xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ตลาดตราสารค้ำหนี้เน่าจวนวิกฤต-พาพังทั่วโลก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอฟ วิลเลียม อิงดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Next up – the credit default swap crisis
By F William Engdahl
11/06/2008

ขณะที่โลกเริ่มคลี่คลายจากความหวาดผวาต่อวิกฤตล้มละลายของตลาดซับไพร์มในสหรัฐเมริกา และเริ่มทำใจได้กับบรรดาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นภัยคุกคามรุนแรงต่อภาคการเงินของโลกเมื่อปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ วิกฤตใหม่ในอีกตลาดหนึ่งได้สะสมกำลังพร้อมจะปะทุออกมาให้ได้ระทึกกันอีกครั้ง โดยในครั้งนี้จะเป็นวิกฤตล้มละลายในตลาดสวอปหนี้ความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่า 62 ล้านล้านดอลลาร์

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอน1)

การพุ่งทะยานของหนี้ธุรกิจล้มละลายจะส่งผลให้บรรดาผู้ที่ซื้อสวอปต้องพยายามจะดึงเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ออกมาจาก“ผู้มีส่วนร่วม”โดยเร็ว และนั่นจะเป็นปัจจัยให้วิกฤตการเงินทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับจุดชนวนให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและคดีฟ้องร้องระบาดอย่างมหาศาลในหมู่ผู้ซื้อและผู้ขายตราสารหนี้อนุพันธ์ โดยเฉพาะในประเด็นต่างๆ อาทิ จำนวนเงินที่ครบกำหนดชำระคืน และคำจำกัดความในเชิงเทคนิคสำหรับคำว่าล้มละลาย โดยที่ว่าการจะเข้าข่ายล้มละลายหรือไม่นั้น ย่อมต้องไปพิสูจน์กันว่าผู้ถือหุ้นกู้หรือเจ้าหนี้รายใดไม่ได้รับการชำระคืน เหล่านี้เป็นความกลัวที่สามารถส่งผลในทางการสร้างความชะงักงันให้แก่ระบบการเงินทั้งมวลได้

ผู้เชี่ยวชาญในตลาด CDS พากันเชื่อว่าวิกฤตน่าจะปะทุขึ้นจากพวกเฮดจ์ฟันด์ที่ไม่สามารถชำระเงินให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ ตามภาระรับผิดชอบที่ได้เสนอขายสัญญาความคุ้มครองไว้ในรูปของตราสารอนุพันธ์ CDS โดยที่หนี้ล้มละลายที่ต้องรับผิดชอบนั้นน่าจะมีมูลค่ามหาศาลไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนสถาบันการเงินก็อาจดำเนินการป้องกันปัญหาดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าด้วยการเรียกร้องให้ฝ่ายเฮดจ์ฟันด์เพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันแก่พวกหนี้ที่มีแววล้มละลายสูง ความพยายามของสถาบันการเงินยากจะเป็นจริงได้ ในเมื่อเฮดจ์ฟันด์จำนวนมากไม่มีเงินสดมากมายเพียงพอที่จะตอบรับได้กับข้อเรียกร้องขอเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันเหล่านั้น

ทั้งนี้ ต้นเรื่องก็เริ่มมาจากการที่ไม่มีกฎหมายที่ไปกำหนดว่า ผู้ขายความคุ้มครองจะต้องกันสำรองไว้ในตลาด CDS แต่อันที่จริง มันก็เทียบเคียงได้กับกรณีของบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยทั่วๆ ไปคือ บริษัทประกันภัยสามารถขายกรมธรรม์คุ้มครองความเสียหายที่ลูกค้าอาจประสบจากพายุเฮอร์ริเคนได้ โดยที่ไม่ถูกบังคับให้ตั้งสำรองเงินทุนไว้เป็นการค้ำประกันว่าบริษัทจะสามารถรับผิดชอบจ่ายได้จริง

**BIS แห่งบาเซิล แสดงความวิตก**

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) แห่งบาเซิล ซึ่งเป็นองค์การด้านการกำกับดูแลของบรรดาธนาคารกลางรายใหญ่ของโลก แสดงความวิตกต่ออันตรายนานาประการที่อาจเกิดขึ้นในตลาด CDS ในการนี้ ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้คุมกฎจากประเทศต่างๆ ในด้านการเงินการธนาคาร การประกันภัย และการซื้อขายหลักทรัพย์ ได้ออกหนังสือเตือนไว้ในเดือนเมษายนว่า เม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ในตลาด สวอปที่ถูกซื้อขายโดยพวกเฮดจ์ฟันด์ มีแววว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อตลาดการเงินทั่วโลก

“เป็นเรื่องยากที่จะให้เห็นภาพชัดๆ ว่ามีสถาบันใดบ้างที่เป็นรายใหญ่ที่ถือตราสารอนุพันธ์อันมีความเสี่ยงสูงมาก” หนังสือเตือนระบุไว้ พร้อมกับบอกด้วยว่า “มันเป็นเรื่องยากแม้กระทั่งจะทราบปริมาณของตราสารอนุพันธ์ความเสี่ยงสูงที่ถูกซื้อขายหมุนเวียนอยู่ในตลาด”

ความเสี่ยงจากผู้มีส่วนร่วมอาจทวีความซับซ้อน กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้ว การซื้อขาย CDS หนึ่งๆ นั้น เฮดจ์ฟันด์รายหนึ่งจะขายความคุ้มครองให้แก่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง แล้วสถาบันการเงินดังกล่าวมักนำสัญญา CDS นั้นไปขายต่อแก่อีกสถาบันการเงินหนึ่ง แล้วตราสารดังกล่าวก็จะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ไปจนรอบวง ขณะเดียวกัน กระบวนการทำข้อตกลงทำนองนี้ก็เกิดขึ้นในรายอื่นๆ ทั่วตลาด จนกระทั่งกลายเป็นการกระจุกตัวของความเสี่ยงขนาดมหึมา ในเรื่องนี้ เทรดเดอร์ด้านตราสารอนุพันธ์บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเคยขยายภาพไว้ว่า

ความเสี่ยงจะเคลื่อนตัวไปทั่วๆ รอบแล้วรอบเล่าอยู่ในห่วงโซ่นี้ประหนึ่งวังน้ำวน โดยจะมีดีลเลอร์แค่สัก 6-10 รายนั่งอยู่ตรงกลางของกระแสหมุนวนนี้ ข้าพเจ้าไม่คิดว่าพวกผู้คุมกฎจะมีข้อมูลเหล่านี้ที่จะทำให้ทราบสถานการณ์ของตลาดได้

พวกเทรดเดอร์ (และกระทั่งพวกแบงก์ที่ทำหน้าที่ดีลเลอร์) ไม่ใช่ว่าจะทราบได้อย่างชัดเจนตลอดเวลาว่า มีอะไรบ้างที่อยู่ในข้อตกลงสัญญาความคุ้มครองของตราสาร CDS เท่าที่ผ่านมา CDSมีสารพัดประเภทนับไม่ถ้วน โดยที่ว่าบางประเภทอาจมีความซับซ้อนอย่างเหลือเกิน ทั้งนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็น CDS ที่คุ้มครองความเสี่ยงของดัชนีหลักทรัพย์และดัชนีหุ้นกู้ อาทิ พวกหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นความคุ้มครองที่ให้ตรงไปที่หนี้สินของบริษัทหนึ่งๆ ตลอดจนตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่บริษัทหนึ่งๆ ไปทำภาระผูกพันไว้

ตลอดเวลาในแต่ละวัน พวกสถาบันการเงินจะอีเมล์ไปหาพวกเฮดจ์ฟันด์ บริษัทประกันภัย และนักลงทุนระดับสถาบันต่างๆ เพื่อเสนอซื้อเสนอขาย เพราะยังไม่มีที่ทำการตลาดกลางที่ภาครัฐอนุญาตให้ดำเนินการ เพื่อเป็นศูนย์การทำธุรกรรมตั้งราคา หรือรับประกันคุ้มครองความเสียหาย ตัวอย่างเช่น ในการหาราคาของสวอปของหนี้บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ นักลงทุนผู้แสนจะเก๋าอยู่ในวงการ ก็อาจต้องไล่หาไปในแต่ละอีเมล์ที่ไหลเข้าไปในแต่ละวัน

**แบงก์ต้องการรักษาความลับ**

ว่าไปแล้ว แบงก์เป็นฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์จากการทำให้ตลาดสวอปขาดความชัดเจน เพราะว่าในฐานะดีลเลอร์แล้ว แบงก์มีปริมาณของธุรกรรมผ่านมือสูงมาก ทำให้แบงก์เป็นฝ่ายได้เปรียบผู้ซื้อและผู้ขายรายอื่นๆ ดังนั้นถ้าลูกค้าไม่จำเป็นต้องทราบว่าตลาดอยู่ ณ จุดใด แบงก์ย่อมสามารถคิดค่าธรรมเนียมและรับส่วนต่างที่กว้างมากขึ้นได้

แบงก์มักพยายามจะสร้างสมดุลย์ให้ตนเองจากความคุ้มครองที่ขายออกไปกับความคุ้มครองที่รับซื้อมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของความเสี่ยงจาก CDS รายบริษัท หรือความเสี่ยงจาก CDS ดัชนี นอกจากนั้น แบงก์ยังมีการสร้างอนุพันธ์สังเคราะห์ ซึ่งเป็นแพคเกจอันประกอบด้วย CDS ที่แบงก์ขายแก่นักลงทุนเพื่อทำให้แบงก์เองมีความคุ้มครอง

แนวคิดของแบงก์คือ การทำกำไรจากแต่ละดีล และหลีกเลี่ยงที่จะแบกความเสี่ยงของสวอปใดๆ ไว้ในมือ ดังที่มีดีลเลอร์รายหนึ่งเฉลยความลับไว้ว่า “ดีลเลอร์ก็เหมือนคนเดินโพย คือคนเดินโพยจะไม่เข้าไปถือเดิมพันเอง คนเดินโพยจะทำหน้าที่แต่เฉพาะแค่การสร้างสมดุลย์แก่โพยที่ตนรับผิดชอบ และนั่นแหละที่ทำให้คนเดินโพยถูกเรียกว่านักเดินโพย มิใช่นักการพนัน”

บัดนี้ที่ระบบเศรษฐกิจกำลังหดตัว และการล้มละลายแผ่ลามไปทั่วสหรัฐฯและดินแดนอื่นๆ มีความเป็นไปได้สูงที่ฝ่ายต่างๆ จำนวนมากมายที่ซื้อสวอปเพื่อรับความคุ้มครอง จะถึงทางตันของการดำเนินคดีเรียกร้องการชดใช้หนี้ และหันมาหวังรับการชดเชยความเสียหายจากผู้ขายสวอป แต่ถ้าขนาดของความจำเป็นเช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างมหาศาล ความสามารถของผู้ขายสวอปอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับได้ ยิ่งถ้าการล้มละลายเกิดกระจายขึ้นทั่วไปในตลาดการเงิน ฝ่ายต่างๆ ย่อมต้องงัดวิชามารสารพัดประเภทขึ้นมาใช้เพื่อเอาตัวรอด

เมื่อปีที่แล้ว ตลาด Chicago Mercantile Exchange ได้จัดตั้งตลาดเพื่อการซื้อขาย CDS แบบที่เปิดทางให้ทางการระดับประเทศเข้าไปตั้งกฎควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม นับถึงปัจจุบันแล้ว ตลาดดังกล่าวนี้ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังถูกคว่ำบาตรโดยพวกแบงก์ ซึ่งพอใจที่จะให้การซื้อขายเป็นไปแบบเดิม

เอฟ วิลเลียม อิงดาห์ล เขียนหนังสือเรื่อง A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order (หนึ่งศตวรรษแห่งการสู้รบระหว่างการเมืองน้ำมันแองโกล-อเมริกันและระเบียบโลกใหม่) โดยสำนักพิมพ์พลูโต เพรส
อ่านงานของเอฟ วิลเลียม เองดาห์ล เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของเขาคือ www.engdahl.oilgeopolitics.net


ชี้ตลาดตราสารค้ำหนี้เน่าจวนวิกฤต-พาพังทั่วโลก (ตอนแรก)

  • ชี้ตลาดตราสารค้ำหนี้เน่าจวนวิกฤต-พาพังทั่วโลก(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น