบทบาทเป็นนักเคลื่อนไหว ไม่ใช่เป็นนักรบผู้เจนศึกในสงครามปฏิวัติ ในเวลาต่อมา เขาเดินทางไปศึกษาที่สหภาพโซเวียต ไม่ใช่ที่เวียดนาม

จีนดูเหมือนจะตระหนักถึงพลวัตอันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงได้มีการนำเอายุทธศาสตร์ทางการทูตที่คำนึงถึงผลระยะยาวมาใช้กับลาว แทนที่จะมุ่งเน้นเพิ่มน้ำหนักจากแสนยานุภาพทางการค้าของตนจนออกหน้าออกตาถ่ายเดียว ปักกิ่งก็กำลังให้ความสำคัญไปด้วยกับการบ่มเพาะผู้นำลาวรุ่นหนุ่มๆ โดยอาศัยโครงการต่างๆ ที่จะเชิญพวกเขาไปยังจีนเพื่อรับการฝึกอบรม อันมีทั้งทางด้านวิชาชีพ, อุดมการณ์, และการทหาร ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ดำเนินการกันไป อย่างมีการคาดการณ์ถึงการเริ่มต้นยุคใหม่ซึ่งอันที่จริงก็กำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นแล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติงานรุ่นเก่าที่อิงกับทางเวียดนาม ค่อยๆ ถอยหายไปจากเวทีการเมือง

ระหว่างที่ ยง จันทะลังสี โฆษกรัฐบาลลาว ให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ออนไลน์ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความคิดของฝ่ายลาวซึ่งมุ่งคำนึงถึงผลทางปฏิบัติ โดยระหว่างที่พูดกันถึงเรื่องจีนกำลังก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจรายใหม่ของภูมิภาคแถบนี้ โฆษกผู้นี้กล่าวว่า “การเปิดกว้างและการบูรณาการกันในภูมิภาคแถบนี้ เป็นสิ่งที่ดีกว่าสงครามเย็นในอดีตซึ่งพวกมหาอำนาจบางรายสร้างขึ้นมา ตอนนั้นที่ลาวต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตความมั่นคงด้วยนั้น ทำให้ลาวต้องอยู่ในสงครามยาวนานถึง 30 ปี”

ถึงแม้สิ่งที่เขาพูดออกมาจะเป็นการอ้างอิงถึงสงครามอินโดจีนที่สู้รบกับสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านั้นก็รบกับฝรั่งเศส แต่คำพูดของเขาก็ยังสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้อย่างง่ายดายถึงยุคสมัยแห่งความสัมพันธ์อันเย็นชาระหว่างลาวกับจีน ในช่วงเวลาจากปี 1975 ถึง 1988 ปัจจุบัน ด้วยการที่พวกประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคแถบนี้ ต่างปฏิรูปเศรษฐกิจของพวกตนที่เคยเน้นการวางแผนจากส่วนกลาง หันมาใช้นโยบายที่อาศัยแรงขับดันของตลาดกันเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ความจำเป็นต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ กลายเป็นปัจจัยที่มานิยามบงการความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในภูมิภาคกันเสียใหม่ ทั้งนี้ย่อมรวมถึงลาวด้วย

**การกำหนดจุดยืนที่คำนึงผลเชิงพาณิชย์**

เวลานี้ ลาวกระตือรือร้นที่จะโปรโมตตนเองในฐานะประเทศ “ที่เชื่อมโยงทางบก” (land-linked) กับชาติอื่นๆ รอบด้าน แทนที่จะเป็นประเทศ “ที่ไม่มีทางออกทางทะเล” (landlocked) โดยกำลังเน้นย้ำศักยภาพของตนที่จะแสดงบทบาทเป็นชุมทางทางการค้าระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในเรื่องนี้ ยง โฆษกรัฐบาลลาวอธิบายว่า “ลาวต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนมานานเพราะเป็นดินแดนที่ไม่มีทางออกทางทะเลตลอดจนอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ดังนั้นการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันในภูมิภาคแถบนี้จึงมีแต่ทำให้เกิดผลดีแก่ลาว”

ทัศนะเช่นนี้หมายความด้วยว่า ลาวมองเห็นคุณค่าของการกระจายความสัมพันธ์ทางการทูตให้ข้ามเลยไปจากสภาพที่จะต้องพึ่งพิงเวียดนามมาแต่เก่าก่อน การดำเนินการเพื่อมุ่งให้เกิดความสมดุลเช่นนี้ ยังได้ขยายไปสู่ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือแก่ลาวมายาวนาน นั่นคือ ขณะที่เวียงจันทน์ยังคงกระตือรือร้นที่จะรับการลงทุนตลอดจนความช่วยเหลือจากตะวันตก เพื่อมาส่งเสริมผลักดันเศรษฐกิจ, สร้างงานและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ในเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลลาวก็จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับเงื่อนไขต่างๆ ที่มักถูกผูกติดมากับความช่วยเหลือดังกล่าว โดยเฉพาะเงื่อนไขที่เรียกร้องให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเพิ่มความโปรงใสในการดำเนินงานของทางรัฐบาล

ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนที่มาจากจีนและเวียดนามนั้น กลับกำลังไหลเข้าสู่ลาวโดยไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า ในบทความเมื่อปี 2005 ของ มาร์ติน สจวร์ต-ฟอกซ์ นักวิชาการผู้โดดเด่นในการศึกษาเรื่องของลาว ได้ชี้ให้เห็นว่า จีนและเวียดนามจะไม่ได้บรรลุผลประโยชน์สูงสุดทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด ถ้าหากพรรค พปปล.ต้องสูญเสียอำนาจผูกขาดทางการเมืองของตนไป และในเมื่อเป็นเช่นนี้ ลาวจะยังคงได้รับความสนับสนุนในเชิงพาณิชย์จากประเทศทั้งสองต่อไป ขณะที่ พปปล. แทบไม่มีแรงจูงใจอะไรที่จะริเริ่มดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง

ความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งที่เวียดนามมีกับลาวนั้น เป็นการงอกเงยเติบโตมาจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศทั้งสอง ต่างมีต้นกำเนิดจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในยุคทศวรรษ 1930 ความสัมพันธ์นี้ยิ่งได้รับการเสริมสร้างให้แน่นหนาเข้มแข็งขึ้นอีกในระยะเวลา 30 ปีของการต่อสู้กับฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าอาณานิคม และต่อจากนั้นก็กับระบอบการปกครองที่หนุนหลังโดยอเมริกัน ซึ่งในที่สุดแล้วระบอบปกครองเช่นนี้ก็ถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์โค่นล้มลงในปี 1975

ชาวคอมมิวนิสต์ลาวและกองกำลังอาวุธของชาวเวียดนาม ได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันตลอดช่วงสงครามเหล่านี้ เส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธสัมภาระของเวียดนามเหนือในขณะนั้น ที่มีสมญาเรียกขานกันว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” และมีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องจากถูกใช้ในการสู้รบกับเวียดนามใต้ที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯนั้น ก็เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภาคตะวันออกของลาว พวกผู้ปฏิบัติงานคอมมิวนิสต์ลาวจำนวนมากได้รับการฝึกอบรมด้านอุดมการณ์และการทหารจากฝ่ายฮานอย ขณะที่จีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในลาวเพียงแค่เรื่องการสร้างถนนในเขตภาคเหนือของลาวเท่านั้น

ลาวและเวียดนามได้ลงนามทำสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือลาว-เวียดนาม ที่มีอายุบังคับใช้ 25 ปีกันอย่างเป็นทางการในปี 1977 โดยมีการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างเรียกว่าเป็น “ความสัมพันธ์พิเศษ” แต่สำหรับกับจีนนั้น จากการที่เวียดนามเข้าข้างสหภาพโซเวียตและคัดค้านจีน ในการโต้แย้งทางหลักการคอมมิวนิสต์ของประเทศใหญ่ทั้งสอง จึงย่อมหมายความด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างลาวที่เป็นพันธมิตรของเวียดนาม กับทางจีนนั้น ก็พลอยเย็นชาไปด้วย ความสัมพันธ์นี้ยิ่งเลวร้ายลงอีกเมื่อเวียดนามรุกรานกัมพูชาในปลายปี 1978 และจีนทำการรุกรานอย่างจำกัดต่อภาคเหนือของเวียดนามตอนต้นปี 1979

เวลานี้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างลาวกับเวียดนามยังอยู่ในสภาพอันแข็งแกร่ง ถึงแม้สนธิสัญญาพันธมิตรปี 1977 จะถูกปล่อยให้หมดอายุลงไปเมื่อปี 2002 สายสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างพวกผู้นำลาวและเวียดนามยังคงเข้มแข็งในทางการเมืองจนเพียงพอที่จะทำให้ “ความสัมพันธ์พิเศษ” ดำรงคงอยู่ต่อไป พวกสื่อที่ดำเนินการโดยรัฐของลาวจะเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีทั้งทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม และการทหารระหว่างประเทศทั้งสองแทบจะทุกสัปดาห์ แผ่นป้ายโฆษณาตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศลาว เต็มไปด้วยข้อความยกย่องชมเชยวาระครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองฝ่าย และวาระครบรอบ 30 ปีของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือลาว-เวียดนาม

ขณะเดียวกัน เวียดนามก็ยังคงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของลาว คณะกรรมการเพื่อความร่วมมือเวียดนาม-ลาว ได้รายงานในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า การค้าสองทางระหว่างประเทศทั้งสองมีมูลค่าอยู่ในระดับ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งสองประเทศยังเน้นย้ำถึงเป้าหมายร่วมกันที่จะขยายการค้าทวิภาคีให้บรรลุถึงระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2010 และถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2015

**การแข่งขันด้านการลงทุน**

เวียดนามยังกำลังแข่งขันอย่างชัดเจนกับจีนในเรื่องการแผ่อิทธิพลด้วยการลงทุนในลาว ตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาในการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนเวียดนาม-ลาว ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม แสดงให้เห็นว่า การลงทุนของเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเป็น 177 โครงการซึ่งมีมูลค่ารวม 1,280 ล้านดลอลาร์ ถ้าหากข้อมูลนี้ถูกต้อง นี่ย่อมหมายความว่าเวียดนามได้ยึดตำแหน่งผู้ลงทุนต่างประเทศรายใหญ่เป็นอันดับสองในลาว โดยตามหลังเพียงแค่ประเทศไทย แต่เบียดจีนลงมาสู่อันดับสาม

ขอบเขตที่เวียดนามสนใจตั้งเป้าหมายมาลงทุนในลาวนั้น มีอาทิ กิจการเหมืองแร่ ตลอดจนกิจการเกษตรกรรมและการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มุ่งเน้นการส่งออก ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เห็นเวียดนามมาลงทุนหนักมากในด้านการทำสวนยางทางภาคใต้ของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก นอกจากนั้นลาวยังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่มีศักยภาพจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และมีรายงานว่ารัฐวิสาหกิจของเวียดนามอย่าง ปิโตรเวียดนาม และ อีเล็กทริซิตี้ เวียดนาม กำลังวางแผนดำเนินโครงการใหม่ๆ ในประเทศนี้

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การค้าและการลงทุน รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงตลาดต่างๆ ในประเทศไทยและส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงกำลังวุ่นวายอยู่กับการสร้างถนนหนทางในภาคตะวันออกของลาว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนตาม “แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” (Greater Mekong Subregion’s East-West Corridor) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมเวียดนาม, ลาว, ไทย, พม่า, และอินเดีย ส่วนเชื่อมต่อที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ก็คือ ถนนสายระหว่างเมืองด่าหนัง อันเป็นเมืองท่าทางภาคกลางของเวียดนาม กับ “สะพานมิตรภาพแห่งที่สอง” ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมระหว่างแขวงสะหวันะเขตของลาว กับจังหวัดมุกดาหารของไทย

ขณะที่สายสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ความเชื่อมโยงกันทางด้านความมั่นคงของประเทศทั้งสองน่าจะเป็นด้านที่มีความแน่นหนาเป็นจริงยิ่งกว่าด้วยซ้ำ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 ยังคงมีทหารเวียดนามตั้งฐานทัพอยู่ในลาวโดยประมาณกันว่าน่าจะมีจำนวน 40,000 – 50,000 คน ถึงแม้เวียดนามได้ถอนทหารของตนออกมาแล้วในทศวรรษ 1990 แต่ก็ยังคงทำการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนมีสถานีข่าวกรองทางทหารอยู่ในลาว ทั้งนี้ตามรายงานของแหล่งข่าวบางแหล่ง กองทัพลาวยังคงหันไปหาเวียดนามเมื่อต้องการคำปรึกษาด้านการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบของชนชาติม้ง และตามการวิเคราะห์ของบางฝ่าย คณะผู้แทนทางทหารของลาวยังได้ไปเวียดนามในปี 1999 และ 2000 เพื่อขอคำแนะนำ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงและกระแสการลอบวางระเบิดอย่างลึกลับหลายครั้งในนครหลวงเวียงจันทน์

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ อาจสามารถติดต่อเขาได้ทาง brian@comcast.com

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

  • จีน-เวียดนามแข่งอิทธิพลกันในลาว (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น