xs
xsm
sm
md
lg

ข้ออ้างกล่าวหา “อิรัก” กำลังกลับมาหลอกหลอนรัฐบาลบุช

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Claims on Iraq come back to haunt
By Jim Lobe
06/06/2008

วุฒิสภาสหรัฐฯ เพิ่งเผยแพร่รายงานน่าสนใจที่เฝ้ารอคอยกันมานานฉบับหนึ่ง โดยเนื้อหาของมันอาจไม่มีอะไรน่าประหลาดใจนัก แต่ยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า บรรดาข้ออ้างที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ เคยใช้เป็นเครื่องยืนยัน ในช่วงก่อนหน้าที่จะดำเนินการบุกรุกรานอิรักนั้น แท้ที่จริงแล้วขัดแย้งกับหลักฐานข้อสรุปต่างๆ ของวงการข่าวกรองของสหรัฐฯเอง แต่สิ่งที่กลับก่อให้เกิดความประหลาดใจก็คือ รายงานฉบับนี้ขณะนี้กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “มหรสพทางการเมือง” แห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน

วอชิงตัน – ข้ออ้างต่างๆ ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช และเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะรัฐบาลคนอื่นๆ ก่อนหน้าการรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 ในเรื่องที่ว่ากรุงแบกแดดมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ ตลอดจนมีโครงการอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction หรือ WMD) นั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ได้สอดรับสนับสนุนกับหลักฐานซึ่งวงการข่าวกรองสหรัฐฯ มีอยู่ในเวลานั้นเลย ทั้งนี้ตามรายงานฉบับสำคัญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (5)

รายงานที่รอคอยกันมานานฉบับนี้ อันนับเป็นฉบับสุดท้ายของชุดซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้ทยอยนำออกเผยแพร่ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ได้ค้นพบว่าในช่วงเวลาก่อนหน้าจะเกิดสงครามรุกรานอิรัก พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะรัฐบาล โดยเฉพาะตัวบุชเองและรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ บ่อยครั้งที่ออกมาอ้างยืนยันเรื่องต่างๆ โดยที่หน่วยงานข่าวกรองแห่งหลักๆ ไม่ได้มีหลักฐานข้อพิสูจน์มารองรับ หรือไม่ก็ยังเป็นสิ่งซึ่งภายในวงการข่าวกรองเองยังมีข้อโต้แย้งที่สำคัญกันอยู่ และยังไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน

“ในการหยิบยกเหตุผลข้อสนับสนุนให้เข้าทำสงครามนั้น คณะรัฐบาลได้มีการระบุอ้างอิงข่าวกรองในลักษณะที่ถือเป็นข้อเท็จจริงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่ในทางเป็นจริงแล้ว ข่าวกรองเหล่านั้นยังไม่ทันได้มีหลักฐานยืนยันหนักแน่นเพียงพอ, หรือไม่ก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่, หรือกระทั่งไม่มีมูลเอาเลย” วุฒิสมาชิก เจย์ ร็อกกีเฟลเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการกล่าวในขณะนำรายงานความหนา 172 หน้าฉบับนี้ออกมาเผยแพร่ “ผลก็คือ ประชาชนชาวอเมริกันถูกชักจูงให้เชื่อถือเรื่องภัยคุกคามจากอิรัก ชนิดเกินกว่าที่มีอยู่จริงๆ อย่างมากมายมหาศาล”

“ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า พวกเราล้วนแล้วแต่พึ่งพาอาศัยข่าวกรองที่ผิดพลาดบกพร่องกันทั้งนั้น” เขากล่าวต่อ “ทว่า มันมีความแตกต่างกันในขั้นพื้นฐานระหว่างการพึ่งพาอาศัยข่าวกรองที่ไม่ถูกต้อง กับการจงใจแต่งแต้มวาดให้ประชาชนชาวอเมริกันเห็นภาพซึ่งคุณรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด”

ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังได้เผยแพร่รายงานอีกฉบับหนึ่ง โดยเป็นรายงานฉบับที่สองของชุดซึ่งว่าด้วยการพบปะหารือกันในกรุงโรมและกรุงปารีสที่ตอนแรกๆ เป็นไปอย่างลับๆ ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ที่เป็นสายแนวความคิดอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) กับพวกที่อ้างกันว่าเป็นชาวอิหร่านที่ไม่เห็นด้วยกับทางการประเทศนั้น โดยคนหนึ่งในนี้คือ มานูเชอร์ โกบานิฟาร์ ชาวอิหร่านนักค้าอาวุธ ซึ่งเคยแสดงบทบาทสำคัญในกรณีอื้อฉาวที่เรียกกันว่า “อิหร่าน-คอนทรา”(Iran-Contra) เมื่อกลางทศวรรษ 1980

รายงานฉบับนี้พบว่า การพบปะหารือเหล่านี้ ที่มีผู้เล่นอีกคนหนึ่งในกรณีอิหร่าน-คอนทราเข้าร่วมวงด้วย นั่นคือ ไมเคิล เลดีน แห่ง อเมริกัน เอนเทอร์ไพรซ์ อินสติติว (American Enterprise Institute) ได้รับการอนุมัติจาก สตีเฟน แฮดลีย์ รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวในเวลานั้น (และเป็น ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ คนปัจจุบัน) และจาก รัฐมนตรีช่วยกลาโหม พอล โวลโฟวิตซ์ ผู้ซึ่งรายงานฉบับนี้สรุปว่า บกพร่องไม่ได้แจ้งให้พวกหน่วยข่าวกรองที่เกี่ยวข้องตลอดจนกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบ

“รายงานพบว่าการพบปะอย่างลับๆ เหล่านี้ ... ทั้งไม่เหมาะสมและดำเนินการอย่างผิดพลาดตั้งแต่ต้นจนจบ” และภายหลังจากเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันแพร่หลายแล้ว “พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมก็ได้ตัดทอนการสอบสวนเป็นการภายในเกี่ยวกับการพบปะเหล่านี้ ...” คณะกรรมาธิการระบุไว้ในข้อมูลข่าวสำหรับแจกให้สื่อมวลชน

รายงานทั้ง 2 ฉบับนี้ลงนามโดยสมาชิกของคณะกรรมาธิการชุดนี้รวม 10 คน ในจำนวนนี้สังกัดพรรครีพับลิกัน 2 คน คือ วุฒิสมาชิก โอลิมเปีย สโนวี และ วุฒิสมาชิก ชัค แฮเกล ส่วนสมาชิกคณะกรรมาธิการอีก 5 คนที่ล้วนมาจากพรรครีพับลิกัน ได้ออกคำแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง โดยระบุว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยของพวกเขา “ถูกตัดขาดออกจากกระบวนการ(ในการจัดทำรายงาน) อย่างสิ้นเชิง” พร้อมกับกล่าวหาฝ่ายพรรคเดโมแครตว่า “บิดเบือนคำแถลงของบรรดาผู้วางนโยบาย และคัดเลือกเอาแต่ข่าวกรองที่สามารถบรรลุข้อสรุปอันชวนให้เกิดความเข้าใจผิดของพวกเขาเท่านั้น” วุฒิสมาชิก คริสโตเฟอร์ “คิต” บอนด์ ผู้มีอาวุโสสูงที่สุดในหมู่ชาวพรรครีพับลิกันในคณะกรรมาธิการ เรียกรายงานนี้ว่าเป็น “มหรสพทางการเมือง”

อย่างไรก็ตาม จังหวะเวลาของการเผยแพร่รายงานนี้ รวมทั้งข้อสรุปของมันด้วย น่าจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่การอภิปรายโต้วาทีทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องอิรัก ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่มีการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์นี้เองเมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่จะได้รับเสนอชื่อเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคราวนี้ จะได้แก่วุฒิสมาชิก บารัค โอบามา ซึ่งการคัดค้านอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาต่อการรุกรานอิรักตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามเสียอีกของเขา ได้รับการพิจารณาว่าเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเอาชนะวุฒิสมาชิก ฮิลลารี คลินตัน ผู้ออกเสียงเห็นชอบต่อการที่รัฐสภาให้อำนาจรัฐบาลในการเข้าสงครามเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2002

เวลานี้โอบามากำลังเผชิญหน้าโดยตรงกับวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ว่าที่ผู้สมัครของฝ่ายพรรครีพับลิกัน ผู้ซึ่งอยู่ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ของ “คณะกรรมการเพื่อปลดแอกอิรัก” ตั้งแต่ช่วงก่อนการรุกราน จึงไม่เพียงแต่ได้รับรองประดาข้ออ้างของบุชและเชนีย์ในเวลานั้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือโฆษณาชวนเชื่อข้ออ้างเหล่านี้ด้วย

รายงานใหม่ 2 ฉบับนี้ ยังดูจะเป็นการสนับสนุนเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งเขียนโดย อดีตโฆษกทำเนียบขาว สกอตต์ แมคเคลแลน ผู้ช่วยที่ทำงานให้บุชมายาวนาน และได้รับการพิจารณาว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มวงในของประธานาธิบดีบุช ณ เวลาตอนนั้น

“บุชและพวกที่ปรึกษาของเขาทราบดีว่า แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่ประชาชนชาวอเมริกันจะไม่สนับสนุนสงคราม ซึ่งเปิดฉากขึ้นโดยเหตุผลข้อใหญ่คือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันทะเยอทะยานในการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคตะวันออกกลาง” เนื้อความตอนหนึ่งของหนังสือบันทึกความทรงจำของแมคเคลแลนเล่มนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า “What Happened: Inside the Bush White House and Washington’s Culture of Deception” ระบุไว้เช่นนี้

“ตลอดช่วงฤดูร้อนของปี 2002 นั้น พวกผู้ช่วยระดับท็อปของบุชได้จัดทำโครงร่างของยุทธศาสตร์ เพื่อการดำเนินปฏิบัติการและการประสานงานอย่างระมัดระวังยิ่ง สำหรับการเปิดยุทธการในการขายสงครามคราวนี้อย่างจริงจังแข็งขัน” โดยส่วนหนึ่งจะกระทำผ่าน “การประชดเสียดสีและการแสดงท่าทีเป็นนัย” และ “การจงใจเพิกเฉยละเลยบรรดาข้อมูลข่าวกรอง” ซึ่งขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับเหตุผลความชอบธรรมที่จะเข้าสู่สงครามของพวกเขา แมคเคลเลนเขียนไว้อย่างนี้

หนังสือเล่มนี้ ซึ่งพุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับท็อปในรายชื่อหนังสือขายดี ตั้งแต่ก่อนเริ่มวางจำหน่ายกันอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ ได้ดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนอย่างมหาศาลในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับรายงานใหม่ทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นส่วนท้ายสุดแล้วที่จะออกโดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ ในประเด็นว่าด้วยการใช้ข่าวกรองของคณะรัฐบาลก่อนที่จะเข้าสู่สงคราม เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ออกรายงานอีกฉบับหนึ่ง ที่ว่าด้วยความบกพร่องล้มเหลวของคณะรัฐบาลในการรับฟังคำเตือนของวงการข่าวกรอง โดยที่ในบรรดาคำเตือนเหล่านี้มีรายงานสำคัญ 2 ฉบับของสภาข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าการรุกรานอิรักและต่อเนื่องตามมาด้วยการยึดครองประเทศนั้น น่าจะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มอัลกออิดะห์, ส่งเสริมแนวความคิดศาสนาอิสลามแบบการเมืองให้ยิ่งแพร่กระจายไปตลอดภูมิภาคแถบนี้, และเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มนิกายศาสนาและเชื้อชาติต่างๆ ภายในอิรัก -ทั้งนี้ข้อสรุปเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะรับบาลในตอนนั้นไม่ให้ความสำคัญหรือเพิกเฉยละเลย

ในส่วนของรายงานฉบับล่าสุด มุ่งความสนใจไปที่การนำเอาคำแถลงของพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุชกับเชนีย์ ที่กล่าวไว้ระหว่างเดือนสิงหาคม 2002 จนถึงเมื่อเกิดการรุกรานอิรักจริงๆ ในเดือนมีนาคม 2003 มาเปรียบเทียบกับรายงานข่าวกรองต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้จะได้อ่านได้เห็นในช่วงระยะเดียวกัน

รายงานพบว่าทำเนียบขาวพูดขยายเกินความจริงอยู่เรื่อยๆ ในเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างอัลกออิดะห์กับอิรัก ด้วยการบอกเป็นนัยหรือบอกยืนยันกันโต้งๆ ว่า ทั้งสองฝ่ายนี้มีการรวมตัวสร้างความสัมพันธ์ในเชิงปฏิบัติการขึ้นมา อาทิ การจัดฝึกอบรมให้เกิดความเชี่ยวชาญทางด้านอาวุธ และเป็นไปได้ว่าทางด้านอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงด้วย ทั้งนี้รายงานพบว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ “ไม่ได้ถูกรองรับอย่างหนักแน่นด้วยข่าวกรอง” ณ ขณะเวลาที่ทำเนียบขาวพูดออกมาเลย

นอกจากนั้น รายงานยังพบอีกว่า แท้ที่จริงแล้ว ข่าวกรองที่มีอยู่ขัดแย้งกับการยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกของทำเนียบขาวที่ว่า ซัดดัม ฮุสเซน “เตรียมตัวที่จะให้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงแก่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เพื่อใช้โจมตีสหรัฐฯ”

และรายงานบอกว่า วงการข่าวกรองไม่เคยยืนยันข้อกล่าวหา ซึ่งโดยเฉพาะเชนีย์แล้วชอบพูดอ้างครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ว่า โมฮัมเหม็ด อัตตา หนึ่งในผู้ดำเนินการทำให้เหตุการณ์โจมตี 11 กันยายน 2001 นั้น ได้เคยพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านข่าวกรองของอิรักคนหนึ่งในกรุงปราก หลายๆ เดือนก่อนการโจมตีคราวนั้น

“ประธานาธิบดี(บุช)และพวกที่ปรึกษาของเขา ทำหน้าที่รณรงค์ป่าวร้องต่อสาธารณชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในช่วงหลังเหตุการณ์โจมตี (11 กันยายน) เพื่อใช้เรื่องการทำสงครามต่อต้านอัลกออิดะห์ มาเป็นเหตุผลชอบธรรมในการโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซ็น” ร็อกกีเฟลเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภาแจกแจง “การนำเสนอต่อประชาชนอเมริกันว่า ทั้งสองฝ่ายนี้เป็นหุ้นส่วนกันในทางปฏิบัตการ และต้องถือเป็นภัยคุกคามอันหนึ่งอันเดียวกันที่มิอาจแบ่งแยกได้ ก็คือการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดชนิดถึงขั้นพื้นฐาน และนำพาประเทศชาติเข้าสู่สงครามด้วยการอ้างหลักฐานสนับสนุนอย่างผิดๆ”

ตามที่ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ วงการข่าวกรองของสหรัฐฯยังมีความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับสถานะของโครงการอาวุธเคมีของอิรัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่อิรักถูกพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับท็อปของสหรัฐฯในเวลานั้นกล่าวหาว่ามีอยู่ ขณะที่การให้ปากคำของ โดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมในตอนนั้น ที่ว่ารัฐบาลอิรักซ่อนอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง เอาไว้ในอุโมงค์ใต้ดินลึกมากนั้น ไม่ได้สอดรับกับข่าวกรองใดๆ ที่วงการข่าวกรองมีอยู่ในเวลานั้นเลย

จิม โล้บ ทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ ในคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ www.ips.org/blog/jimlobe/


(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น