xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.เฟดเสียงแข็งขู่ตลาดด้วยคำว่า “เงินเฟ้อ” แต่ครั้งหน้าต้องใช้ของจริง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: จูเลียน เดอลาแซงเทนลิส

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bernanke’s words strike false note
By Julian Delasantellis
26/08/2008

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เบน เบอร์นันกี แถลงในวันอังคารด้วยน้ำเสียงร่าเริงเกี่ยวกับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ผงกศีรษะให้แก่ความวิตกทางด้านอัตราเงินเฟ้อ แล้วก็คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เท่าเก่า แต่ตลาดการเงินซึ่งตระหนักดีถึงข้อมูลอันมืดมัวไปเสียทั้งนั้นไม่ว่าในเรื่องงาน, ราคา, หรือกระทั่งหุ้นธนาคาร ไม่ได้คิดว่าเขาหมายความอย่างที่เขาพูดแม้แต่คำเดียว ในครั้งหน้า เขาจะต้องออกมาพร้อมกับการกระทำบางอย่างบางประการได้แล้ว

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอน1)

ด้วยเหตุนี้เอง ในการประชุมเอฟโอเอ็มซีนัดที่เพิ่งผ่านพ้นมา น่าจะมีการยกเหตุผลดีๆ มากมายมาสนับสนุนทั้งแนวทางปรับลดและปรับเพิ่มดอกเบี้ยพื้นฐานของประเทศกันอย่างกว้างขวาง กระนั้นก็ตาม ลงท้ายแล้ว เฟดมิได้เลือกทั้งสองแนวทางเหล่านี้ และนั่นเป็นจุดแกนกลางของทางแพร่งที่เฟดพาตัวเองไปติดกับโดยแท้

ภายในคำแถลงของเฟด จะเห็นได้ว่าเฟดมิได้แกล้งไม่รู้ไม่ชี้กับปัญหาเงินเฟ้อ ตรงกันข้าม เฟดเอ่ยถึงเรื่องนี้อย่างหนักแน่นว่า “ด้วยเห็นแววของการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายรายการ ขณะที่ดัชนีชี้การคาดการณ์ถึงภาวะเงินเฟ้อก็อยู่ในสถานการณ์ที่ยกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อจึงยังอยู่ในเกณฑ์สูง ... ความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ และการคาดการณ์ถึงเงินเฟ้อ ล้วนแต่ทวีตัวสูงขึ้น”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการณ์เป็นไปดั่งความคาดหมายของเฟด คือฝ่ายต่างๆ ตระหนักกันดีว่าเฟดตั้งใจใช้ภาษาถ้อยคำในทางต่อต้านเงินเฟ้อที่หนักแน่นและแรงกว่าเมื่อคราวที่ออกคำแถลงหลังการประชุมนัดที่แล้วในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งเฟดเคยแถลงว่า “แม้ผลการสำรวจภาวะเงินเฟ้อระดับแกนกลางจะดูเหมือนว่าดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ราคาค่าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็เขยิบสูงขึ้น และดัชนีหลายตัวที่สะท้อนการคาดการณ์ถึงภาวะเงินเฟ้อก็ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ... กระนั้นก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อจึงยังอยู่ในเกณฑ์สูง มันจึงเป็นความจำเป็นต้องต้องคอยติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างระมัดระวังต่อไป”

ปกติแล้ว เวลาที่เฟดเข้าแทรกแซงตลาดเงินเพื่อบังคับให้อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายนั้น เฟดดำเนินการผ่านการซื้อหรือขายตั๋วเงินกระทรวงการคลังแบบระยะสั้น การดำเนินการดังกล่าวมีคำศัพท์เรียกกันว่า ปฏิบัติการในตลาดเปิด (Open Market Operation) สำหรับครั้งนี้ที่มือของเฟดถูกมัดไว้ไม่ให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภัยเงินเฟ้อ ด้วยหวั่นว่ามาตรการนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจหดตัว และไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยหวั่นว่าไปโหมกระพือภาวะเงินเฟ้อ แต่ประธานเบอร์นันกีกลับใช้วาจาเป็นอาวุธด้วยการเตือนถึงปัญหาเงินเฟ้อ วิธีนี้ของเฟดน่าจะเรียกได้ว่าเป็น ปฏิบัติการปากเปิด (Open Mouth Operation)

เฟดทำราวกับว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องของเด็กดื้อ ที่เฟดคิดจะไปเปลี่ยนอุปนิสัยเสียใหม่ด้วยการใช้สุ้มเสียงกร้าวมากขึ้น หรือด้วยการเลือกใช้คำใช้ภาษาที่จะดึงให้ตลาดเชื่อว่า เฟดเอาจริงแน่ๆ แล้วที่จะลงมือดำเนินการเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

ผลปรากฏว่าตลาดใช้เวลาเพียงไม่นานก็มองลูกเล่นมุขนี้ของเฟดได้ทะลุ ค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวภายในไม่กี่นาทีแรกหลังจากที่ได้รับรู้คำแถลงที่สื่อความรู้สึกเอาจริงที่จะจัดการปัญหาเงินเฟ้อ แต่แล้วค่าเงินดอลลาร์ก็กลับดิ่งลงแรงๆ โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์กับยูโรแตะจุดต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ปรากฏการณ์เช่นนั้นสะท้อนว่าเทรดเดอร์ในตลาดค้าเงินตระหนักกันแล้วว่าคำแถลงของเฟดเป็นภาพแสดงนโยบายต่อต้านเงินเฟ้อ มากกว่าจะเป็นตัวนโยบายต่อต้านเงินเฟ้อจริงๆ

ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ก็ตระหนักได้ว่าเกมนี้ถูกส่งออกมาหลอกล่อพวกตน ดังนั้น ดัชนีหุ้นดาวโจนส์เดินหน้าขึ้นทันที 70 จุดหลังตลาดรับทราบคำแถลงของเฟด แต่แล้วก็ร่วงกลับลงมาหมด ลงท้ายแล้วตอนเวลาปิดตลาดในวันนั้น ดัชนีหุ้นดาวโจนส์เขยิบขึ้นไปทั้งหมดแค่ 4 จุด

จากมุมมองของเบอร์นันกี ผลกระทบด้านบวกประการหนึ่งที่ได้รับจากการไม่ยุ่งกับอัตราดอกเบี้ย คือการลดแรงสนับสนุนสำคัญในกลุ่มกบฏเท็กซัสซึ่งขณะนี้มีผู้นำคนสำคัญ คือ ผู้ว่าการเฟดสาขาดัลลาส ริชาร์ด ฟิชเชอร์ ซึ่งชี้ว่าเบอร์นันกีมีความระแวดระวังภัยเงินเฟ้อไม่มากเพียงพอ

ในช่วงที่ผ่านมานี้ เมื่อใดที่ได้อยู่ต่อหน้าไมโครโฟนทุกตัวที่ไม่ใช่ไมโครโฟนคาราโอเกะ ฟิชเชอร์จะเร่งเร้าเตือนถึงภัยคุกคามจากภาวะเงินเฟ้อ ในการประชุมเอฟโอเอ็มซีเดือนเมษายน ฟิชเชอร์กับผู้ว่าการเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียคือ นายชาร์ลส์ พลอสเซอร์ เป็นสองคนที่คัดค้านเสียงส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เหล่านั้นก็ล้วนเป็นเสียงในฝ่ายของเบอร์นันกี ผู้ว่าการเฟดทั้งสองท่านนี้นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ยังยืนยันว่าเฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเสียด้วยซ้ำ แถมยังเรียกร้องว่าเนื้อหาภายในคำแถลงจากที่ประชุม จะต้องมีการใช้ถ้อยคำที่แรงๆ เพื่อให้มีผลในการยับยั้งปัญหาเงินเฟ้อ สำหรับการประชุมเอฟโอเอ็มซีเดือนมิถุนายน ฟิชเชอร์ก็แหวกความเห็นของเสียงส่วนใหญ่อีกเช่นเคย โดยยืนยันให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย มิใช่แค่การไม่ปรับลดและไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อมีการบรรจุถ้อยคำแรงๆ เพื่อส่งสัญญาณการต่อสู้เงินเฟ้อไว้ในคำแถลงจากที่ประชุมเอฟโอเอ็มซี เบอร์นันกีจึงได้ผู้ว่าการพลอสเซอร์กลับคืน โดยพลอสเซอร์เป็นหนึ่งในเสียงส่วนใหญ่

นัยแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังท่าทีใหม่ของเฟดครั้งนี้ อันที่จริงแล้วก็เป็นการเสี่ยงพนันอีกครั้งหนึ่งของเบอร์นันกี โดยเป็นความพยายามซื้อเวลาไปจนกว่าสภาพการณ์จะคลี่คลายไปสู่ภาวะที่เฟดไม่ต้องต่อสู้กับภัยเงินเฟ้อและปัญหาการว่างงานในเวลาเดียวกัน ความหวังของเฟดจึงมีอยู่ว่า พอถึงเวลาการประชุมเอฟโอเอ็มซีนัดถัดไปในวันที่ 6 สิงหาคม ถ้าไม่ใช่ว่าเงินเฟ้อจะบรรเทาลง ซึ่งจะเอื้อให้เฟดจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจหดตัวด้วยการปรับลดดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง ก็อาจเป็นว่าสภาพเศรษฐกิจแสดงความแข็งแรงดีขึ้น ซึ่งจะเปิดทางให้เฟดเขยิบดอกเบี้ยขึ้นมาสกัดกั้นปัญหาเงินเฟ้อได้โดยไม่ลำบากใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหาทั้งคู่นี้รุนแรงมากขึ้นในทางสอดประสานกัน การเสี่ยงพนันของเบอร์นันกีก็เท่ากับว่าขาดทุน เพราะเท่ากับว่าในระยะ 6 สัปดาห์ระหว่างการประชุมเอฟโอเอ็มซีสองนัดนี้ที่เฟดไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับปัญหาเงินฝืดผสมเงินเฟ้อ เฟดได้ปล่อยให้ปัญหาร้ายแรงนี้มีเวลาฝังรากหยั่งเข้าไปในระบบเศรษฐกิจลึกมากยิ่งขึ้น

ถ้าเงินเฟ้อยังปรากฏตัวเป็นปัญหาอยู่ในเดือนสิงหาคม และถ้าในเวลานั้นเบอร์นันกียังทำตัวเป็นเฮมเล็ต ผู้ไม่สามารถตัดสินใจได้ (“จะขึ้น หรือจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย นั่นคือปัญหา”) เราต้องได้เห็นค่าเงินดอลลาร์ทรุดดิ่งเพิ่มขึ้นอีกมาก พร้อมกับได้เห็นการก่อกบฏในเฟด ซึ่งนำโดยผู้ว่าการฟิชเชอร์ อย่างแจ่มชัดมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นภัยต่อเสถียรภาพของเบอร์นันกีบนเก้าอี้ประธานเฟด

แน่นอนว่า กระบวนการสร้างความรอมชอมระหว่างปัญหาเศรษฐกิจแง่มุมต่างๆ ของสหรัฐฯ จะง่ายมากขึ้นได้เมื่อพวกผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงเบอร์นันกีด้วย ตระหนักเสียทีว่า ชะตากรรมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มิใช่สิ่งที่จะกำหนดได้ด้วยเพียงแค่บุคคลหรือเหตุการณ์ภายในดินแดนของสหรัฐฯ

เงินเฟ้อที่ดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ ตลอดจนภายในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกส่วนใหญ่นั้น ไม่อาจจัดการด้วยปัจจัยภายในประเทศแต่เพียงลำพัง เพราะต้นตอปัญหามิได้อยู่ในประเทศ แต่มีต้นตอมาจากอุปสงค์ต่อสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงในประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะบราซิล อินเดีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน

หากสหรัฐฯ เอาแต่ปรับเพิ่มดอกเบี้ย ขณะที่ไม่ใส่ใจกับตัวจักรกลแท้จริงที่ปั่นให้ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นอย่างไม่จบสิ้น อันเป็นตัวจักรกลที่อยู่นอกพื้นที่ของสหรัฐฯ ผลกระทบในทางเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดย่อมไม่ใช่การแก้ไขให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ดีขึ้น หากแต่เป็นสถานการณ์ที่ว่าวิกฤตสินเชื่อและวิกฤตการคลังของสหรัฐฯ จะสาหัสหนักข้อกว่าที่เป็นมา ทั้งนี้ โมฮัมหมัด เอล-เอเรียน (อดีตดาวเด่นของแวดวงผู้จัดการกองทุนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งขณะนี้เป็นที่ปรึกษาบริษัทนายหน้าค้าตราสารชื่อ พริมโก) กล่าวไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า แม้แต่โกลด์แมน แซคส์ ที่เป็นจอมเทพผู้ยิ่งใหญ่ของระบบทุนนิยมการเงินในสหรัฐฯ ก็ไม่น่าจะปลอดภัยจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตสินเชื่อในเร็ววันนี้ ดังนั้น หากใครมีไวรัสที่แข็งแกร่งพอที่จะโค่นซูเปอร์แมนได้ เขาย่อมคะเนได้ว่าไวรัสนี้จะเล่นงานประชากรโดยรวมได้อย่างไร

แน่นอนว่าตลาดไม่ใคร่จะยอมเชื่อถ้อยคำของเบอร์นันกีที่เตือนให้ช่วยกันระวังภัยเงินเฟ้อ ดังนั้น ในครั้งหน้า เขาคงต้องนำเสนอด้วยการดำเนินการจริงมากกว่าแค่คำพูดเสียแล้ว

จูเลียน เดอลาแซงเทนลิส เป็นที่ปรึกษาการบริหาร, นักลงทุนเอกชน และผู้สอนด้านธุรกิจระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ติดต่อเขาได้ที่อีเมล์: juliandelasantellis@yahoo.com

  • ปธ.เฟดเสียงแข็งขู่ตลาดด้วยคำว่า“เงินเฟ้อ” แต่ครั้งหน้าต้องใช้ของจริง (ตอนแรก)

  • กำลังโหลดความคิดเห็น