xs
xsm
sm
md
lg

จีน-เวียดนามแข่งอิทธิพลกันในลาว (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China and Vietnam square off in Laos
By Brian McCartan
29/08/2008

การที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในลาว ย่อมส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์อันยาวนานที่ลาวมีอยู่กับเวียดนาม โดยที่ทั้งจีนและเวียดนามต่างกำลังจับจ้องกันตาเยิ้ม ต่อทรัพยากรธรรมชาติและพลังน้ำของลาว ซึ่งนอกจากมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์แล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกแตะต้องกล้ำกราย เท่าที่ผ่านมา เวียงจันทน์ยังคงได้รับผลดี ด้วยการสร้างความสมดุลจากการรุกคืบของเพื่อนบ้านทั้งสองรายนี้

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอน1)

ตรงกันข้าม จีนเพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นปกติกับลาวในปี 1988 ทว่าในขณะนี้ก็กำลังเร่งความเร็วเพื่อชดเชยเวลาที่สูญเสียไป จีนสามารถเพิ่มอิทธิพลบารมีในลาวขึ้นมาได้อย่างใหญ่โตกว้างขวาง จากการเข้ากอบกู้ประเทศนี้ให้จนพ้นอันตรายของวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 ด้วยการเพิ่มทั้งความช่วยเหลือ, การลงทุน, และการค้า มาตรการให้การอุดหนุนอย่างใจกว้างแก่การส่งออกของลาว ตลอดจนการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ได้ช่วยทำให้ค่าเงินกีบของลาวที่เสื่อมทรุดฮวบฮาบกลับมีเสถียรภาพขึ้นมา

หลังจากนั้นก็ได้มีการลงนามข้อตกลงทวิภาคีฉบับต่างๆ อีกเป็นชุด โดยครอบคลุมทั้งด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคนิค, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ตลอดจนการลงทุนและการธนาคาร ในปี 2000 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินเดินทางไปเยือนลาว ซึ่งนับเป็นการเยือนประเทศนี้ครั้งแรกของประมุขแห่งรัฐของจีน อีกทั้งเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยียนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประเทศทั้งสอง ตามรายงานของสื่อมวลชนจีน เมื่อปี 2003 ปักกิ่งได้ยกหนี้ที่ลาวติดค้างอยู่เป็นจำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์

ความสนใจของจีนที่มีต่อลาวนั้นที่สำคัญแล้วเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการที่ลาวเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นช่องทางลำเลียงขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมของตนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักลงทุนของจีนมีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อนหลายๆ แห่งที่กำลังสร้างกันอยู่ในลาว รวมทั้งที่อยู่ในขั้นวางแผนก็ยังมีอีกหลายโครงการ เรื่องเหมืองแร่ก็เป็นพื้นที่การลงทุนที่สำคัญเช่นกัน โดยที่ลาวได้ให้สัมปทานแก่นักลงทุนจีนไปแล้วทั้งด้านการทำเหมืองทอง, ทองแดง, เหล็ก, โปแตสเซียม, และบอกไซต์

กิจการเกษตรกรรมเพื่อการพาณิชย์ก็เหมือนกัน จีนได้ทำการลงทุนไปมากทีเดียวในการผลิตข้าวโพด, มันสำปะหลัง, อ้อย, และยางพารา ในพื้นที่ตอนเหนือของลาว เพื่อการส่งออกกลับไปแดนมังกร ยง จันทะลังสี โฆษกรัฐบาลลาวชี้ว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ , เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ, ตลอดจนตลาดใหม่ๆ ที่การลงทุนของจีนเอาเข้ามา “ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันกระเตื้องดีขึ้น และการเปิดแขวง (ทางภาคเหนือ) 6 แขวงเหล่านี้ให้แก่จีน เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในทันที”

การค้าสองทางเวลานี้มีมูลค่าอยู่ในระดับ 249 ล้านดอลลาร์ในปี 2007 แต่ก็ทำนองเดียวกับเวียดนาม ฝ่ายจีนแสดงความหวังว่าการซื้อขายแบบทวิภาคีจะพุ่งทะลุระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า ตามข้อมูลของคณะกรรมการเพื่อการวางแผนและการลงทุนของลาวนั้น การลงทุนโดยตรงจากจีนมีมูลค่ารวม 1,100 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนสิงหาคม 2007 ซึ่งตัวเลขนี้จะทำให้จีนยังคงเป็นนักลงทุนใหญ่อันดับสองในลาว รองลงมาจากไทย

ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีนเยือนกรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในจังหวะเวลาเดียวกับที่เขาเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอยู่แล้ว ทั้งสองประเทศได้ลงนามกันในข้อตกลงรวม 7 ฉบับ ซึ่งมีตั้งแต่ข้อตกลงทางด้านเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, พลังงาน, และ โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภาครัฐ (e-governance) จีนยังเสนอให้สินเชื่อเพื่อซื้อยวดยานและเฮลิคอปเตอร์จากแดนมังกรเป็นมูลค่า 100 ล้านดลอลาร์ นอกจากนั้นยังมีเงินกู้จากจีนเพื่อช่วยเหลือการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ลาว เทเลคอม คอมปานี และ ลาว เอเชีย เทเลคอม, การจัดตั้งโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐบาล, ตลอดจนการซื้อเครื่องบินให้แก่สายการบิน ลาว เอวิเอชั่น

จีนนั้นให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่การพัฒนาเครือข่ายถนนที่กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วในภาคเหนือของลาว การซ่อมแซมบูรณะเส้นทางหมายเลข 3 ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองจิ่งหง ในมณฑลหยุนหนาน (ยุนนาน) ของจีน ผ่านดินแดนลาวไปจนถึงเมืองห้วยซาย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของไทย ได้สร็จสิ้นแล้วเมื่อต้นปีนี้ ขณะที่การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (ซึ่งจีนเป็นผู้ออกเงินทุน) เพื่อให้เส้นทางนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบก็คาดหมายกนว่าจะเริ่มได้ในปลายปีนี้ โครงการบูรณะถนนสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion’s North-South Corridor) ที่เชื่อมต่อจีน, ลาว, และไทย จีนวาดหวังว่าเส้นทางสายนี้จะทำให้ตนเองสามารถขนส่งสินค้าผ่านไทยไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้มีทางต่อเชื่อมกับท่าเรือริมทะเลของไทยมากขึ้นด้วย

**อำนาจแบบอ่อนและอำนาจแบบแข็ง**

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการลงทุนของจีนทั้งหมดจะเป็นไปเพื่อการพาณิชย์ล้วนๆ ทั้งนี้ได้มีการใช้ความพยายามตลอดจนเงินทองจำนวนมากมายทีเดียว ไปในโครงการที่เป็นการสร้าง “อำนาจอิทธิพลแบบอ่อน” อาทิ การที่ปักกิ่งให้เงินสนับสนุนการก่อสร้าง “หอวัฒนธรรมแห่งชาติ” ของลาวมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์, ถนน Central Avenue ความยาว 13 กิโลเมตร, การบูรณะอนุสาวรีย์ปะตูไซ และสวนรอบๆ ในกรุงเวียงจันทน์ นอกจากนี้แดนมังกรยังสร้างโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ลาว ขึ้นที่ชานเมืองหลวงพระบาง นครหลวงเก่าที่เวลานี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ยิ่งกว่านั้น จำนวนผู้ปฏิบัติงานของพรรค พปปล.ที่ไปรับการฝึกอบรมและเข้าร่วมการสัมมนาในจีนก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจำนวนมากทีเดียวไปที่เมืองคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลหยุนหนาน ขณะเดียวกัน ก็มีทุนการศึกษาจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่ให้แก่นักศึกษาลาวเพื่อไปเรียนในแดนมังกร

สิ่งที่สำคัญมากก็คือ จากสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ จีนได้เติมต่อดำเนินโครงการริเริ่มยุทธศาสตร์ต่อลาว ซึ่งบางคนเห็นว่าอาจจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อฐานะของเวียดนาม โดยเมื่อเร็วๆ นี้จีนได้เพิ่มการติดต่อระหว่างกองทัพปลดปล่อยประชาชนลาว กับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ขณะที่จำนวนนายทหารลาวที่ไปรับการฝึกอบรมในจีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ตามการศึกษาของนักวิเคราะห์หลายราย งบประมาณทางการทหารของลาวได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา และไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลลาวย่อมตระหนักดีว่า จากการที่จีนมีอุตสาหกรรมด้านอาวุธขนาดมหึมา รวมทั้งปักกิ่งก็สาธิตให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะแลกเปลี่ยนอาวุธยุทธภัณฑ์กับสัมปทานผลประโยชน์ทางการพาณิชย์ จึงย่อมเป็นการดีกว่าที่จะดำเนินการปรับปรุงกองทัพของตนให้ทันสมัย โดยอาศัยการมีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน แทนที่จะเป็นเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกๆ คนหรอกที่เป็นสุขกับบทบาทที่เพิ่มพูนขึ้นมาของจีน ขณะที่ชาวลาวจำนวนมากยินดีที่จะได้ใช้สินค้าอุตสาหกรรมของจีนที่มีราคาถูกกว่าของประเทศอื่นๆ พวกเขาก็ใช่ว่าจะกระตือรือร้นเสมอไปต่อสิ่งที่บางคนเห็นว่า คือการไหลทะลักเข้ามามากขึ้นทุกทีของผู้อพยพชาวจีน ตลอดจนการที่จีนกำลังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในรัฐบาลลาว ความหวาดกลัวของคนลาวต่อ “การรุกราน” เข้ามาทีละน้อยๆ ของคนจีน บางทีอาจจะมีการแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนที่สุด จากเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อการที่รัฐบาลประกาศให้สิทธิทำประโยชน์ในที่ดินผืนใหญ่ที่บริเวณใกล้ๆ วัดธาตุหลวง อันศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเวียงจันทน์ แก่กลุ่มนักลงทุนชาวจีน

ขณะที่การให้สิทธิใช้ที่ดินดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ฝ่ายจีนจะก่อสร้างศูนย์สนามกีฬาอันสมบูรณ์และทันสมัยแห่งใหม่ เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปี 2009 ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ก็ดูจะสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่ใครบางคนภายในพรรค พปปล. ที่ไม่ได้มีส่วนรับรู้การทำข้อตกลงคราวนี้ และถึงแม้รัฐบาลจะได้ใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อกำจัดข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันก็ยังคงมีลือกันอยู่เรือยๆ ไม่หยุดหย่อน

ครั้งหนึ่งอดีตประธานาธิบดี ไกสอน พมวิหาน ของลาว เคยกล่าวไว้ว่า “ภูเขาอาจถล่มทลาย สายน้ำอาจเหือดแห้ง แต่ความสัมพันธ์ลาว-เวียดนามจะมั่นยืนตลอดกาล” นี่อาจจะเป็นความจริง สืบเนื่องจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์พอๆ กับทางประวัติศาสตร์ ทว่าการแข่งขันระหว่างจีนกับเวียดนามเพื่อมีอิทธิพลในลาว ก็กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น และจวบจนถึงเวลานี้ ลาวยังคงได้รับประโยชน์อย่างงดงามทีเดียว ด้วยการสร้างความสมดุลจากการรุกคืบของเพื่อนบ้านทั้งสองรายนี้

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ อาจสามารถติดต่อเขาได้ทาง brian@comcast.com

  • จีน-เวียดนามแข่งอิทธิพลกันในลาว (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น