xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษา: การไต่สวนอิสระในสหรัฐอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้มี “ผู้ไต่สวนอิสระ” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น แต่การจะบังคับให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้นั้นจำต้องมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ศาลยุติธรรมจึงได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ประกอบกับต้องมีบทบัญญัติกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระขึ้นได้

การแต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นำแนวคิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการผิดกฎหมายอาญา และคดีเหล่านี้เป็นที่สนใจของประชาชน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารประเทศที่ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี และรัฐมนตรี

ซึ่งมีคดีที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงในการใช้อำนาจบริหาร และกรณีชู้สาวของประธานาธิบดี Clinton การไต่สวนกรณีรับสินบนของ นาย Mike Espy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (Secretary of Agriculture) การไต่สวนหาข้อเท็จจริงในการตายของ นาย Vince Foster ที่ปรึกษาประธานาธิบดี เป็นต้น

โดยเฉพาะในกรณีของประธานาธิบดี Clinton ที่มีการแต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” ขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงหลายกรณี สำหรับการไต่สวนข้อเท็จจริงในการใช้อำนาจบริหารของประธานาธิบดี Clinton มีคดีสำคัญอยู่ 3 คดี ได้แก่ คดี Whitewater คดี Travelgate และคดี Filegate

ในคดี Whitewater ประธานาธิบดี Clinton ใช้อำนาจโดยมิชอบกดดันให้นักธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้แก่ตนและพวกพ้อง และธนาคารใน Arkansas ปกปิดเส้นทางการเงินของประธานาธิบดี Clinton ที่ใช้ในการหาเสียงเพื่อเป็นผู้ว่าการรัฐ ซึ่งในคดีนี้ได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนได้ว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้คณะลูกขุนเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่าประธานาธิบดี และนางClinton กระทำผิดกฎหมายอาญา เพราะการนำเสนอพยานหลักฐานนั้นใช้เวลานาน ประกอบกับทนายความของประธานาธิบดีขัดขวางไม่ให้การไต่สวนเป็นไปอย่างราบรื่น ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจะไม่ถูกลงโทษในคดีนี้ แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีจำนวนมากถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกง และรับสินบน

ในคดี Travelgate เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว 7 คนที่รับผิดชอบเรื่องการเดินทางทั้งหมดของบุคลากรในทำเนียบขาว (White House Travel Office) ถูกให้ออก โดยทำเนียบขาวอ้างว่ามีการใช้เงินอย่างไม่ถูกต้องของบุคคลเหล่านี้ และได้มีการตั้งเพื่อนของประธานาธิบดี Clinton เข้ารับผิดชอบเรื่องการจัดการเดินทางแทน อดีตผู้อำนวยการท่องเที่ยวของทำเนียบขาวถูกตั้งข้อหายักยอก แต่ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด “ผู้ไต่สวนอิสระ” ในคดีนี้ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนได้ว่า แม้นาง Clinton จะให้การเท็จต่อคณะผู้ไต่สวน แต่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี

ส่วนคดี Filegate เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวใช้อำนาจโดยมิชอบในการเรียกเอาเอกสารจากเจ้าหน้าที่ FBI โดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง และเอกสารหลายร้อยเรื่องนี้เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่เป็นคนของพรรค Republican นาง Clinton ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการนำเอกสารเหล่านี้มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และเมื่อมีการไต่สวนข้อเท็จจริง “ผู้ไต่สวนอิสระ” มีความเห็นว่า ไม่มีการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอาญาในบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนาง Clinton ด้วย

สำหรับคดีชู้สาวที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีโดยตรง คือ กรณี นางสาว Monica Lewinsky ข้อกล่าวหานี้เริ่มต้นมาจากการที่นาง Jones เจ้าหน้าที่ในสมัยประธานาธิบดี Clinton ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ Arkansas ฟ้องว่าตนถูกล่วงเกินทางเพศ ในระหว่างดำเนินคดี ประธานาธิบดีเบิกความเท็จภายใต้คำสาบานว่าตนไม่เคยล่วงเกินทางเพศกับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึง นางสาว Monica Lewinsky นักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว ด้วย แต่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่าประธานาธิบดีเบิกความเท็จต่อศาลในหลายประเด็น ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อขัดขวางความยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นการทำลายพยานหลักฐาน ไม่ไปเบิกความต่อศาลตามกำหนดโดยอ้างความคุ้มครอง และกระทำการฝ่าฝืนหน้าที่ที่ประธานาธิบดีจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ซึ่งต่อมา“ผู้ไต่สวนอิสระ” ในคดีนี้ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและเห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลพร้อมทั้งส่งสำนวนเสนอต่อศาลและรัฐสภา ศาลได้พิพากษาลงโทษประธานาธิบดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเบิกความเท็จโดยปรับ 90,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และถอนใบอนุญาตทนายความ ส่วนสำนวนที่ส่งให้แก่รัฐสภา มีความเห็นแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย สภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าสมควรที่ถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง แต่วุฒิสภาเห็นว่าไม่สมควรถอดถอน ซึ่งต่อมาประธานาธิบดี Clinton ก็ไม่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

จึงเห็นได้ว่าเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ คุณสมบัติ อำนาจ หน้าที่ของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ให้เป็นไปตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 การที่กฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้นๆ

การแต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” มีเหตุมาจากการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในองค์กรตรวจสอบของรัฐว่าอาจจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นกลาง ไม่ว่าผลของการไต่สวนข้อเท็จจริงจะมีผลเป็นอย่างไร “ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องคำนึงเสมอว่าตนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะดำเนินการไต่สวน และนำเสนอข้อเท็จจริงทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นกลางและซื่อสัตย์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น