xs
xsm
sm
md
lg

นิยายเรื่องอิหร่านเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมจนถึง “เกรดทำอาวุธได้”แล้ว (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: คาเวห์ แอล อาฟราซิอาบี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The myth of ‘weapons-grade’ enrichment
By Kaveh L Afrasiabi
23/06/2008

ขณะตีแผ่เปิดเผยเรื่องอิสราเอลทำการซ้อมรบเพื่อเข้าโจมตีทางอากาศใส่สถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่านกันอย่างครึกโครมนั้น สื่อมวลชนตะวันตกจำนวนมากก็ได้นำเอาเนื้อหาข้อความเก่าๆ ที่ระบุว่า เตหะรานกำลังมุ่งที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างกระตือรือร้น ตลอดจนกำลังสั่งสมยูเรเนียมที่ผ่านการเพิ่มความเข้มข้นจนอยู่ใน “เกรดทำอาวุธได้” กลับมารีไซเคิลเผยแพร่กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ อันเป็นองค์กรชำนัญพิเศษทางด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ไม่เคยพูดเช่นนั้นเลย หลังจากที่ได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งต่างๆ ของอิหร่านมาเป็นเวลาหลายพันชั่วโมงแล้ว นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ขอพูดถึงเรื่องการมีมาตรฐานสองมาตรฐานในสหประชาชาติกันก่อน ขณะที่เลขาธิการยูเอ็น บันคีมุน กล่าวประณามซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อถ้อยคำโวหารคัดค้านอิสราเอลของประธานาธิบดี มาหมุด อาหมัดดิเนจัด แห่งอิหร่าน โดยบอกว่า “รู้สึกตกตะลึงและผิดหวัง” นั้น เขาก็ยังคงเงียบเฉยอย่างชนิดเป็นลางร้ายและไม่อาจให้อภัยได้ ต่อการคุกคามอย่างโจ่งแจ้งของอิสราเอลที่จะใช้กำลังทหารโจมตีอิหร่าน ด้วยเหตุนี้ มันจึงกำลังเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของโลกในความสามารถของเขาที่จะนำพาประชาคมโลกให้พ้นไปจากสงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งกำลังระอุเป็นกาน้ำเดือด

จากการเพิกเฉยไม่สนใจการประท้วงอย่างเป็นทางการของอิหร่านในยูเอ็น ต่อการคุกคามอย่างเปิดเผยของอิสราเอล บันน่าจะต้องกลับไปพิจารณาคำแถลงของตัวเขาเองเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2007 ที่เขาพูดว่า “เลขาธิการสหประชาชาติขอระบุอย่างชัดเจนว่า สมาชิกทุกรายจะต้องละเว้นจากการคุกคามหรือการใช้กำลังคัดค้านบูรณภาพแห่งดินแดนหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ ก็ตามที”

ในการเปิดเผยของสื่อมวลชนครั้งใหม่ เกี่ยวกับแผนการที่คืบหน้าไปมากแล้วของอิสราเอล ที่จะเปิดฉากการโจมตีทางอากาศอย่างขนานใหญ่ต่อบรรดาสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งมีหวังจะทำให้พลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตายกันอย่างมากมาย และกลายเป็นชนวนจุดให้ภูมิภาคที่ปะทุได้ง่ายๆ แห่งนี้แปรสภาพเป็น “ลูกไฟมหึมา” ถ้าหากจะถ่ายทอดปฏิกิริยาของผู้อำนวยการใหญ่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) โมฮัมหมัด เอลบาราเด ผู้ซึ่งประกาศอย่างเด็ดขาดหนักแน่นว่า เขาจะลาออกทันทีหากอิหร่านถูกโจมตี บันนั้นกำลังอยู่ตรงเส้นแบ่งแดนบนปากขอบของการละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการของเขา จากการปฏิเสธไม่ยอมออกคำแถลงที่เคร่งครัดน่าเกรงขาม ในเรื่องอันร้ายแรงยิ่งของสงครามและสันติภาพนี้

คำวิจารณ์ของเอลบาราเดปรากฏออกมา ภายหลังมีการยืนยันจากบรรดาแหล่งข่าวทั้งที่เพนตากอนและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯอื่นๆ ว่า เมื่อไม่นานมานี้ อิสราเอลได้ดำเนินการซ้อมรบอย่างเต็มรูปแบบทีเดียว เกี่ยวกับการเข้าเล่นทางทางทหารต่อที่ตั้งทางนิวเคลียร์ต่างๆ ของอิหร่าน ถ้าอิสราเอลกระทำทำตามที่ได้ข่มขู่ไว้ และทิ้งระเบิดเข้าใส่อิหร่านแล้ว ก็จะเป็นการจุดชนวนการสู้รบครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยจะมีผลต่อเนื่องที่มีอันตรายสูงและคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ยูเอ็นก็ย่อมจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้บาดเจ็บล้มตายรายหลักรายหนึ่งจากวิกฤตนี้ และจะต้องถูกประณามหนักจากความล้มเหลวบกพร่องในการที่ไม่สามารถบริหารจัดการวิกฤตด้วยความหนักแน่นรอบด้าน

เป็นโชคร้ายที่ความบกพร่องของยูเอ็นดังที่ระบุไว้ข้างต้น ยังได้ผสมผสานกับความล้มเหลวที่เกี่ยวเนื่องกันของพวกสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯและยุโรป ในการวิพากษ์วิจารณ์วิธีแก้ปัญหาวิกฤตอิหร่านอย่างผิดพลาดของบัน ตลอดจนในการแก้ไขรับมือกับการป้อนข้อมูลให้อย่างผิดๆ ชนิดทำกันเป็นระบบ และการวางแผนสร้างความหวาดระแวงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิสราเอลและพันธมิตรของเขากำลังกระทำกันอยู่

ตรงกันข้าม สื่อโดยเฉพาะของทางสหรัฐฯ กลับยอมปล่อยให้พวกเขาเองกลายเป็นผู้ร่วมสมคบคิดอย่างไม่รู้ตัวของเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านอิหร่านของอิสราเอล โดยมัวสาละวนอยู่กับการนำเอาเนื้อหาข้อความเก่าๆ กลับมารีไซเคิลใช้กันอีกรอบหนึ่ง ทั้งในเรื่องที่บอกว่า อิหร่านกำลังมุ่งที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างกระตือรือร้น, กำลังสั่งสมยูเรเนียมที่ผ่านการเพิ่มความเข้มข้นจนอยู่ใน “เกรดทำอาวุธได้” (weapons-grade) และด้วยเหตุนี้จึงกำลังอยู่บนปากขอบของ “จุดที่จะไม่มีการหวนกลับไปเหมือนเดิมอีก” (the point of no return) ในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การแข่งขันกันเพื่อหลอกลวงมติมหาชนเกี่ยวกับ “อันตรายที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งในปัจจุบัน” (clear and present danger) จากการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การโจมตีที่ข่มขู่ไว้แล้วของอิสราเอล (โดยได้รับการอนุมัติอย่างอ้อมๆ จากสหรัฐฯ) กำลังอยู่ในช่วงเร่งเครื่องกันอย่างเต็มสูบ และสื่อสหรัฐฯโดยภาพรวมก็กำลังจะได้คะแนน “เอฟ” อีกตัวหนึ่ง เหมือนกับที่พวกเขาเคยได้รับมาจากการที่สหรัฐฯเข้ารุกรานอิรักในปี 2003 เมื่อสื่ออเมริกันที่คุยกันว่า “เต็มไปด้วยความหลากหลาย” กลับเหลือเพียงเปลือกของตัวเอง ทำหน้าที่แค่สะท้อนเสียงอย่างหลับหูหลับตาในสิ่งที่ทำเนียบขาวปลุกปั่นขึ้นมา ในเรื่องที่ว่าอิรักมีอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง

เป็นเรื่องน่าทึ่งจริงๆ ในการที่สื่อสหรัฐฯมีการเรียนรู้และมีการพัฒนาไปน้อยนิดเหลือเกินนับตั้งแต่ช่วงเวลานั้นมา และปณิธานมุ่งมั่นของพวกเขาก็ถูกแช่แข็งเอาไว้ขนาดไหน เมื่อพวกเขายังคงอยู่ในสภาพหมดความสามารถไปอย่างเซื่องๆ ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐอิสราเอล จนชวนให้ย้อนระลึกถึงคำวิพากษ์วิจารณ์หน้าบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์สหรัฐฯ ที่อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เขียนเอาไว้ในหนังสือของเขา สภาพการณ์ในเวลานี้มันเลวร้ายเสียยิ่งกว่าลัทธิแบ่งแยกสีผิวอีก แท้ที่จริงแล้ว พฤติกรรมที่ค่อนข้างทำตัวให้อยู่ในแถว, ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์, และสมยอมกันไปของบรรดาสื่อสหรัฐฯเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเลวยิ่งกว่าสื่อของอิสราเอลเองด้วยซ้ำ เพราะสื่ออิสราเอลยังแสดงออกเป็นครั้งเป็นคราว ถึงสัญญาณของความเป็นอิสระจากนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล

**มันไม่ใช่ “ไร้การตรวจสอบ” หรือ “เกรดทำอาวุธได้” **

จากนิวยอร์กไทมส์ ไปจนถึงวอลล์สตรีทเจอร์นัล ไปจนถึง บอสตันโกลบ, ดัลลัส นิวส์, และอื่นๆ สิ่งเรียงร้อยร่วมสิ่งหนึ่งที่กำลังถูกเผยแพร่ผ่านทางบทบรรณาธิการและหน้าความเห็นของพวกเขา ก็คือ การบิดเบือนถึงระดับรากฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ในโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งกำลังดำเนินไปโดยไม่มีใครตั้งข้อสังเกต ถึงแม้การบิดเบือนเช่นนี้สามารถเห็นกันได้จะจะ รวมทั้งมีลักษณะอันฉาวโฉ่ชัดแจ้ง

ยิ่งเมื่อมีพวกผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ชั้นนำ, ผู้รู้ทางด้านสื่อ, และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ พากันรีไซเคิลเนื้อหาข้อความเก่าๆ นำเอามาใช้กันใหม่ จึงทำให้เวลานี้การบิดเบือนอย่างสาหัสร้ายแรงนี้ กำลังครองฐานะกลายเป็นสิ่งที่พูดกันซ้ำซากและเชื่อกันว่าเป็นจริงเกี่ยวกับอิหร่านไปแล้ว และมันจึงมีอันตรายที่จะถูกใช้เพื่อรองรับการที่ทางอิสราเอล และ/หรือสหรัฐฯ จะเข้าโจมตีอิหร่าน แม้โดยมิได้ถูกยั่วยุอะไร

แต่ไม่ว่าผู้ลงนามว่าเป็นผู้เขียนบทความเหล่านี้จะแสดงคุณวุฒิและตำแหน่งอันทรงอิทธิพลสักเพียงไหนก็ตามที การบรรยายในสื่อสหรัฐฯของพวกเขาที่ยืนกรานอ้างว่า อิหร่านกำลังผลิตยูเรเนียมเข้มข้น “เกรดทำอาวุธได้” ทั้งหลายแหล่ ย่อมไม่สามารถที่จะท้าทายผลการตรวจสอบอย่างละเอียดยิบของไอเอซีเอ ซึ่งระบุออกมาในทางตรงกันข้าม การบรรยายในสื่อสหรัฐฯเหล่านี้เองมักมีการอ้างอิงถึงรายงานเกี่ยวกับอิหร่านของทางไอเออีเออยู่บ่อยๆ ทว่ากลับมองเมินไม่สนใจสิ่งที่ระบุอ้างอิงเอาไว้อย่างชัดเจนในรายงานเหล่านี้ ที่ว่าอิหร่านมีแต่ “ยูเรเนียมผ่านการเพิ่มความเข้มข้นในระดับต่ำ” (low-enriched uranium) โดยมีการเพิ่มความเข้มข้นขึ้นมาไม่เกิน 4%

ขอยกมาเป็นตัวอย่างสัก 2-3 ตัวอย่าง แกรห์ม แอลลิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชั้นนำของสหรัฐฯที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อไม่นานมานี้ได้เขียนบทความลงใน บอสตันโกลบ [1] ระบุว่า “อิหร่านกำลังเดินเครื่องเพิ่มความเข้มข้น (centrifuge) ที่จัดวางเรียงกันเป็นชั้นๆ (cascade) จำนวนรวม 3,492 เครื่อง ซึ่งสามารถผลิตยูเรเนียมเพิ่มความเข้มข้นระดับต่ำได้ 500 ปอนด์ นี่เท่ากับปริมาณหนึ่งในสามของที่ต้องการสำหรับการทำระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของอิหร่าน”

ทำนองเดียวกัน ในบทความที่ตีพิมพ์ในวอลล์สตรีทเจอร์นัล ส.ส.สหรัฐฯ เจน ฮาร์แมน ผู้เป็นประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Intelligence Commission) อันทรงอำนาจ ก็ได้พูดถึง ความคืบหน้าไปเรื่อยๆ ของอิหร่านในการติดตั้งเครื่องเพิ่มความเข้มข้นใหม่ๆ เพิ่มเติม และอันตรายอันเกิดจาก “วัสดุที่อยู่ในเกรดสามารถทำอาวุธได้ และไม่ได้ถูกกำกับตรวจสอบ” ซึ่งเวลานี้อยู่ในมือของเตหะราน [2]

ช่างไม่ได้สนใจใยดีเลยกับการที่รายงานหลายชิ้นของไอเออีเอระบุยืนยันอย่างชัดเจนว่า บรรดาสถานที่อันเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเข้มข้นของอิหร่านทุกแห่ง ต่างก็กำลังอยู่ภายใต้มาตรการ “การจำกัดยับยั้งและการเฝ้าติดตามตรวจสอบ” (containment and monitoring) ของทางทบวง หรือเรื่องที่ว่าพวกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของไอเออีเอได้มี “การไปเยือนอย่างไม่แจ้งล่วงหน้า” ถึง 9 ครั้ง ยังสถานที่เพิ่มความเข้มข้นที่ นาตันซ์ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2007

ด้วยเหตุนี้เอง ดังตัวอย่างจากข่าวหน้าหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์ [3] ลงวันที่ 20 มิถุนายน ไมเคิล กอร์ดอน และ อีริก ชมิตต์ ได้รายงานข่าวใหม่อันชวนตื่นเต้นเรื่องที่อิสราเอลมีความเคลื่อนไหวทางทหารอย่างกว้างขวาง ในการเตรียมตัวสำหรับเข้าโจมตีอิหร่าน แล้วพวกเขาก็ไม่วายให้เหตุผลความชอบธรรมอย่างอ้อมๆ แก่การมุ่งสู่สงครามของอิสราเอล ด้วยการละเลยไม่เอ่ยอ้างใดๆ ถึงรายงานล่าสุดของไอเออีเอ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีหลักฐานใดๆ เลยของการหันเหไปสู่นิวเคลียร์เพื่อการทหาร แถมผู้สื่อข่าวทั้งสองคนนี้ของนิวยอร์กไทมส์ยังพึงพอใจกับการให้ความเห็นดังต่อไปนี้ “เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ไอเออีเอรายงานว่า การดำเนินงานอันน่าสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับนิวเคลียร์ของอิหร่าน ‘เป็นเรื่องที่สร้างความวิตกกังวลอย่างร้ายแรง’ และยังบอกด้วยว่า อิหร่านยังติดค้าง ‘การอธิบายความอย่างเป็นเรื่องเป็นราว’ ต่อทางทบวง”

สิ่งที่ควรจะต้องเพิ่มเติมก็คือ รายงานไอเออีเอฉบับเดียวกันนี้ ได้กล่าวย้ำอย่างแจ่มแจ้งไม่คลุมเครือว่า ทางทบวงไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารอันน่าเชื่อถือใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า อิหร่านทำ “การศึกษาเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างอาวุธ” ตลอดจนทางทบวงก็ไม่เคยตรวจจับพบกิจกรรมทางนิวเคลียร์ใดๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับการศึกษาที่ถูกกล่าวหาเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้น ในรายงานฉบับเดียวกันนี้ ไอเออีเอยังได้กล่าวย้ำในที่ต่างๆ หลายสิบแห่ง ถึงหลักฐานของการมุ่งไปในทางสันติภาพของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่มีเลยที่ดูจะพึงให้ความใส่ใจในความเห็นของผู้สื่อข่าวเจนสนามของนิวยอร์กไทมส์ อย่าง ไมเคิล กอร์ดอน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในเรื่องที่เขามีการคบค้าสมาคมกับผู้สื่อข่าวที่หมดความน่าเชื่อถือไปแล้วอย่าง จูดิธ มิลเลอร์ ผู้ซึ่งได้ปล่อยข่าวสารข้อมูลผิดๆ ของอิสราเอลเกี่ยวกับอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรงของอิรัก ไปให้แก่บรรดาผู้อ่านในทั่วโลกของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อปี 2002-2003

กระนั้นก็ตาม เวลานี้กอร์ดอนก็ยังมีความหาญกล้าที่จะให้ยืมศิลปะในการเขียนหนังสือของเขา แก่ความกระหายที่จะทำสงครามคัดค้านอิหร่านของอิสราเอล ด้วยการให้ความสนใจอย่างเลือกสรรและอย่างแคบๆ ต่อรายงานต่างๆ ของไอเออีเอ และบิดเบือนสิ่งที่หน่วยงานตรวจสอบด้านปรมาณูแห่งนี้ค้นพบ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการรายงานข่าวอย่างผิดพลาดในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่านโดยสื่อมวลชนสหรัฐฯ ได้แก่บทบรรณาธิการเมื่อเร็วๆ นี้ใน ดัลลัส นิวส์ [4] ที่ระบุอย่างเด็ดขาดชัดเจนว่า ไอเออีเอ “เมื่อเร็วๆ นี้ได้กล่าวหาอิหร่านในเรื่องที่กำลังพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์” ทางคณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ดูเหมือนไม่ได้ตระหนักเลยว่า ตามสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ซึ่งอิหร่านเป็นชาติหนึ่งที่ร่วมลงนามนั้น ไม่ได้ห้ามปรามโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของอิหร่านเลย

ไอเออีเอนั้นไม่เคยประกาศว่า อิหร่านมีการละเมิดอย่างสำคัญในพันธะผูกพันของตน และแน่นอนว่าไม่เคย “กล่าวหา” อิหร่านว่ากำลังดำเนินโครงการซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำได้อยู่แล้วภายใต้สนธิสัญญาเอ็นพีที แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สิ่งที่คณะกรรมการบริหารของไอเออีเอเรียกร้องจากอิหร่าน ก็เป็นเพียงการขอให้ระงับโครงการนิวเคลียร์ที่มีความอ่อนไหวของตน ในฐานะเป็น “มาตรการสร้างความเชื่อมั่น” (confidence-building measure) นั่นก็คือ เป็นมาตรการที่มีกำหนดระยะเวลา และดังนั้น จึงเป็นขั้นตอนชั่วคราวที่ “ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย” (legally non-binding) แต่อย่างใด

กระนั้นก็ตาม ด้วยการแพร่กระจายข่าวอย่างชนิดไม่ชี้ให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญยิ่งและไม่แยกแยะออกมาให้เด่นชัดระหว่าง ยูเรเนียมผ่านการเพิ่มความเข้มข้นในระดับต่ำ และยูเรเนียม “เกรดทำอาวุธได้” ภาคส่วนของสื่อมวลชนสหรัฐฯมากขึ้นทุกทีๆ เวลานี้จึงกำลังบูรณาการตัวเองเข้ากับการณรงค์ต่อต้านอิหร่านอย่างเต็มที่ไม่มีหยุดของอิสราเอล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เกิดเป็นแรงกดดันระดับสูงสุด ถึงแม้นั่นหมายความว่าจะต้องบิดเบือนข้อเท็จจริงและนำเอาความเป็นจริงมาพลิกห้อยหัวตัวชี้ฟ้าก็ตามที

*หมายเหตุ*
1. Sitting down at the nuclear table with Iran, June 7, 2008
2. The Nuclear Nonproliferation Treaty IS Obsolete, June 20, 2008. น่าประหลาดใจมากที่ว่า ในขณะที่ฮาร์แมนวินิจฉัยความล้าสมัยของสนธิสัญญาเอ็นพีที ตามชื่อของบทความของเธออยู่นี้ เธอกลับไม่อนาทรแม้กระทั่งการเอ่ยถึงการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ ของอิสราเอล และความจำเป็นที่จะต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้รักษาเหตุผลความชอบธรรมที่จะทำให้ตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์กันต่อไปอีก
3. US Says Israeli Exercise Seemed Directed at Iran, June 20, 2008
4. US, Europe united toward Iran, June 16. 2008

คาเวห์ แอล อาฟราซิอาบี PhD, เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง After Khomeini: New Directions in Iran’s Foreign Policy (Westview Press) และเป็นหนึ่งในสองผู้เขียนร่วมของบทความเรื่อง “Negotiating Iran’s Nuclear Populism”, Brown Journal of World Affairs, Volume XII, Issue2, Summer 2005, โดยเขียนร่วมกับ มุสตาฟา คิบาโรกลู เขายังเขียนบทความเรื่อง “Keeping Iran’s nuclear potential latent”, Harvard International Review, และเป็นผู้เขียนเรื่อง Iran’s Nuclear Program: Debating Facts Versus Fiction.

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

  • นิยายเรื่องอิหร่านเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมจนถึง “เกรดทำอาวุธได้”แล้ว (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น