xs
xsm
sm
md
lg

ถึงตอนนี้ก็เสนอให้ส่งเรือรบปิดล้อม “อิหร่าน”

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(จากเอเชียไทส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Now it’s a blockade against Iran
By Jim Lobe
29/05/2008

เสียงเรียกร้องซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อของสหรัฐฯ เจ้าหนึ่งในช่วงสัปดาห์นี้ ที่จะให้คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยุติความพยายามกดดันให้เตหะรานระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม แล้วหันมาดำเนินการ “ใช้เรือรบปิดล้อมสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปของอิหร่านสักเดือนหนึ่ง” นับว่าเป็นภัยคุกคามต่ออิหร่านมากพอๆ กับที่เป็นภัยคุกคามต่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ ทีเดียว

วอชิงตัน – มีการคาดเดาอย่างอย่างมากมายในแวดวงหนังสือพิมพ์ว่า เมื่อรูเพิร์ต เมอร์ดอคเข้าครอบครองกิจการหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลแล้ว เขาคงจะปรับจุดยืนด้านบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ให้สอดคล้องกับกระแสหลักมากขึ้นอีกนิด และลดทัศนะแบบอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตลงไปหน่อย ซึ่งก็ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอื่นใดหรอก นอกจากเพื่อขยายความสามารถในการแข่งขันกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ให้มากขึ้นอีก ถึงแม้ผมอ่านแต่เฉพาะบทบรรณาธิการ คอลัมน์ และบทความ ของวอลล์สตรีทเจอร์นัล ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการต่างประเทศเท่านั้น แต่ผมก็ยังคิดว่าเป็นการปลอดภัยที่จะบอกว่า เท่าที่เห็นกันมาจวบจนถึงเวลานี้ เสียงคาดเดาพวกนั้นยังไม่มีข้อพิสูจน์ให้เห็นจริงกันเลย

ลองนำเอาหน้าความเห็นในฉบับสองสามวันที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างก็ได้ เมื่อวันอังคาร(27) วอลล์สตรีทเจอร์นัลตีพิมพ์ข้อเขียนโวยวายเกรี้ยวกราดแบบหวาดระแวงอิสลามอีกชิ้นหนึ่ง ที่เขียนโดย เบรต สตีเฟนส์ ผู้เขียนคอลัมน์ “Global View” ของทางหนังสือพิมพ์ และในอดีตเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เยรูซาเลมโพสต์ ในอิสราเอล คอลัมน์ของสตีเฟนส์คราวนี้พูดถึงเอกสารคู่มือการปฏิบัติที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและกระทรวงการต่างประเทศประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำยั่วยุในทางการเมืองและทางศาสนาใน “สงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก” ซึ่งอาจจะบังเกิดผลในทางลบขึ้นมา โดยคอลัมนิสต์ผู้นี้เปรียบเปรยเอกสารดังกล่าวนี้กับ “ภาษานิวสปีก” (Newspeak) ของ จอร์จ ออร์เวลล์

นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังตีพิมพ์บทความที่เป็นการคัดตัดตอนเอาบางส่วนบางช่วงของหนังสือที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อเร็วๆ เรื่อง “War and Decision” ที่แสนจะไม่ก่อให้เกิดสติปัญญาอะไร อีกทั้งยังไม่น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งด้วย เขียนโดย ดั๊ก เฟธ นักนิยมพรรคลิคุดอย่างสุดขั้ว (พรรคลิคุด Likud เป็นพรรคอนุรักษนิยมในอิสราเอล ที่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอยู่หลายสมัย นักการเมืองสังกัดพรรคนี้ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด คือ อดีตนายกรัฐมนตรี เอเรียล ชารอน แม้ว่าในตอนท้ายเขาจะนำผู้คนถอนตัวออกมาจัดตั้งพรรคใหม่ ที่ชื่อว่า พรรคคาดิมา สำหรับ ดั๊ก เฟธ Doug Feith เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของพวกอนุรักษนิยมใหม่ โดยเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายนโยบาย ในคณะรัฐบาลบุช ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2001 จนถึงเดือนสิงหาคม 2005 –ผู้แปล) ถึงแม้เป็นเรื่องลำบากที่จะทำความเข้าใจให้ได้ถ่องแท้ว่า ทำไมวอลล์สตรีทเจอร์รัลจึงได้ตีพิมพ์บทความชิ้นนี้ นอกเหนือจากช่วยโปรโมตหนังสือของเฟธ โดยอันที่จริงแล้ว สตีเฟนส์ก็ได้เคยเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้อย่างยกย่องชมเชยมาแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน (น่าเสียดายที่ไม่ได้มีให้อ่านกันทางออนไลน์) กระนั้นก็ตาม บทคัดตัดตอนหนังสือชิ้นนี้ ก็ดูเหมือนมุ่งที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความมั่นใจขึ้นมาใหม่ว่า ข้อกล่าวหาต่ออิรักที่ว่ามีอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง (weapons of mass destruction หรือ WMD) และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย คือเหตุผลหลักจริงๆ ที่ทำให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นำประเทศชาติเข้าทำสงครามในอิรัก (อันเป็นข้อเสนอที่ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปอีกครั้งหนึ่ง จากหนังสือเล่มใหม่ของ สกอตต์ แมคเคลแลน อดีตโฆษกทำเนียบขาว) และตัวเขา ซึ่งก็คือ เฟธ เป็นฝ่ายถูกต้อง ขณะที่คนอื่นๆ ทุกคนผิดหมด ในเรื่องเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์การสื่อสาร”ของคณะรัฐบาลบุช ภายหลังการรุกราน ซึ่งยึดถือเอาเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นเหตุผลแห่งความชอบธรรมที่สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ

(ดูเหมือนเฟธไม่ได้เคยเอะใจเลยว่า นอกเหนือจากการกล่าวหาอิรักเรื่อง WMD และการเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย ซึ่งสำนักงานของเขาได้ทำงานกันอย่างหนักเหลือเกินเพื่อสถาปนาทั้งสองเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว คณะรัฐบาลบุชมีความจำเป็นที่จะต้องหาเหตุผลความชอบธรรมใหม่ๆ เพื่อจะใช้เป็นข้ออ้างอันสมเหตุสมผลที่จะยังคงทหารสหรัฐฯเอาไว้ในอิรักต่อไป)

แต่ทั้งคอลัมน์ของสตีเฟนส์ และบทความของเฟธ ต้องถือว่าค่อนข้างจืดชืดไปเลย เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าความเห็นของฉบับวันพุธ(28) ในบทบรรณาธิการชิ้นหลักที่ใช้ชื่อว่า “พังซ์ซูทาวนีย์ คอนดี” (Punxsutawney Condi) [1] หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯเลิกล้มความพยายามทางการทูตที่จะทำให้เตหะรานระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม แล้วหันมาดำเนินการ “ใช้เรือรบปิดล้อมสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปของอิหร่านสักเดือนหนึ่ง” -ซึ่งเป็นพฤติการณ์เปิดศึกทำสงครามชัดๆ- เพื่อที่จะ “ทำให้เป็นที่กระจ่างแจ้งแก่ชาวอิหร่านว่า โครงการนิวเคลียร์ของพวกเขาเป็นเรื่องที่โลกอารยะเขารับกันไม่ได้ถึงขนาดไหนแล้ว” นี่ว่ากันตามถ้อยคำที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ใช้

วอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันพุธยังตีพิมพ์บทความเสนอความเห็นเคียงคู่ ซึ่งเขียนโดย อามีร์ ตาเฮรี นักหนังสือพิมพ์ที่เกิดในอิหร่านและเวลานี้พำนักอยู่ในกรุงลอนดอน ซึ่งเขียนเรื่องให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นครั้งคราว และเป็นผู้ทำเรื่องอันขึ้นชื่อลือฉาวอย่างใหญ่โตเมื่อสองปีก่อน ด้วยการรายงานอย่างผิดๆ ว่า มัจลิส (รัฐสภา) ของอิหร่านกำลังจะผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งในเร็วๆ นี้ ซึ่งกำหนดให้คนยิว, ชาวคริสต์, และผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ ต้องติดริบบิ้นสีที่สังเกตเห็นได้เด่นชัดบนเสื้อผ้าของพวกเขา บทความชิ้นนี้เสนอความเห็น (ไม่รู้ว่าตั้งกี่ครั้งกี่หน) ว่า เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะไปพัวพันกับอิหร่านที่ “โน้มเอียงอยู่กับการพิชิตโลกตามการชี้นำของท่านอิหม่ามผู้ซ่อนตัว (Hidden Imam)” และด้วยอัตลักษณ์ในเรื่องการปฏิวัติก็กระตุ้นผลักดันให้อิหร่านกระทำการในหนทางซึ่งชวนให้นึกถึง นโปเลียน โบนาปาร์ต, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, และสหภาพโซเวียต เหมือนๆ กับบทบรรณาธิการเรื่อง “พังซ์ซูทาวนีย์ คอนดี” บทความชิ้นนี้ดูจะมุ่งโจมตีรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ พอๆ กับที่มุ่งเล่นงานผู้ไร้เดียงสาทางด้านนโยบายการต่างประเทศอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ บารัค โอบามา วุฒิสมาชิกและตัวเก็งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต

จริงๆ เสียด้วย ดูเหมือนเมอร์ดอคและพวกอนุรักษนิยมใหม่กำลังมุ่งเล่นงานไรซ์กันแล้วในเวลานี้ ช่างเปลี่ยนไปมากเหลือเกินจากตอนที่พวกเขาต้อนรับเธอที่เข้าแทนที่ คอลิน พาวเวลล์ ด้วยความปีติยินดีอย่างไม่มีการปิดบังเมื่อตอนเริ่มต้นวาระดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของบุช ด้วยเหตุนี้เอง ในบทความในสัปดาห์นี้ของนิตยสาร “วีกลี่ สแตนดาร์ด” ซึ่งเมอร์ดอคเป็นเจ้าของอยู่ จึงได้ประณามเธอ –โดยเล่นงานเธอคนเดียวเต็มๆ ด้วย- ในข้อหาว่า “กำลังโยนลัทธิบุชทิ้งไป” และกำลังนำพาตัวท่านประธานาธิบดีเอง ให้ถลำลงไปในความลวงที่มุ่งสู่การหมอบราบคาบแก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของซีเรีย, อิหร่าน, และเกาหลีเหนือ

ขณะที่บทความชิ้นนี้ไม่ค่อยได้บอกอะไรเรามากไปกว่าสิ่งที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนกันไปแล้ว แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่ามันเขียนขึ้นโดย สตีเฟน เฮย์ส ผู้ที่เฟธเคยนิยมปล่อยข่าวรั่วให้รับรู้ในอดีต และก็เป็นนักข่าวยอดนิยม , นักเขียนชีวประวัติที่ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการแล้ว, ตลอดจนเป็นเพื่อนเดินทางเป็นครั้งเป็นคราว ของรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ จึงทำให้บทความนี้หากไร้ค่าจนหาเหตุผลอื่นใดไม่ได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีคุณค่าควรแก่การอ่านอย่างผ่านๆ เพื่อรับรู้ถึงตัวอย่างที่สาธิตให้เห็นถึงการสบประมาทหยามเหยียด ซึ่งรองประธานาธิบดี ตลอดจนน่าจะเป็นไปได้ว่าตัวรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เอลเลียตต์ อับรามส์ (ถ้าผมเดาตัวพวกแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามที่อ้างไว้ในบทความนี้ได้ถูกต้อง) มุ่งต่อตัวรัฐมนตรีต่างประเทศของบุช และจากการที่ไรซ์ได้ให้สัมภาษณ์แบบยาวเหยียดแก่เฮย์สอย่างน้อย 2 ครั้ง –ซึ่งเขาก็ได้คัดตัดเอาส่วนที่จะต้องไม่มีการประจบเอาใจกันเลย ตลอดจนส่วนที่จะต้องสร้างความขายหน้าโดยตรงมาตีพิมพ์เผยแพร่- ก็แสดงให้เห็นถึงการขาดความสามารถในการวินิจฉัยอย่างชัดเจนในทางข้างฝ่ายตัวเธอเอง

แน่นอนทีเดียวว่า เมอร์ดอคอาจจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความนี้เลย มันอาจจะเป็นฝีมือของ บิลล์ คริสโทล บรรณาธิการวีกลี่ สแตนดาร์ดล้วนๆ ซึ่งนั่นก็จะเป็นเรื่องประหลาดและน่าขันเป็นพิเศษทีเดียว หากพิจารณาถึงความหลงใหลได้ปลื้มที่คริสโทลเคยมีต่อคอนดีก่อนหน้านี้ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยชาวรีพับลิกันแห่ง เบตส์ คอลเลจ เมื่อช่วงต้นๆ แห่งสมัยที่สองของบุช ผมได้รับการบอกเล่าอย่างน่าเชื่อถือว่า คริสโทลไม่สามารถที่จะหยุดพูดเกี่ยวกับคุณสมบัติอันมากมายของเธอ ทั้งในฐานะที่เป็นทรัพย์สินทางการเมืองอันทรงค่า, อนาคตอันไม่มีขีดจำกัดของเธอ, และลักษณะส่วนตัวอันโดดเด่นของเธอที่ใครๆ ก็ต่อต้านทนทานไม่ไหว จนกลายเป็น “ผู้หญิงที่เป็นฝ่ายบงการทั้งในทางจิตวิทยาและในทางเพศ” (psycho-sexual dominatrix) (นี่เป็นคำที่เขาใช้เอง) ในตอนที่เธอไปปรากฏตัวเมื่อไม่นานก่อนหน้านั้น ณ ฐานทัพอากาศสหรัฐฯในวิสบาเดน

หมายเหตุ
1พังซ์ซูทาวนีย์ ฟิล (Punxsutawney phil) (ซึ่งบทบรรณาธิการของวอลล์สตรีทเจอร์นัลนำเอาชื่อนี้มาแปลงให้กลายเป็น พังซ์ซูทาวนีย์ คอนดี –ผู้แปล) ที่มีวลีพรรณนาสรรพคุณว่า เป็น“หมอดูแห่งหมอดูทั้งหลาย, ผู้พยากรณ์อนาคตแห่งผู้ทำนายอนาคตทั้งหลาย” ก็คือ ตัว"กราวด์ฮ็อก" (สัตว์พื้นเมืองประเภทหนูตัวใหญ่ของอเมริกา) ที่อยู่ในเมืองพังซ์ซูทาวนีย์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี (เรียกกันว่า “วันกราวด์ฮ็อก” Groundhog Day) เมืองพังซ์ซูทาวนีย์จัดการเฉลิมฉลองสัตว์นักพยากรณ์ตัวนี้ ด้วยบรรยากาศแบบเทศกาลงานรื่นเริงแห่งเสียงดนตรีและอาหาร ระหว่างพิธีเฉลิมฉลองซึ่งเริ่มต้นขึ้นก่อนพระอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวจะโผล่พ้นขอบฟ้านานทีเดียว ฟิลจะออกมาจากบ้านชั่วคราวของเขาบน ก็อบเบลอส์ น็อบ ใกล้ๆ กับตัวเมือง ตามประเพณีที่เชื่อถือกันนั้น ถ้าฟิลมองเห็นเงาของตัวเขาเองและหันกลับไปยังรูของเขา สหรัฐฯก็จะมีช่วงเวลาฤดูหนาวยาวขึ้นอีก 6 สัปดาห์ แต่ถ้าฟิลมองไม่เห็นเงาของเขา ฤดูใบไม้ผลิก็จะมาถึงเร็วขึ้น –จาก วิกิพีเดีย

บทความนี้ปรับปรุงจากบล็อกของ จิม โล้บ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากการติดตามเสนอข่าวเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ในคณะรัฐบาลบุช เขาเป็นหัวหน้าสำนักงานกรุงวอชิงตัน ของสำนักข่าวระหว่างประเทศ “อินเตอร์เพรสเซอร์วิส
กำลังโหลดความคิดเห็น