xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียท้าทายสหรัฐฯในโลกอิสลาม (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Russia challenges US in the Islamic world (part 1)
By M K Bhadrakumar
28/03/2008


นับเป็นปีที่สองต่อเนื่องกันแล้ว ที่รัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปีขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยปีนี้จัดขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงการขยายตัวอย่างกระตือรือร้นของรัสเซีย ที่จะเข้าไปเกี่ยวพันในตะวันออกกลาง ในลักษณ์ซึ่งเป็นการท้าทายโดยตรงต่อฐานะครอบงำภูมิภาคมาแต่ไหนแต่ไรของสหรัฐฯ “ดอกผลแห่งสันติภาพ”ของมิตรภาพอันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กับโลกอิสลามเช่นนี้ ยังแปรเปลี่ยนกลายเป็นเงินดอลลาร์อันหนักแน่นอีกด้วย ตั้งแต่โครงการเมกะโปรเจ็คต์ในอียิปต์และซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงการทบทวนรื้อฟื้นผลประโยชน์น้ำมันในอิรัก


*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

ตอนที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ระบุชื่อ ซาดา คัมเบอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายปากีสถานผู้ถือกำเนิดที่เมืองการาจี ให้เป็นผู้แทนสหรัฐฯคนแรกประจำองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี)นั้น การประกาศเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ของทำเนียบขาวเกือบทำให้ตีความกันผิดคิดว่า เป็นการเล่นการเมืองเพื่อเอื้ออำนวยผลประโยชน์แก่พวกพ้อง ของคณะรัฐบาลที่อยู่ในสภาพเป็ดง่อย เนื่องจากคัมเบอร์เป็นผู้ประกอบการชาวเทกซัส เฉกเช่นเดียวกับบุช

คัมเบอร์เป็นผู้ก่อตั้ง ซีเอซีเอช แคปิตอล แมเนจเมนต์ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองออสติน, เทกซัส
กิจการแห่งนี้ให้บริการด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่งที่มีผลประกอบการดีมาก ด้วยความเฉียบแหลมมีไหวพริบและความชำนิชำนาญในการเสนอสนองบริการให้คำปรึกษาแก่พวกประเทศมุสลิม ที่มีเงินดอลลาร์จากน้ำมัน (ปิโตรดอลลาร์)ซึ่งสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไม่มีเงื่อนไขผูกพัน ไหลบ่าเข้าสู่กองทุนความมั่งคั่งภาครัฐของพวกเขาอย่างไม่ขาดสาย ทว่าแล้วบุชไม่ทราบหรือว่าโอไอซีนั้นไม่ได้เป็นสถาบันเพื่อการเลือกสรรช่องทางการลงทุนและการบริหารพอร์ตการลงทุนแต่อย่างใด

เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว ดานา เปริโน อธิบายว่าบุชพิจารณาเห็นว่าโอไอซีเป็นองค์การที่สำคัญ และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมเขาจึงแต่งตั้งผู้แทนพิเศษขึ้นมาดูแล เธอบอกว่า “[โอไอซี]สามารถแสดงบทบาทอันสร้างสรรค์ได้ในโลก และท่านประธานาธิบดีก็กำลังส่งสัญญาณความปรารถนาของเราที่จะมีการสนทนาอย่างใหญ่หลวงยิ่งขึ้นกับองค์การแห่งนี้ เช่นเดียวกับชาวมุสลิมในทั่วโลก” ทว่าโอไอซีดำรงอยู่มานานถึง 39 ปีแล้ว และคนมุสลิมก็มีมานานกว่าพันปีแล้ว ทำไมจึงเกิดความสนใจขึ้นมาในตอนนี้เล่า

ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่บุชเริ่มขบคิดพิจารณาถึงเรื่องการแต่งตั้งผู้แทนไปประจำโอไอซี แล้วทำไมจึงชะลอเลื่อนช้าจนป่านนี้ เมื่อสื่อมวลชนซักถามเปริโนว่าทำไมบุชจึงใช้เวลานานนัก เธอก็บอกเพียงว่า “ท่าน(บุช)ต้องการหาตัวบุคคลที่ถูกต้องเหมาะสม และท่านก็พบคุณสมบัติดังกล่าวในตัวซาดา คัมเบอร์”

ไพ่อิสลามในโคโซโว

อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั่นแหละที่คณะรัฐบาลบุชตื่นขึ้นจากหลับเพื่อรับรู้ความเป็นจริงอย่างใหม่ที่ว่า การพัฒนาบ่มเพาะสายสัมพันธ์กับโอไอซีซึ่งมีสมาชิก 57 ราย สามารถที่จะทำให้อะไรๆ แตกต่างเปลี่ยนแปลงไปได้ในระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ดังกล่าวข้างต้น วอชิงตันยังคงเล่น “ไพ่อิสลาม” เพื่อต่อต้านมอสโก อย่างชนิดที่แทบจะใช้แต่สัญชาตญาณเดิมๆ แต่แล้วกลับพบด้วยความรู้สึกสะดุ้งว่า ไพ่ใบที่เคยพึ่งพาอาศัยได้อย่างสูงอีกทั้งเป็นไพ่มีศักดิ์สูงเอาชนะไพ่ใบอื่นๆ ได้ในการเมืองยุคสงครามเย็นนั้น ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว และอันที่จริงมันกลับเปลี่ยนไปเป็นไพ่ใบที่ไร้พิษสง

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ สามารถสรุป “อาการปวดใจจากโอไอซี” ของวอชิงตันเอาไว้ได้อย่างกระชับ เมื่อเขาให้ความเห็นระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ รอสซิสกายา กาเซตา ของรัฐบาลรัสเซียว่า “เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ไม่มีความหมายอะไรนะ ในการที่ชาติจำนวนมากรวมทั้งบรรดารัฐอิสลามด้วย ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะยอมรับเอกราชของโคโซโวเลย”

ด้วยการใช้ถ้อยคำโวหารแบบเหน็บแนม ลาฟรอฟก็ได้ตอกย้ำถึงบทบาทในโลกมุสลิมของรัสเซียแห่งยุคหลังโซเวียตกับของสหรัฐฯ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงกลับตาลปัตรเป็นตรงกันข้าม เขากล่าวต่อไปว่า “ผมใคร่ที่จะขอเตือนให้ต่อต้านความยั่วใจที่จะยอมจำนนต่อบรรดาคำแนะนำซึ่งมาจากพวกประเทศที่มิได้เป็นอาหรับและมิได้เป็นอิสลาม ทว่ากลับกำลังมาบอกกล่าวกับบรรดาประเทศอิสลามอย่างเจาะจงทีเดียว ให้บรรดาประเทศอิลามแสดงความเป็นเอกภาพของอิสลามและยอมรับรองโคโซโว ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ในโคโซโวนั้น คือตัวอย่างอันตรงเผ็งที่สุดของลัทธิแบ่งแยกดินแดนโดยมุ่งให้แบ่งตามเชื้อชาติ(มิใช่แบ่งตามศาสนา)”

เขากำลังส่งเสียงเตือนโลกอิสลามให้ระมัดระวังตัวต่อความพยายามของสหรัฐฯที่จะทำให้ฉากแห่งภูมิรัฐศาสตร์ในแหลมบอลข่าน “กลายเป็นเรื่องของอิสลาม”ขึ้นมา เขากล่าวเตือนภัยต่อไปว่า “ความวุ่นวายยังกำลังเริ่มเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน การส่งเสริมแนวโน้มแห่งการแบ่งแยกดินแดนนั้น ผมเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรม คุณก็เห็นแล้วถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน วิธีที่พวกแบ่งแยกดินแดนกำลังกระทำการที่นั่น ….. และแล้วการพัฒนาต่างๆ ในส่วนอื่นๆ ของโลกก็บ่งชี้ให้เห็นเช่นเดียวกันว่า เรากำลังได้เห็นแค่เพียงการเริ่มต้นของกระบวนการที่จะระเบิดแตกตัวออกอย่างร้ายแรง และสำหรับผู้ที่เดินไปตามเส้นทางนี้ย่อมไม่ควรเลยที่จะมาเรียกร้องขอให้แสดงความเป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นเอกภาพของอิสลามหรือของชาวยุโรป-แอตแลนติก พวกเขาควรที่จะคิดถึงความรับผิดชอบของพวกเขาก่อนเป็นลำดับแรก”

ไม่นานนักหลังจากการให้สัมภาษณ์ของเขาในมอสโก ลาฟรอฟก็เริ่มออกเดินทางตระเวนเยือนตะวันออกกลางอย่างยืดยาวอีกรอบหนึ่ง แต่ตั้งต้นด้วยการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งที่ 11 ของโอไอซี ที่กรุงดาการ์, เซเนกัล เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นการเข้าร่วมซัมมิตโอไอซีของเขาในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกันแล้ว

ในบรรดาความยกย่องสรรเสริญอันมากมายที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รวบรวมมาได้ ขณะที่ช่วงเวลา 8 ปีแห่งการเป็นผู้นำในวังเครมลินของเขาใกล้จะปิดฉากลงแล้วนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งมักถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้งก็คือ ประวัติศาสตร์แทบจะพิพากษาอย่างแน่นอนที่สุดแล้วว่า เขาคือผู้สร้างสะพานที่ต่อเชื่อมระหว่างรัสเซียกับโลกมุสลิมได้อย่างยิ่งใหญ่ ผลสำเร็จของปูตินต้องถือว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากรัสเซียเคยมีความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน, ยากลำบาก, และขัดแย้งกันอย่างใหญ่หลวง กับทางโลกมุสลิม ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่แล้ว

แน่นอนว่าการที่ปูตินสามารถจัดการปัญหาเชชเนียอย่างได้ผล ได้ช่วยถอนเรื่องอิหลักอิเหลื่อที่อาจก่อให้เกิดความพลาดพลั้งในการติดต่อกับโลกมุสลิมออกไปได้เรื่องหนึ่ง ทว่านั่นไม่ควรทำลายความสำเร็จอันยอดเยี่ยมแห่งนโยบายของเขา ในการทำให้เกิดความมั่นใจว่าเวลานี้ปรปักษ์หน้าไหนก็ไม่สามารถวาดหวังที่จะใช้วิธีปั่นโลกมุสลิมให้ต่อต้านมอสโก ด้วยเงื่อนไข “เชิงอารยธรรม” แบบที่ฝ่ายตะวันตกได้พยายามกระทำมาตลอดยุคโซเวียต

ตรงกันข้าม รัสเซียเวลานี้กลับอยู่ในฐานะอันดีที่จะเสนอตัวไปทำหน้าที่เป็นคนกลางให้เกิดการสนทนาทางอารยธรรมระหว่างโลกตะวันตกแห่งคริสเตียนและโลกตะวันออกแห่งอิสลาม อันที่จริงแล้ว ในคำปราศรัยของเขา ณ ที่ประชุมสุดยอดกรุงดาการ์ของโอไอซี ลาฟรอฟได้ดึงความสนใจของโลกอิสลามไปสู่ “สถานการณ์ของชาวมุสลิมในบรรดาประเทศยุโรป และความพยายามของนักการเมืองบางคนที่จะก่อกระแสความหวาดกลัวอิสลามขึ้นมา”

ศาสนาในฐานะที่เป็นยาแก้ความขัดแย้งได้สารพัดโรค

การที่มิได้มีฐานะเป็นป้อมปราการแห่งลัทธิอเทวนิยมอีกต่อไปแล้ว แน่นอนว่ามีส่วนช่วยเครมลินอยู่ด้วย ทว่ามันต้องประกอบกันทั้งความเบ่งบานของจิตใจในระดับใหม่และความมีสติปัญญานั่นแหละ จึงจะสามารถเปลี่ยนสภาพความศรัทธาทางศาสนาที่กลับคืนมาใหม่ ให้กลายเป็นวาระทางการเมืองอันจริงจังยากที่ใครจะเอาชนะได้

ลาฟรอฟเดินหน้าเกมรุกต่อไป ณ กรุงดาการ์ และทำให้โอไอซีมั่นใจว่า รัสเซียมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “สร้างคุณูปการอันสำคัญเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างอารยธรรมต่างๆ และการส่งเสริมขันติธรรมขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างศรัทธาความเชื่อทั้งหลายที่แตกต่างกันอยู่” เขาแสดงความหวังว่า “ยุโรปแห่งคริสเตียนจะสามารถค้นพบพื้นฐานอันมีอยู่ร่วมกันกับศาสนาอื่นๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น”

ที่กรุงดาการ์ ในการเสนอความริเริ่มทางการเมืองอันสำคัญประการหนึ่ง ลาฟรอฟได้เสาะแสวงหาความสนับสนุนของโอไอซีต่อข้อเสนอของรัสเซีย ที่ให้จัดตั้ง “สภาที่ปรึกษาว่าด้วยศาสนาต่างๆ” ขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ โดยสรุปยืนยันการคาดการณ์ที่ว่า “การนำเอาปัจจัยทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สามารถช่วยให้ความขัดแย้งนานาตกลงกันได้โดยผ่านกระบวนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความปรองดองกันของทุกๆ ฝ่าย บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและด้วยความเคารพอย่างเต็มที่ต่อบทบาทของยูเอ็นในกิจการระหว่างประเทศ”

ข้อเสนอนี้กล่าวโดยรวมแล้วเป็นการยกระดับ “การสนทนา” เป็นเวลา 2 ปีที่มอสโกกระทำกับโอไอซีนับแต่ที่ได้รับฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ขององค์การนี้ ให้ขึ้นสู่ระดับใหม่อันทรงคุณภาพ มอสโกน่าจะทราบดีว่าวอชิงตันไม่สามารถหาอะไรมาแข่งขันกับความริเริ่มของรัสเซียนี้ แต่ขณะเดียวกันก็จะถูกกดดันหนักให้ต้องคัดค้านข้อเสนอนี้ สถานการณ์อันยากลำบากของวอชิงตันก็คือ ไม่ได้มีหนทางอันทรงประสิทธิภาพใดๆ ที่จะตอบโต้การอวดอ้างอยู่เรื่อยๆ ของมอสโกที่ว่า ตนเองเป็นสังคมนานาชนชาติและนานาศรัทธาความเชื่อที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาหลายศตวรรษแล้ว “รัสเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกอิสลามอีกด้วย” ถ้าหากจะยกคำพูดของลาฟรอฟมาอ้างอิงกัน

มอสโกวาดภาพตัวเองว่าอยู่เคียงข้างปาเลสไตน์

ทว่ามันไม่ใช่เรื่องของการโอ้อวดเหนือกว่าคนอื่นเลย รัสเซียในปัจจุบันมีความได้เปรียบหลายประการเหนือกว่าสหรัฐฯ ภาพสถานการณ์โดยองค์รวมในตะวันออกกลางนั้น อยู่ในลักษณะที่ต่อต้านไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ คณะรัฐบาลบุชถูกมองว่าที่สำคัญแล้วถูกกระตุ้นผลักดันโดยบรรดาผลประโยชน์ของอิสราเอล ในหมู่ผู้ที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯนั้น กำลังเกิดภาวะขาดดุลทางความไว้วางใจกันอย่างกว้างขวางทีเดียว

ความสัมพันธ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์ได้เสื่อมทรามลงในช่วงหลังๆ มานี้ วิกฤตด้านมนุษยธรรมอันรุนแรงยิ่งยังคงแผ่ลามหยั่งรากลงลึกขึ้นอีกในดินแดนกาซา ด้วยการเปิดยุทธการทางทหารของอิสราเอลผู้ไร้หัวใจและโดยการสนับสนุนอยู่ในทีของสหรัฐฯ ความรุนแรงได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างมากมายนับแต่กลางเดือนมกราคมเป็นต้นมา กระบวนการสันติภาพของการประชุมแห่งเมืองแอนนาโปลิสเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว กำลังอยู่ในสภาพไปไม่รอด การที่อิสราเอลและสหรัฐฯยังคงกีดกั้นไม่ให้ฐานะเป็นผู้ร่วมส่วนทางการเมืองซึ่งเติบโตผงาดขึ้นเต็มที่แล้วแก่กลุ่มฮามาส ทำให้กระบวนการสันติภาพนี้กลายเป็นเรื่องเหลวไหล

ในทุกๆ แนวรบทั้งหมดเหล่านี้ รัสเซียเวลานี้กลับยืนอยู่ในข้างที่ถูกต้องของแนวรั้วกั้นขวาง มอสโกได้เพิ่มการปรึกษาหารือและความร่วมมือกับซีเรีย, ออกมาประณามอย่างชัดเจนต่อการก่อตั้งชุมชนชาวยิว, เรียกร้องให้อิสราเอลยกเลิกการปิดล้อมดินแดนของปาเลสไตน์, ยังคงติดต่ออย่างเป็นประจำกับคณะผู้นำของกลุ่มฮามาส –ลาฟรอฟได้พบปะกับ คอเลด เมชัล ที่กรุงดามัสกัสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และยิ่งกว่านั้น เขายังทำให้อิสราเอลต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับการติดต่อดังกล่าวนี้ด้วย

เสียงสะท้อนต่อจุดยืนเรื่องตะวันออกกลางของรัสเซียในมติมหาชนชาวอาหรับ เป็นไปในทางเข้าข้างมอสโกอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน อิรักก็กำลังกลายเป็นของหนักที่ถอยถ่วงคอของอเมริกันจนคอยืดยาวเป็นนกอัลบาทรอส มอสโกวินิจฉัยว่าสหรัฐฯกำลังจมปลักสงครามจรยุทธ์อันยืดเยื้อในอิรัก ดังที่นักวิจารณ์ของมอสโกผู้หนึ่งเขียนเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ “จุดจบของศึกคราวนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะมาถึงเมื่อใด ตามท้องถนนในอิรักกำลังเกิดสงครามทุ่นระเบิดอันเข้มข้น ไม่มีขบวนรถลำเลียงของฝ่ายพันธมิตรขบวนใดเลยที่สามารถผ่านไปโดยไม่ถูกวางระเบิด การวางทุ่นระเบิดตามถนนถูกประเมินว่ารุนแรงถึงขนาดที่กองทัพอากาศสหรัฐฯกำลังใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ บี-1บีของตน สำหรับการเคลียร์ดงทุ่นระเบิดในพื้นที่ห่างไกล อาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ กำลังถูกส่งข้ามพรมแดนอิรักอย่างเสรี โดยที่พรมแดนนี้ก็ยืดยาวและยากที่แก่ควบคุมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการยึดครองเอาไว้ต่อไปก็กำลังเพิ่มศักยภาพที่จะระดมหาสมาชิกใหม่ๆ ให้แก่ขบวนการจรยุทธ์”

เช่นเดียวกัน ถ้าการเมืองในตะวันออกกลางประมาณสักสามในสี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรับรู้ความเข้าใจของสาธารณชนแล้ว มันก็ย่อมเป็นประโยชน์ของมอสโกเมื่อรัสเซียพูดเป็นนัยอยู่เรื่อยๆ ว่า เหล่าบริษัทน้ำมันอเมริกันกำลังสูบเอาความมั่งคั่งด้านน้ำมันของอิรักออกไป และก็กำลังกอบโกยเงินทองมหาศาลจากราคาน้ำมันที่ขึ้นลิ่ว (ถึงแม้เรื่องนี้ก็อำนวยให้รัสเซียได้รับโชคลอยลมไปด้วย), ว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯคือการสถาปนาการควบคุมทั้งทางการเมืองและการทหารเหนือภูมิภาคแถบนี้, ว่าสหรัฐฯ “ที่จริงแล้วไม่ได้ต้องการสร้างเสถียรภาพขึ้นในอิรัก และจะประคับประคองให้ความขัดแย้งดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ”, ว่าคณะรัฐบาลบุชน่าจะมีเจตนาเปิดการโจมตีทางอากาศอย่างเข้มข้นต่ออิหร่าน ด้วยวัตถุประสงค์เพียงประการเดียว คือการทำให้โครงสร้างทางทหารและทางเศรษฐกิจของอิหร่านกลายเป็นอัมพาต ซึ่งจะทำให้ “การอ้างความเป็นผู้นำในภูมิภาค” ของเตหะราน “ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงไปเป็นเวลายาวนานทีเดียว” ถ้าหากจะอ้างอิงคำพูดของพวกนักวิจารณ์ของมอสโก

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

เอ็ม เค ภัทรกุมาร รับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียมากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และประจำตุรกี (1998-2001)

  • รัสเซียท้าทายสหรัฐฯในโลกอิสลาม (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น