xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันพุ่งไม่หยุด บาทแข็งผิดปกติ ทำศก.ไทยซึมยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดร.โกร่ง” ชี้เศรษฐกิจไทยจะซึมยาวอีก 2 ปี และเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจขาลงแบบมีเงินเฟ้อ เหตุพิษซัมไพร์มสหรัฐฯ ดอลล่าร์อ่อน ฉุดค่าเงินอียูอ่อนตาม ขณะที่การส่งออก แม้เป็นพระเอกฉุดวิกฤต แต่กำลังพังพาบ เหตุธปท. ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาด จวกมีแบงก์ชาติแบบนี้ อย่ามีดีกว่า ผู้ผลิตส่งออกโวยบาทไทยแข็งค่าเร็วเกินเหตุ ขู่ถ้าแตะ31 บาทต่อเหรียญสหรัฐเร็วๆ นี้อาจได้เห็นโรงงานบางแห่งปิดตัวแน่ ขณะที่ น้ำมันโลกทำนิวไฮทะลุ$103 หลังเงินดอลล์อ่อนค่าต่ำสุด

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า” ในงานสัมมนา “เปิดตลาดใหม่ ขยายการส่งออกปี 2551” ที่มีทูตพาณิชย์ทั่วโลก และภาคเอกชนเข้าร่วมฟังการบรรยาย จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก วานนี้ (29ก.พ.) ว่า เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้า จะยังอยู่ในช่วงขาลง และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น เศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยับเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจชะลอตัว แบบมีเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่จัดการค่อนข้างยาก

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว จากปัญหาสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จนกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) เพราะซื้อตราสารหนี้ของสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ ปัญหาราคาน้ำมันที่ยังสูงอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน เพราะความต้องการใช้มีมากกว่าปริมาณการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของไทย กระทบภาคขนส่ง และต่อเนื่องไปถึงภาคการท่องเที่ยว

“เศรษฐกิจไทยขณะนี้ มีการส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น ที่เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน เพราะการลงทุน ทั้งภาครัฐ และเอกชนหยุดนิ่งมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว หลังการปฏิรูปการปกครอง ส่วนภาคบริการก็ถดถอยลง โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปมาก ต้องใช้เวลาเยียวยาอีกนาน ความเชื่อมั่นจึงจะกลับมาเหมือนเดิม”

นายวีรพงษ์กล่าวว่า การที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ต้องการผลักดันการส่งออกขยายตัว 15% นั้น คงจะทำได้ยาก หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเร็ว และแข็งค่ามากเหมือนในปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาพบว่าแข็งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และแข็งกว่าประเทศคู่แข่ง ที่สำคัญเมื่อบาทแข็ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับไม่ทำอะไร ไม่ยอดลดดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยเงินบาทแพงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ ก็จะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งเร็วขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ผลจากการที่ค่าบาทแข็ง เห็นว่าธปท. ดำเนินนโยบายผิดพลาดที่จะมุ่งรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ โดยไม่สนใจถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

“เศรษฐกิจไทยจะยิ่งแย่ เพราะธปท.เห็นว่าเงินเฟ้อสำคัญกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่จีนจะใช้อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) ทำให้คุมค่าเงินได้ ไม่รู้ว่า ธปท. กลัวอะไร เพราะเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่ได้นำเอาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสดมาคำนวณด้วยก็ต่ำมากอยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ธปท.น่าจะลดดอกเบี้ยลง แต่ธปท.กลับไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าเป็นอย่างนี้อย่ามีธปท.จะดีกว่า ”

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า อยากให้ดูจีนเป็นตัวอย่าง ที่มีการใช้นโยบายมหภาคถูกต้อง กล่าวคือ แม้ยังเกินดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมีทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาล และสูงที่สุดในโลก ปัจจุบันประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ลอยตัวค่าเงินหยวน กลับใช้นโยบายผูกติดกับตะกร้าเงิน ซึ่งสามารถบริหารจัดการให้ค่าเงินหยวนเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ และอ่อนค่ามากที่สุดกว่าเงินสกุลอื่นในเอเชีย

สำหรับจีน เมื่อมองในด้านการเป็นตลาดส่งออกของไทย เชื่อว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้า จีนจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของไทย เพราะปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจจีนยังไม่มีการทำงานอย่างเต็มที่ และยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่อินเดีย ก็เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ยังมีศักยภาพอีกมากเช่นกัน

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า จากการหารือกับทูตพาณิชย์ไทย ที่ประจำประเทศต่างๆ พบว่า ในบางประเทศยังสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดใหม่ อย่างจีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ดังนั้น เป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกปีนี้ที่ 15% น่าจะเป็นไปได้ ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่านั้น ทุกคนก็กังวล แต่ผู้ส่งออกก็สามารถบริหารจัดการ และป้องกันความเสี่ยงได้อยู่แล้ว

**จับตาบาทแข็งได้เห็นโรงงานปิดอีกแน่

นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งอย่างรวดเร็วส่ง ผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมากส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่ลำบากขึ้นในการเจรจาการซื้อขายและเร็วๆ นี้หากแข็งค่ารวดเร็วไปในระดับ 31 บาท ต่อเหรียญสหรัฐเร็วๆ นี้อาจจะเห็นการปิดตัวของโรงงานบางแห่งเกิดขึ้นแน่นอน

“ ตอนนี้ผู้ผลิตและส่งออกปวดหัวกันมากเงินเราแข็งค่าเร็วมากเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งบางรายโค้ตค่าเงินไว้ที่ 33-34 บาทต่อเหรียญก็ขาดทุน และถ้าดูบาทไทยไม่ได้สะท้อนภูมิภาคอะไรเพราะเราแข็งมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้ว ที่ผ่านมาผู้ส่งออกพยายามขายเอาปริมาณแต่รายได้เริ่มลดลงและจะเห็นว่ามีการขาดทุนในปี 2550 ไปไม่น้อยและตอนนี้ก็เริ่มขาดสภาพคล่องกันบ้างแล้วหากปล่อยไว้เช่นนี้เรียลเซกเตอร์ หรือภาคผลิตจริงจะมีปัญหาแน่ รัฐบาลควรพิจารณามาตรการในการแก้ไขปัญหาแบบฉับไว และทันต่อเหตุการณ์ไม่ใช่เพียงแค่พูด ออกมาแล้วก็หายไป ทำให้เกิดความสับสน” นายธำรงกล่าว

**เอ็นพีแอลกระทบการจ้างงาน

นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสายงานเศรษฐกิจ ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าเริ่มกระทบผู้ผลิตและส่งออกในเรื่องของสภาพคล่องที่ลดลงเนื่องจากแม้ว่ายอดการส่งออกจะโตในแง่ของปริมาณแต่ภาพรวมรายได้ที่ลดลงขณะที่ต้นทุนทั้งค่าแรง พลังงานกลับสวนทางเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากธุรกิจขาดสภาพคล่องมากขึ้นๆ สิ่งที่ต้องจับตาระยะยาวคือปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอลจะกลับมาพุ่งสูง และการจ้างงานจะลดลงและอาจนำไปสู่การเลิกจ้างได้

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า 2-3 วันเฉลี่ย 30-40 สตางค์ ต่อเหรียญสหรัฐย่อมกระทบกับภาคส่งออกแน่นอนเพราะคงไม่มีธุรกิจใดที่จะกำไรมากพอที่จะรองรับกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วเช่นนั้นได้จึงไม่แปลกที่ภาคการผลิตเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องแล้วหากปล่อยไว้เช่นนี้ระยะยาวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

“นโยบายรัฐไม่อยู่กับร่องกับรอยในการบริหารจัดการเดี๋ยวยกเลิกกันสำรอง 30% เดี๋ยวจะกำหนดค่าบาทคงที่แต่ก็ไม่ได้ทำสักอย่างแบบนี้เอกชนบอกเลยว่าขอร้องอยู่เฉยๆ ก็เหนื่อยแล้วอย่าคิดทำอะไรดีกว่า”แหล่งข่าวกล่าว

**น้ำมันโลกทำนิวไฮทะลุ$103

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบไลท์สวีตครูด สำหรับส่งมอบเดือนเมษายน ในตลาดไนเม็กซ์ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันพฤหัสบดี(28) ในช่วงหนึ่งมีราคาพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดระหว่างวันที่ 102.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำลายสถิติเดิมที่เคยทำไว้ที่ 102.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อปี1980 หลังเกิดการปฏิวัติอิหร่าน

ต่อมา ในช่วงปิดตลาด ราคาสัญญาน้ำมันดิบไลท์สวีตครูดได้ลงมาปิดตลาดที่ 102.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังถือเป็นราคาปิดสูงสุดทำสถิติใหม่ และเพิ่มขึ้น 2.95 ดอลลาร์ จากราคาปิดตลาดนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ(27)

ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนต์ สำหรับส่งมอบเดือนเมษายน มีอยู่ช่วงหนึ่งมีราคาพุ่งทำสถิติที่ 101.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะลดลงมาปิดตลาดที่ 100.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.63 ดอลลาร์ จากราคาปิดที่ลอนดอน เมื่อวันพุธ

ต่อมา ในการซื้อขายภาคเช้าที่ตลาดในสิงคโปร์ เมื่อวันศุกร์(29) สัญญาน้ำมันดิบไลท์สวีตครูดมีราคาพุ่งทำสถิติใหม่อีกครั้งที่ 103.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ต่อมาก็ลดลงมาซื้อขายกันที่ 102.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 4 เซ็นต์ จากราคาปิดที่ตลาดนิวยอร์ก เมื่อวันพฤหัสบดี ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์มีราคาลดลง 6 เซ็นต์ จากราคาปิดที่ตลาดลอนดอน เมื่อวันพฤหัสบดีเช่นกัน มาอยู่ที่ 100.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

วิกเตอร์ ชัม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อาวุโส แห่งบริษัทเปอร์วินแอนด์เกิร์ตซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน กล่าวว่า “ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงทำสถิติใหม่ในช่วงเดียวกับกระแสเงินของนักลงทุนไหลบ่าเข้าสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ สืบเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนยวบและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ

ค่าเงินดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสบดี อ่อนลงทำสถิติต่ำสุดอีกครั้ง โดย 1 ยูโร แลกได้ 1.52 ดอลลาร์ หลังจากที่เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) กล่าวว่า สหรัฐฯจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะ “Stagflation” หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะเดียวกันเงินเฟ้อก็พุ่งสูง ทว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกพุ่งสูงจะทำให้ความพยายามของเฟดในการประคับประคองเศรษฐกิจ ประสบกับความยุ่งยากมากขึ้น

คำกล่าวของเบอร์นันกีไม่ได้ทำให้นักลงทุนหยุดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากเฟดทำเช่นนั้นก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปอีก ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทำให้น้ำมันซึ่งซื้อขายกันด้วยเงินสกุลดอลลาร์ มีราคาถูกลง สำหรับผู้ที่ถือเงินสกุลอื่น สิ่งนี้จะทำให้ดีมานด์น้ำมันเพิ่มขึ้น

ทางด้านเนาแมน บารากัต รองประธานอาวุโสแห่งบริษัทแมคไควรี ฟิวเจอร์ส ยูเอสเอ กล่าวว่า “ความซับซ้อนด้านพลังงานก็คือเรื่องเงินดอลลาร์และภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่นักลงทุนพากันย้ายมาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ”

สตีเฟน ชอร์ก บรรณาธิการของชอร์ก รีพอร์ต ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์พลังงาน จัดส่งให้กับลูกค้า กล่าวว่า “พวกเก็งกำไรครองตลาดนี้ พวกเขากำลังดันราคาให้สูงขึ้นตราบเท่าที่พวกเขามองว่า ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม”

นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าต่ำสุดทำสถิติแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดี เกิดเพลิงไหม้ที่สถานีจ่ายก๊าซธรรมชาติ แบคตัน ก๊าซ เชลล์ ในเมืองนอร์โฟล์ก อังกฤษ ทำให้ซัปพลายก๊าซจากสถานีดังกล่าวลดลงถึง 45 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผลทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น