xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันแพงระยับเย้ยหยันความเป็นจริง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Oil price mocks fuel realities
By F William Engdahl
23/05/2008

สาเหตุประการสำคัญๆ ซึ่งถูกใช้มากล่าวโทษว่า ทำให้ราคาน้ำมันทะยานลิ่ว จนกำลังอยู่ในระดับร่วมสองเท่าตัวของเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว มักเป็นเรื่องอุปสงค์ความต้องการใช้จากจีนและอินเดีย, อุปทานน้ำมันที่จะสนองให้ตลาดกำลังอยู่ในภาวะตึงตัว, ความหวาดหวั่นเกี่ยวกับการก่อการร้าย, และอื่นๆ ทว่าแท้ที่จริงแล้ว พวกผู้ร้ายตัวจริงกลับอยู่ใกล้ๆ บ้านของผู้บริโภคชาวอเมริกายิ่งกว่านั้นมาก นั่นคือตามสำนักงานของพวกธนาคารและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งได้ช่วยกันสร้างราคาจนสุดฤทธิ์เพื่อผลประโยชน์ดอกผลของพวกเขาเอง

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอน1)

**ถ้ายังงั้นทำไมราคายังขยับขึ้นไปอีก ?**

มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ฟองสบู่แห่งการเก็งกำไรในราคาน้ำมันช่วงหลังๆ มานี้ ซึ่งอยู่ในสภาพทะยานโด่งขึ้นไปเหมือนไม่ยอมสิ้นสุดนับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมานั้น กำลังจะถึงจุดแตกดังโพละแล้ว ตอนปลายเดือนที่ผ่านมา ณ เมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส สมาคมนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมอเมริกัน (American Association of Petroleum Geologists) ได้จัดการประชุมประจำปีขึ้น โดยที่พวกผู้บริหารและนักธรณีวิทยาคนสำคัญๆ ในแวดวงน้ำมันต่างก็เข้าร่วม ตามคำบอกเล่าของผู้ร่วมประชุมรายหนึ่ง พวกซีอีโอในอุตสาหกรรมน้ำมันที่มีความรอบรู้เป็นอย่างดี ต่างมีความเห็นต้องตรงกันว่า “ราคาน้ำมันน่าจะตกพรวดพราดลงมาในเร็ววันนี้ และการเพิ่มขึ้นของราคาในระยะยาวจะไปอยู่ที่แก๊สธรรมชาติ”

เพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจแห่งวอลล์สตรีทรายหนึ่ง ก็ได้ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่อยู่ในระดับฟองสบู่ กำลังจะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 24 เมษายน ได้รายงานคำพูดของ ไมเคิล วอลดรอน หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านน้ำมันของเลห์แมนบราเธอร์ส ที่กล่าวว่า “อุปทานน้ำมันกำลังเพิ่มขึ้นด้วยฝีก้าวรวดเร็วกว่าอัตราขยายตัวของอุปสงค์ น้ำมันตามคลังเก็บต่างๆ กำลังเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของปีนี้”

ในสหรัฐฯนั้น น้ำมันตามคลังเก็บต่างๆ ได้ขยับขึ้นไปร่วมๆ 12 ล้านบาร์เรลในเดือนเมษายน ทั้งนี้ตามรายงานประจำเดือนว่าด้วยปริมาณน้ำมันตามคลังเก็บของอีไอเอฉบับ 7 พฤษภาคม และสูงขึ้นเกือบ 33 ล้านบาร์เรลหากนับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ขณะเดียวกัน รายงานว่าด้วยน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯของมาสเตอร์การ์ด ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม ก็แสดงให้เห็นว่า อุปสงค์ในน้ำมันเบนซินได้ลดลงมา 5.8% ทางฝ่ายโรงกลั่นก็กำลังลดอัตราการกลั่นของพวกเขาลงอย่างฮวบฮาบ เพื่อปรับให้เข้ากับอุปสงค์เบนซินที่ทรุดต่ำ เวลานี้พวกเขากำลังเดินเครื่องในระดับ 85% ของศักยภาพการผลิต ลดจากระดับ 89% ของเมื่อหนึ่งปีก่อน ในช่วงฤดูกาลของปีที่ปกติแล้วการผลิตจะอยู่ในระดับ 95% เห็นได้ชัดว่าเวลานี้พวกโรงกลั่นกำลังพยายามลดน้ำมันเบนซินตามคลังเก็บให้ต่ำลงมา เพื่อจะได้ดันราคาเบนซินให้สูงขึ้น “มันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ไอ้โง่เอ้ย” (It’s the economic, stupid) นั่นเป็นวลีฉาวโฉ่ที่ บิล คลินตัน ปล่อยออกมาเล่นงานบุชผู้พ่อเมื่อตอนรณรงค์หาเสียงปี 1992 แต่สำหรับในตอนนี้มันคงต้องเรียกว่า เศรษฐกิจในภาวะถดถอย

รายงานในวันที่ 8 พฤษภาคมจาก “ออยล์ มูฟเมนต์ส” บริษัทอังกฤษที่คอยติดตามการขนส่งน้ำมันทางเรือทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า น้ำมันที่อยู่ระหว่างการขนส่งกลางทะเลหลวงก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยการขนส่งทางเรือแทบจะทุกประเภททีเดียวกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อหนึ่งปีก่อน รายงานฉบับนี้ชี้ว่า “ในโลกตะวันตก สต็อกน้ำมันใดๆ ก็ตามที่สั่งสมเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ จำนวนมากอักโขไปปรากฏอยู่กลางทะเล ไม่มีใครพบเห็น” บุคคลวงในของอุตสาหกรรมนี้บางคนบอกว่า อุตสาหกรรมน้ำมันของโลก ไล่ตั้งแต่เรื่องกิจกรรมความเคลื่อนไหวและสต็อกน้ำมันของพวกบิ๊กโฟร์ ไปจนถึงสภาพแท้จริงของพวกเรือบรรทุกน้ำมัน และคลังเก็บ ตลอดจนการสูบน้ำมันขึ้นมา ต้องจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปกปิดซ่อนเร้นกันมากที่สุดในโลก โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะสู้ไม่ได้ก็เฉพาะวงการค้ายาเสพติดเท่านั้น

**โกลด์แมนแซคส์อีกแล้วที่เป็นผู้สร้างกระแส**

ไม่เหมือนกับเมื่อ 20 ปีก่อนอีกแล้ว ราคาน้ำมันในทุกวันนี้กำหนดตัดสินใจกันเบื้องหลังประตูที่ปิดสนิทในห้องค้าของพวกสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่างเช่น โกลแมนด์แซคส์, มอร์แกนสแตนลีย์, เจพีมอร์แกนเชส, ซิตี้กรุ๊ป, ดอยช์แบงก์, ตลอดจน ยูบีเอส ตลาดแห่งสำคัญที่สุดในเกมนี้คือไอซีอี ฟิวเจอร์ส เอ็กซเชนจ์ (ICE Futures Exchange) แห่งลอนดอน (เดิมใช้ชื่อว่า อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เอ็กซเชนจ์ International Petroleum Exchange) ไอซีอี ฟิวเจอร์ส นี้เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัท อินเตอร์คอนติเนนตัลเอ็กซเชนจ์ (IntercontinentalExchange หรือ ICE) เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย โดยที่ ไอซีอี ในแอตแลนตา ผู้ที่ร่วมก่อตั้งด้วยส่วนหนึ่งก็คือ โกลด์แมนแซคส์ แล้วก็ปรากฏว่าโกลด์แมนแซคส์นี่เอง คือผู้ดำเนินการดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นที่นิยมอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก ได้แก่ ดัชนี จีเอสซีไอ ที่วิธีคำนวณจะให้น้ำหนักมากๆ แก่พวกราคาน้ำมัน

ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้ไว้ในบทความชิ้นก่อนของข้าพเจ้า ไอซีอีได้กลายเป็นจุดสนใจของการไต่สวนของรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทแห่งนี้ถูกระบุชื่อทั้งในรายงานของคณะเจ้าหน้าที่ทำงานในคณะอนุกรรมการถาวรด้านการสอบสวนของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2007 และทั้งในการไต่สวนของคณะกรรมาธิการการพลังงานและการพาณิชย์แห่งสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม 2007 ซึ่งมุ่งศึกษาพิจารณาเรื่องการซื้อขายแบบไร้ระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลของตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สทางด้านพลังงาน

การศึกษาทั้งสองครั้งมีข้อสรุปว่า ราคาพลังงานที่ไต่ขึ้นถึงระดับ 128 ดอลลาร์และกว่านั้น มาจากแรงขับดันของสัญญาอนุพันธ์ฟิวเจอร์สน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งกำลังซื้อขายกันผ่านไอซีอี จากการอำนวยความสะดวกของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ด้วยการยกเว้นให้ไม่ต้องทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ปกติตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2006 การซื้อขายตราสารฟิวเจอร์สพลังงาน ของทางตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส จึงไม่ได้ถูกกำกับตรวจสอบโดย คณะกรรมการการซื้อขายตราสารฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Futures Trading Commission หรือ CFTC) ถึงแม้ว่าสัญญาตราสารอนุพันธ์น้ำมันสหรัฐฯ ของ ไอซีอี ฟิวเจอร์ส กำลังซื้อขายกันอยู่ในบรรดาบริษัทในเครือของไอซีอี ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯแท้ๆ นอกจากนั้นด้วยการขอร้องของบริษัทเอนรอนในอดีต ซีเอฟทีซีก็ได้ยกเว้นไม่ได้ดูแลการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สแบบโอเวอร์-เดอะ-เคาน์เตอร์ ตั้งแต่ปี 2000

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่จะได้เห็นรายงานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ว่า โกลด์แมนแซคส์ประกาศว่า อันที่จริงแล้วน้ำมันกำลังย่างเข้าสู่ ภาวะ“ซูเปอร์สไปก์” (super spike การพุ่งขึ้นไปโด่งลิ่วและถอยตกลงมาอย่างแรง) ระลอกใหม่ โดยเป็นไปได้ว่ากำลังพาให้น้ำมันขึ้นสูงถึงระดับ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในเวลา 6 ถึง 24 เดือนข้างหน้า วลีพาดหัวที่มีคำว่า “$200ต่อบาร์เรล”ของรายงานข่าวชิ้นนี้ ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในเรื่องน้ำมันตลอดช่วงสองวันถัดจากนั้น ก็ไม่ทราบว่ามีผู้คนที่ถูกหลอกง่ายจำนวนสักเท่าไหร่กันที่ควักเงินของพวกเขาวางเป็นเดิมพันเล่นตามกระแสข่าวชิ้นนี้

อาร์จุน มูรติ นักยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของโกลด์แมนแซคส์ อ้างเหตุผลสนับสนุนการประกาศของเขา โดยกล่าวโทษสิ่งที่เขาเรียกว่า อุปสงค์แบบ “เป็นแผลพุพองสร้างความเจ็บปวด” (ช่างใช้ถ้อยคำได้น่ารังเกียจอะไรอย่างนี้) จากประเทศจีนและตะวันออกกลาง พร้อมกับผสมผสานการยืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจของเขาที่ว่า ตะวันออกกลางกำลังใกล้ถึงจุดสูงสุดแห่งความสามารถที่จะผลิตน้ำมันให้เพิ่มขึ้นได้อีก มายาภาพเกี่ยวกับ “peak oil” อีกแล้วที่ถูกนำมาช่วยวอลล์สตรีท ระดับของการสร้างเรื่องให้แตกตื่นอย่างชนิดไม่มีข้อเท็จจริงรองรับคราวนี้ ชวนให้เราหวนระลึกถึงการสร้างเรื่องแตกตื่นแบบสร้างเองหลงเชื่อเองของวอลล์สตรีทในปี 1999-2000 ในเรื่องเกี่ยวกับหุ้นของพวกบริษัทดอตคอม ตลอดจนบริษัทเอนรอน

ในปี 2001 ไม่นานนักก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะพังพาบด้วยการที่ราคาหุ้นพวกบริษัทดอตคอมในตลาดแนสแดค ดำดิ่งหล่นพื้นกันเป็นแถบๆ นั้น พวกบริษัทวอลล์สตรีทก็กำลังเร่งขายประดาหุ้นซึ่งพวกเขากำลังแอบเทออกมาอย่างเงียบๆ ให้แก่สาธารณชนผู้หลงเชื่อคนง่าย หรือไม่เช่นนั้น บริษัทพวกนี้ก็กำลังปล่อยขายหุ้นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยไปให้แก่บริษัทอื่นๆ ที่สถาบันการเงินในเครือของพวกเขามีผลประโยชน์ทางการเงินอยู่ กล่าวโดยสรุป ก็เหมือนกับที่ปรากฏในรายงานการสอบสวนของทางรัฐสภาในเวลาต่อมา นั่นคือ พวกบริษัทที่มีผลประโยชน์อันเหนียวแน่นจากการดำเนินการทางการเงินในบางรูปแบบ ได้ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการทำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง และปล่อยให้นักลงทุนทั่วไปแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมา

จะเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ถ้ารัฐสภาสหรัฐฯออกหมายเรียกขอดูหลักฐานบันทึกการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สของโกลด์แมนแซคส์ ตลอดจนเพลเยอร์ตราสารฟิวเจอร์สพลังงานรายใหญ่อื่นๆ อีกสักหยิบมือหนึ่ง เพื่อตรวจสอบว่าพวกเขาไปลงทุนไว้เพื่อให้ได้ดอกผลจากการที่น้ำมันขยับขึ้นต่อไปจนถึงระดับ 200 ดอลลาร์หรือไม่ โดยต้องไม่ลืมว่า พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ตลอดจนธนาคารและสถาบันการเงิน สามารถที่จะซื้อฟิวเจอร์สน้ำมันได้ ด้วยวิธีเพิ่มอำนาจเม็ดเงินในอัตราส่วน 16 ต่อ 1 ทีเดียว

เรากำลังถูกกระหน่ำโจมตีด้วยเหตุผลข้ออ้างมากมายเป็นชุดๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ในเรื่องที่ว่าการที่ราคาน้ำมันสูงลิ่วนั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล อาทิ “ค่าธรรมเนียมพิเศษจากความเสี่ยงที่อาจเกิดการโจมตีของผู้ก่อการร้าย”, การไต่สูงขึ้นแบบ “เป็นแผลพุพองสร้างความเจ็บปวด” ในอุปสงค์ของจีนและอินเดีย, ความไม่สงบในเขตน้ำมันของไนจีเรีย, การระเบิดท่อน้ำมันในอิรัก, ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกับอิหร่าน... และเหนือสิ่งอื่นใดเลย ก็คือ เรื่องตื่นตูมเกี่ยวกับ “peak oil” มีรายงานว่า ที บูน พิกเคนส์ นักปั่นราคาน้ำมัน สามารถทำกำไรได้ก้อนมหึมาจากตราสารฟิวเจอร์สน้ำมัน แล้วยังอ้างเหตุผลได้แบบคล่องปากว่า โลกเรากำลังอยู่ที่ปลายแหลมของ “peak oil” เช่นเดียวกับ แมตต์ ซิมมอนส์ วาณิชธนกรแห่งเมืองฮิวสตัน ผู้เป็นเพื่อนมิตรของรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์

ดังที่ได้ชี้กันเอาไว้ในรายงานเรื่อง “บทบาทของการเก็งกำไรในตลาดต่อการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันและแก๊ส” (The Role of Market Speculation in Rising Oil and Gas Prices) ของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อเดือนมิถุนายน 2006 “มีผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์อยู่สองสามคนที่ตรงนั้น ผู้ซึ่งมีฝีมือเก่งกาจทราบวิธีในการหาประโยชน์จากพวกทฤษฎี peak oil และในการกระตุ้นปฏิกิริยาอันรุนแรงจากเรื่องอุปทานและอุปสงค์ และด้วยการออกคำทำนายแสนห้าวหาญเกี่ยวกับราคาอันน่าตื่นตระหนกที่กำลังจะมาถึง พวกเขาก็เพียงแต่กำลังเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในกองเพลิงที่โหมแรงอยู่แล้ว ในลักษณะของคำพยากรณ์ที่กลายเป็นความจริงขึ้นมาก็เพราะพากันคาดหมายว่าจะต้องเป็นไปเช่นนั้น”

รัฐสภาที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากอยู่จะปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงตลาดตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สน้ำมันอันไม่โปร่งใสและจัดวางกลเม็ดต่างๆ เอาไว้อย่างแนบเนียน ในปีแห่งการหาเสียงเลือกตั้งเช่นปีนี้ และเสี่ยงต่อการที่จะทำให้ฟองสบู่แตกระเบิดออกมาหรือไม่ ? เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม คระกรรมาธิการการพลังงานและการพาณิชย์แห่งสภาผู้แทนราษฎร ประกาศออกมาแล้วว่า จะไต่สวนประเด็นนี้กันในเดือนมิถุนายน

เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order” (สำนักพิมพ์ PlutoPress) และเรื่อง “Seeds of Destruction: The Hidden Agenda of Genetic Manipulation” (สำนักพิมพ์ Global Research สามารถสั่งซื้อได้ที่ www.globalresearch.ca)

  • ราคาน้ำมันแพงระยับเย้ยหยันความเป็นจริง (ตอนแรก)
  • ‘นักเก็งกำไร’น็อก‘โอเปก’ตกลงจากเวทีกำหนดราคาน้ำมัน (ตอนแรก)
  • นักเก็งกำไร’น็อก‘โอเปก’ตกลงจากเวทีกำหนดราคาน้ำมัน (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น