xs
xsm
sm
md
lg

บุช “วางแผนโจมตีอิหร่านทางอากาศภายในสิงหาคมนี้”

เผยแพร่:   โดย: มูฮัมหมัด โคเฮน

(จากเอเชียไทส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bush ‘plans Iran air strike by August’
By Muhammad Cohen
27/05/2008

ทำเนียบขาววางแผนการที่จะเข้าโจมตีอิหร่านภายในเวลาสองเดือนข้างหน้า และกำลังแจ้งแผนเรื่องนี้ให้พวกวุฒิสมาชิกได้ทราบกัน แหล่งข่าวผู้มีฐานะมั่นคงในแวดวงกิจการต่างประเทศผู้หนึ่งในกรุงวอชิงตันปริปากพูดให้ฟังเช่นนี้ ดูเหมือนว่า สงครามที่กำลังต่อสู้กันอยู่ใน 2 สมรภูมิในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอสำหรับประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ซึ่งกำลังขยับใกล้วาระสิ้นสุดแห่งสมัยการดำรงตำแหน่งสมัยสุดท้ายของเขาเข้าไปทุกที

นิวยอร์ก – คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช วางแผนจะเปิดการโจมตีทางอากาศเข้าใส่อิหร่านภายในช่วงเวลาสองเดือนข้างหน้า แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีรายหนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึงก็เป็นการสอดคล้องกับรายงานข่าวกระแสอื่นๆ ที่ปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนในสหรัฐฯในระยะหลังๆ มานี้

ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวรายนี้ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯคนสำคัญ 2 คน ที่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการโจมตีนี้ ได้วางแผนจะแจ้งต่อสาธารณชนเพื่อคัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทว่าบทความของพวกเขาที่คาดหมายว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในหน้าบทบรรณาธิการ/ทัศนะ ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ก็ยังไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นกัน

แหล่งข่าวผู้นี้ ซึ่งเป็นนักการทูตอาชีพของสหรัฐฯที่เกษียณอายุแล้ว อีกทั้งเคยเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกา ที่ยังคงคึกคักกระตือรือล้นอยู่ในแวดวงกิจการต่างประเทศ ได้เล่าให้ฟังโดยขอให้ปกปิดนาม เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯวางแผนจะโจมตีทางอากาศใส่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guards Corps หรือ IRGC) ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศดังกล่าวจะมุ่งเป้าหมายไปที่กองบัญชาการของหน่วยคูดส์ (Quds force) ซึ่งเป็นกองกำลังอาวุธระดับแนวหน้าของ IRGC ด้วยจำนวนนักรบที่ประมาณการกันว่าน่าจะมีถึง 90,000 คน หน่วยคูดส์ได้ประกาศภารกิจของหน่วยเอาไว้ว่า คือการแพร่ขยายการปฏิวัติปี 1979 ของอิหร่านไปตลอดทั่วภูมิภาคแถบนี้

เป้าหมายที่สหรัฐฯอาจจะเข้าโจมตี มีอาทิ บรรดาค่ายของ IRGC ที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ใกล้ๆ พรมแดนติดอิรัก เหล่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้ออกมาอ้างครั้งแล้วครั้งเล่าว่า อิหร่านกำลังช่วยเหลือพวกผู้ก่อความไม่สงบในอิรัก เมื่อเดือนมกราคม 2007 กองทหารสหรัฐฯได้เคยบุกเข้าไปในสถานกงสุลอิหร่านที่เมืองเออร์บิล ของอิรัก และจับกุมเจ้าหน้าที่สถานกงสุลแห่งนั้นไป 5 คน ในจำนวนนี้เป็นนักการทูตชาวอิหร่าน 2 คนซึ่งสหรัฐฯคุมตัวเอาไว้จวบจนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว วุฒิสภาสหรัฐฯยังได้อนุมัติญัตติฉบับหนึ่งด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 22 มีเนื้อหาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศให้ IRGC เป็นองค์การก่อการร้าย ภายหลังมติ “แสดงความรู้สึกของวุฒิสภา” ที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในเดือนตุลาคม ทำเนียบขาวก็ได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อหน่วยกำลังคูดส์ ในฐานะที่เป็นกลุ่มก่อการร้าย คณะรัฐบาลบุชยังได้กล่าวหาอิหร่านว่า กำลังพยายามเดินหน้าโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งๆ ที่การวิเคราะห์ด้านข่าวกรองส่วนใหญ่จะระบุว่า โครงการดังกล่าวได้ถูกระงับไปแล้ว

** สัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ**

ทั้งพวกวุฒิสมาชิกและคณะรัฐบาลบุชต่างปฏิเสธว่า มติและการประกาศให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการโหมโรงเพื่อการบุกโจมตีอิหร่าน อย่างไรก็ดี การเล่นงานอิหร่านดูเหมือนไม่ได้เหินห่างจากความคิดของผู้นำอเมริกันบางคนเอาเลย จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิกมลรัฐแอริโซนา และผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯตอนปลายปีนี้ ได้เปลี่ยนเนื้อร้องในเพลงยอดนิยมระดับคลาสสิกที่ชื่อ “บาร์บารา แอนน์” (Barbara Ann) ของวง บีช บอยส์ (Beach Boys) ให้กลายเป็น “บอมบ์ อิหร่าน” (Bomb Iran) ส่วน ฮิลลารี คลินตัน ผู้แข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนของทางพรรคเดโมแครต ก็สัญญาที่จะเล่นงานอิหร่านชนิด “ทำลายกันจนสิ้นซาก” ถ้าหากอิหร่านโจมตีอิสราเอล

แม้กระทั่งไม่ต้องมีการโจมตีทิ้งระเบิดตามที่เสนอกันออกมานี้ สหรัฐฯและอิหร่านก็มีเรื่องราวกระทบกระทั่งระหว่างกันในอดีตที่ยาวเหยียดและยุ่งยากวุ่นวายอยู่แล้ว หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรนั่นเองที่อยู่เบื้องหลังความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการโค่นล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมเหม็ด มอสซาเดก ผู้สั่งโอนบริษัทน้ำมัน แองโกล-อิราเนียน ปิโตรเลียม คอมพานี ของสหราชอาณาจักรให้ตกเป็นของรัฐอิหร่าน ตลอดจนอยู่เบื้องหลังการกลับคืนสู่อำนาจของกษัตริย์ชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ในปี 1953 แรงกดดันของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ต่อกษัตริย์ชาห์ เพื่อให้พระองค์ทรงปรับปรุงผลงานด้านสิทธิมนุษยชนอันน่าเศร้าสลดของพระองค์ ตลอดจนผ่อนคลายการควบคุมทางการเมืองลง ก็มีส่วนช่วยให้เกิดการปฏิวัติอิสลามโค่นล้มกษัตริย์ชาห์เมื่อปี 1979

ทว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้อิหม่าม อยาโตลเลาะห์ รุโฮลเลาะห์ โคไมนี ได้ออกมาประณามโจมตีสหรัฐฯว่าเป็น “มหาซาตาน” จากการที่ประเทศนั้นสนับสนุนกษัตริย์ชาห์มาหลายสิบปี ตลอดจนยอมรับกษัตริย์ชาห์ที่ตกจากอำนาจแล้วเข้าไปรักษาโรคมะเร็งที่สหรัฐฯแม้จะอย่างไม่เต็มใจนัก พวกนักศึกษาอิหร่านได้เข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเตหะรานเอาไว้ และกักตัวนักการทูต 52 คนเป็นตัวประกันอยู่นานถึง 444 วัน มีทหารคอมมานโดอเมริกัน 8 คนเสียชีวิตไประหว่างปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือตัวประกันเหล่านี้ที่ประสบความล้มเหลวเมื่อปี 1980 สหรัฐฯได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านระหว่างเกิดเหตุจับตัวประกัน และจนถึงบัดนี้ก็ยังมิได้ฟื้นฟูสายสัมพันธ์นี้ขึ้นมาอีก ในยุคของ มาห์มูด อาหมัดดิเนจัด ประธานาธิบดีอิหร่านคนปัจจุบัน ถ้อยคำโวหารของเขามีบ่อยครั้งที่เหมือนยกเอามาจากยุคโคไมนี

แหล่งข่าวที่อ้างถึงข้างต้นบอกว่า ทำเนียบขาวกำลังมองข้อเสนอโจมตีทางอากาศนี้ว่าเป็นปฏิบัติการแบบมีขีดจำกัดเพื่อลงโทษอิหร่านที่ไปยุ่งเกี่ยววุ่นวายอยู่ในอิรัก แหล่งข่าวรายนี้ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตในยุคคณะรัฐบาลประธานาธิบดี เอช. ดับเบิลยู. บุช (บุชผู้พ่อ –ผู้แปล) ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชนิดของอาวุธที่จะใช้ในการโจมตี หรือระบุชัดเจนว่าเวลานี้การวางแผนไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ยังไม่ทราบเช่นกันว่าทำเนียบขาวได้ปรึกษาหารือกับบรรดาพันธมิตรเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศคราวนี้แล้วหรือยัง หรือว่าวางแผนจะทำเช่นนั้นหรือเปล่า

** ความรู้สึกในวุฒิสภา**

แหล่งข่าวบอกว่ารายละเอียดที่คณะรัฐบาลแจกแจงให้ทราบ เหมือนเป็นการลั่นระฆังเตือนภัยขึ้นในรัฐสภาอเมริกัน หลังจากได้รับแจ้งอย่างเป็นการลับเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศที่วางแผนกันเอาไว้แล้ว วุฒิสมาชิก ไดแอน เฟนสไตน์ ซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครตจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และวุฒิสมาชิก ริชาร์ด ลูการ์ ที่สังกัดพรรครีพับลิกันจากมลรัฐอินดีแอนา บอกว่าพวกเขาจะเขียนบทความไปลงหน้าบทบรรณาธิการ/ทัศนะ ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ “ภายในไม่กี่วันนี้” เพื่อแสดงการคัดค้านของพวกเขา แหล่งข่าวผู้นี้เล่าไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฟนสไตน์นั้นเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา ส่วนลูการ์ก็เป็นสมาชิกคนสำคัญของฝ่ายรีพับลิกันในคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในคำแถลงฉบับหนึ่งที่เอเชียไทมส์ได้รับมาจากสำนักงานของเฟนสไตน์ วุฒิสมาชิกผู้นี้บอกว่า เธอ “ยังไม่ได้รับการแจ้งใดๆ ไม่ว่าเป็นการลับหรือไม่เป็นการลับ จากคณะรัฐบาลเกี่ยวกับแผนการโจมตีอิหร่านใดๆ ทั้งสิ้น”

เมื่อพิจารณาถึงข้อผูกพันของบรรดาวุฒิสมาชิก ที่จะต้องรักษาความลับเมื่อได้รับทราบข้อมูลอันมีการจัดชั้นความลับไว้ ก็ไม่น่าที่วุฒิสมาชิกเหล่านี้จะเปิดเผยแผนการของคณะรัฐบาลบุช หรือเรื่องที่พวกเขาทราบเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว อย่างไรก็ดี การแจ้งต่อสาธารณชนในประเด็นปัญหานี้ โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดเจาะจงอะไร ก็น่าจะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนจำนวนมาก ซึ่งอาจโน้มน้าวให้คณะรัฐบาลบุชต้องยอมพิจารณาแผนการนี้กันใหม่

การโจมตีทางอากาศต่ออิหร่านตามที่เสนอกันออกมานี้ ย่อมจะมีความหมายอันใหญ่หลวงสำหรับสภาพการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และสำหรับการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ แต่คำถามสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งย่อมจะเป็นเรื่องที่ว่า อิหร่านจะตอบโต้อย่างไร

** ทางเลือกของอิหร่าน**

อิหร่านอาจเบ่งกล้ามแสดงอิทธิพลบารมีของตนในหลายๆ หนทางด้วยกัน ประเทศนี้อาจเพิ่มระดับการสนับสนุนที่ให้แก่พวกผู้ก่อความไม่สงบในอิรัก และแก่บรรดาพันธมิตรของตนตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลาง ทั้งนี้ อิหร่านให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮามาสในดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครองอยู่ นอกจากนั้นยังเป็นที่สงสัยกันอย่างกว้างขวางว่าอิหร่านกำลังช่วยเหลือพวกกบฎตอลิบานในอัฟกานิสถานอีกด้วย

อิหร่านอาจจะเลือกการประจันหน้าโดยตรงกับสหรัฐฯในอิรัก และ/หรือในอัฟกานิสถาน ซึ่งอิหร่านมีพรมแดนร่วมกับประเทศเหล่านี้เป็นระยะทางยาวเหยียดและเต็มไปด้วยรูพรุนช่องโหว่ อิหร่านมีกองกำลังสู้รบจำนวนกว่า 500,000 คน นอกจากนั้นเชื่อกันว่าอิหร่านมีขีปนาวุธที่สามารถยิงไปถึงพวกพันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียได้

อิหร่านยังอาจเลือกที่จะประเกาศการคว่ำบาตรไม่ส่งน้ำมันให้แก่เหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯทั้งอย่างชนิดเบ็ดเสร็จสิ้นเชิง และอย่างชนิดเลือกสรรเป็นบางราย อิหร่านนั้นมีฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับสองในองค์การประเทศผู้ส่งออกนอกน้ำมัน (โอเปก) และใหญ่เป็นอันดับสี่เมื่อรวมประเทศผู้ส่งออกทั้งหมดในโลก ราว 70% ของน้ำมันส่งออกของประเทศนี้ส่งมายังแถบเอเชีย สำหรับสหรัฐฯนั้นได้ห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านมาตั้งแต่ปี 1995 รวมทั้งจำกัดห้ามปรามพวกบริษัทสหรัฐฯไม่ให้ไปลงทุนที่ประเทศนั้นด้วย

ประเทศจีนคือลูกค้าซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน และอิหร่านก็ซื้ออาวุธจากจีนด้วย การค้าระหว่างสองประเทศนี้อยู่ในระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว และยังคงขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ ปฏิกิริยาของจีนต่อการโจมตีอิหร่านจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่รู้ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ

** ชาติอิสลามแห่งที่สาม**

โลกอิสลามก็อาจจะมีปฏิกิริยาคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการโจมตีของสหรัฐฯ ซึ่งเล่นงานชาติที่มีประชากรเป็นชาวมุสลิมอย่างท่วมท้นเป็นแห่งที่สามแล้ว ถัดจาก อัฟกานิสถาน และอิรัก ทางด้านปากีสถานซึ่งก็มีพรมแดนร่วมกับอิหร่านเช่นกัน อาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นอีกจากบรรดาพรรคฝ่ายอิสลามซึ่งเรียกร้องให้ปากีสถานยุติการร่วมมือกับสหรัฐฯในการต่อสู้กับอัลกออิดะห์และตามล่าอุซามะห์ บิน ลาดิน ฝ่ายตุรกีผู้เป็นพันธมิตรสำคัญยิ่งของสหรัฐฯอีกรายหนึ่ง อาจจะถูกผลักไสจากพลังฝ่ายมุสลิมเคร่งครัดภายในประเทศ ให้ต้องหันมาดำเนินนโยบายในทางอิงศาสนามากขึ้น ส่วนบรรดาบริษัทอเมริกัน, ที่ทำการด้านการทูตต่างๆ, ตลอดจนผลประโยชน์อื่นๆ ของสหรัฐฯ ก็อาจเผชิญการตอบโต้แก้เผ็ดจากพวกรัฐบาลหรือฝูงชนในบรรดารัฐที่ประชากรส่วนข้างมากเป็นมุสลิม ไล่ตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงโมร็อกโก

การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯต่ออิหร่าน น่าจะมีผลกระทบระดับใหญ่โตเหมือนเกิดแผ่นดินไหวทีเดียว ต่อการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายในอเมริกาเอง แต่ยังเป็นเรื่องลำบากมากที่จะตัดสินลงไปว่ามันจะกระทบกระเทือนใครหนักที่สุด

ในแวบแรกสุดที่พิจารณากัน การโจมตีทางทหารต่ออิหร่านดูน่าจะเป็นผลดีต่อแมคเคน วุฒิสมาชิกจากมลรัฐแอริโซนาผู้นี้พูดอยู่เรื่อยว่า สหรัฐฯถูกล็อกเอาไว้ในการทำศึกตลอดทั่วทั้งโลกกับพวกสุดโต่งอิสลามหัวรุนแรง และเขาเชื่อว่าอิหร่านคือผู้ยุยงและผู้สนับสนุนสำคัญที่สุดรายหนึ่งในกระแสคลื่นของพวกสุดโต่งเช่นนี้ การโจมตีอิหร่านจึงอาจกลายเป็นการปลุกระดมผู้ออกเสียงชาวอเมริกันให้สนับสนุนความพยายามในการทำสงคราม และโหวตให้แก่แมคเคน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การโจมตีทางอากาศต่ออิหร่าน อาจจะยิ่งทำให้สาธารณชนหมดศรัทธาไม่แยแสต่อนโยบายของคณะรัฐบาลบุชในตะวันออกกลาง ซึ่งจะนำไปสู่การเทเสียงสนับสนุนให้แก่ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที

อย่างไรก็ดี การโจมตีทางอากาศคราวนี้จะต้องก่อให้เกิดปฏิกิริยากว้างไกลยิ่งกว่าแค่คูหาเลือกตั้งในสหรัฐฯเอง และนั่นจึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมจึงมีรายงานว่า วุฒิสมาชิกผู้คร่ำหวอด 2 คน โดยคนหนึ่งเป็นรีพับลิกันและอีกคนหนึ่งเป็นเดโมแครต เกิดความรู้สึกหวาดผวาต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมา

มูฮัมหมัด โคเฮน อดีตโปรดิวเซอร์ข่าวออกอากาศทางทีวี เคยทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของอเมริกาให้โลกได้รับรู้ ในฐานะที่เป็นนักการทูตสหรัฐฯ นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Hong Kong On Air” (www.hongkongonair.com) นวนิยายที่ใช้เหตุการณ์ตอนอังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในปี 1997 เป็นฉาก โดยที่เรื่องราวมีทั้งเรื่องข่าวโทรทัศน์, ความลับ, การทรยศหักหลัง, เงินทองสูงค่าและชุดชั้นในราคาถูก

กำลังโหลดความคิดเห็น