หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ - จีนก้าวหน้าผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากผู้ว่าจ้างสู่ผู้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยตัวเอง จนปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10 โรง ตั้งเป้ามี 40 โรงในอีก 15 ปี จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากฝรั่งเศส-อังกฤษ-สวีเดน ‘สทน.’เผยจีนพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ไทยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำรองรับ แพทย์เผยมั่นใจปลอดภัย เตือนระวังเวียดนามแซง!
ข่าวการขึ้นราคาน้ำมันเกือบทุกวัน และมีแนวโน้มพุ่งไม่หยุดเวลานี้ ได้สร้างความชอกช้ำใจทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และประชาชนผู้บริโภคทุกระดับ ถึงเวลาหรือยังที่ไทยควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้พลังงาน ซึ่งจีนอาจเป็นคำตอบสำคัญในการตัดสินใจของรัฐบาลไทย
เซ็น MOU ร่วมมือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ผศ.ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.กล่าวว่าการนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้ากว่า 70% ของไทยในปัจจุบัน จะทำให้ในอีกไม่เกิน 20-30 ปี ก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในอ่าวไทยจะหมดลง และราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุดนี้ อาจทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานขั้นรุนแรง จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา สทน.ได้ไปลงนาม MOU ร่วมกับ CHINA NUCLEAR POWER TECHNOLOGY RESEARCH INSTITUTE (CNPRI) เพื่อแลกเปลี่ยนด้านความรู้และได้เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ DAYA bay, China Guangdong Nuclear Power Holding Co.ด้วย
จากการศึกษาและดูงานพบว่า ขณะนี้ประเทศจีน มีความก้าวหน้าในเรื่องของการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมาก และในอนาคตอันใกล้นี้จีนจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ด้วยตัวเอง 100% และกลายเป็นผู้รับจ้างผลิตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เต็มตัว โดยในการเซ็นสัญญาครั้งนี้ จีนรับปากว่าหากประเทศไทยจะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา จีนยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้ไทยด้วย ทั้งการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ และการวิจัยสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โดยจีนได้เริ่มสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่อ่าวดาหยา โดยกู้เงินจากฮ่องกง และขอความร่วมมือกับประเทศฝรั่งเศสช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยีที่ขณะนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ดีที่สุดในโลก โดยหลักๆ แล้วในส่วนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จีนได้เลือกใช้ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ขณะที่ระบบเทอร์บายของโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาใช้นั้น จีนใช้เทคโนโลยีของอังกฤษและสวีเดนที่มีความเชี่ยวชาญเช่นกัน
ผันร่างสู่ผู้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ข้อที่น่าศึกษาจากจีนคือ แม้จีนจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศ แต่จีนได้กำหนดให้ประเทศนั้นๆ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1-2 โรงแรกจีนพึ่งพาเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส 100% จากนั้นโรงที่ 3-4 ฝรั่งเศสได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้จีน 30% โรงที่ 5 ถ่ายทอด 50% โรงที่ 6 ถ่ายทอด 70% ปัจจุบันถือว่าจีนได้ดูดซับความรู้ด้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 90% แล้ว
นอกจากนี้จีนยังได้สร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้มาตรฐานของตัวเองขึ้นมาแล้วด้วย ในชื่อว่า CNR 1000 (China Nuclear Reactor) ซึ่งกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยตัวเองเป็นแห่งแรกที่โรงงานฮองยันฮี อ่าวดาหยา ขนาด 1,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งเมื่อสร้างสำเร็จ จะถือว่าจีนมีความสามารถในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ 100%
นอกจากเทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว จีนยังพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขึ้นมาใหม่ เพื่อนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นในการนำมาสร้างโรงไฟฟ้าของตัวเองด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกลง และทำได้รวดเร็วขึ้น โดยตามแผนนั้นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรงจะต้องใช้เวลา 10 ปี แต่เนื่องจากจีนมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่เอาจริงเอาจัง ประกอบกับการที่จีนได้พัฒนาอุตสาหกรรมท้ายน้ำรองรับหมดแล้ว ทำให้จีนสามารถผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ในระยะเพียง 6-7 ปีเท่านั้น
ปัจจุบันจีนจึงมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10 โรงทั่วประเทศ และมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าปีละ 2 โรงทุกปี ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน 15 ปี จีนจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ 40 โรง
โดยแต่ละโรงไฟฟ้าจะมีมูลค่าในการก่อสร้าง โรงละประมาณ 8 หมื่นถึงหนึ่งแสนบาท เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 1,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยแล้วถือว่าสูงมากเพราะ 1 ใน 4 ของการลงทุนคือ 25% จะเป็นการวางระบบรักษาความปลอดภัย จะมีการควบคุมโดยอัตโนมัตทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนความร้อนสูง ขั้นตอนรังสี และขั้นตอนของแก๊สที่เริ่มสูง
“ระบบทั้งหมดของจีน ถือว่าเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน เพราะส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ทั้งฝรั่งเศส อเมริกา ออสเตเลีย ฯลฯ ซึ่งต้องเป็นมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างเทศ หรือ IAEA(International Atomic Energy Agency) ซึ่งไทยเราอยู่ในวิสัยที่ตามจีนได้”
ในการเซ็นสัญญาดังกล่าวทางสถาบันฯ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะดึงประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์เพื่อคนไทยให้ได้ ขณะนี้เมืองไทยเองได้มีการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่แล้วขนาด 2 เมกกะวัตต์ ซึ่งได้มีการใช้ตั้งแต่ปี 2505 ถือว่า 46 ปีที่ผ่านมาได้ใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ในด้านอื่นๆ เช่น ใช้ทางการแพทย์ ใช้ฉายแสงให้ผลไม้ไทยไม่มีแมลง และไม่เน่าเสีย และฉายในพลอย ทำให้พลอยมีสีเข้มขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์มาก แต่เมืองไทยยังไม่มีการนำนิวเคลียร์มาใช้เพื่อการสร้างไฟฟ้า
ทั้งนี้ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ตั้งเป้าไว้ว่าอีก 12 ปีจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้ 4 โรงในไทย โรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ต้องรอดูว่าในปี 2553 รัฐบาลขณะนั้นจะตัดสินใจเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไร หากตัดสินใจว่าจะสร้าง ก็จะใช้เวลาเลือกผู้รับเหมาอีก 2 ปี (2554-2555) สร้าง 6-7 ปี (2562-2563) คนไทยก็จะมีโรงไฟฟ้าใช้เป็นแห่งแรก ซึ่งจีนใช้เวลาคืนทุนแค่ 10 ปี เท่านั้น
“ปี 1979 จีนเริ่มคิดจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งขณะนั้นจีนยังยากจนอยู่มาก แต่วิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10แห่งในขณะนี้ และกำลังจะสร้างต่อไป เพื่อเป็นพลังงานที่สำคัญของประเทศ”
ทั้งนี้จีนยินดีจะช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ประเทศไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องของไทยและจีน ทั้งด้านวิศวกรรม นิวเคลียร์ฟิสิกส์ นิวเคลียร์เคมี วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และคำแนะนำการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนในประเทศไทย โดยทั้งวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งชิ้นส่วนด้านการไฟฟ้าทั้งหมด เช่นสายทองแดง ฉนวนห่อหุ้ม ฯลฯ ที่จะต้องใช้คุณภาพระดับสูงที่สามารถนำมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้
แพทย์ย้ำมั่นใจความปลอดภัย
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และได้เดินทางไปดูงานครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ตนเห็นว่าเทคโนโลยีที่จีนนำมาใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความปลอดภัยมาก เป็นเทคโนโลยีแบบปิด ส่วนใหญ่สร้างริมทะเล ไม่มีการระเหยขึ้นสู่อากาศ
“ในระบบปิด ใช้สารยูเรเนียมสร้างความร้อนจากปฏิกิริยาไปต้มน้ำผ่านตัวน้ำโดยใช้น้ำ คือให้ถ่ายทอดความร้อนจากน้ำหนึ่ง ไปอีกน้ำหนึ่งซึ่งไม่ปนกับน้ำที่กลายเป็นไอ เมื่อนำไปหมุนตัวเทอร์บายก็จะเกิดพลังงานหมุนเวียนขึ้น”
ดังนั้นหากไทยไม่เริ่มต้นที่จะสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในอนาคตจะเสียโอกาสมาก รวมทั้งขณะนี้เวียดนามได้ลงนามกับญี่ปุ่นในการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ในอนาคตไม่เกิน 10 ปีก็จะสร้างเสร็จ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะเกิดการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนที่มาสร้างโรงงานในไทย และที่กำลังจะมาหันไปใช้เวียดนามเป็นฐานกำลังการผลิตในสินค้าอุตสาหกรรมแทน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น แม้กระทั่งเวียดนาม ไทยก็ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว