xs
xsm
sm
md
lg

‘นักเก็งกำไร’ น็อก ‘โอเปก’ ตกลงจากเวทีกำหนดราคาน้ำมัน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.comX

Speculators Knock OPEC off oil-price perch
By F William Engdahl
05/05/2008

ราคาน้ำมันที่เพิ่มพรวดขึ้นมาในเวลานี้ ส่วนใหญ่ทีเดียวไม่ได้เป็นผลจากปัญหาด้านอุปทาน หากแต่เป็นผลจากกิจกรรมเก็งกำไรของพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์และอื่นๆ ที่มุ่งแต่หาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในราคาของมันเท่านั้น โดยไม่ได้มีการใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้โดยตรงเลย ทั้งนี้ ประตูเปิดสู่การซื้อขายที่กำลังอยู่ในสภาพไร้ระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลเช่นนี้ ได้ถูกถ่างกว้างขึ้นอีกมาก ภายใต้คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

ราคาของน้ำมันดิบทุกวันนี้ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมา โดยอิงตามหลักความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ของการสนองอุปทานสินค้าให้แก่อุปสงค์ความต้องการใช้ หากแต่ถูกควบคุมด้วยระบบตลาดการเงินอันละเอียดซับซ้อน และโดยพวกบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษรายยักษ์ใหญ่ 4 ราย ประมาณ 60% ของราคาน้ำมันดิบในเวลานี้ทีเดียว เป็นผลของการเก็งกำไรล้วนๆ ด้วยฝีมือของประดาเทรดเดอร์ ซึ่งเป็นธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ตลอดจนพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ มันไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับมายาภาพว่าด้วย “peak oil” (แนวความคิดที่อ้างว่า การผลิตน้ำมันกำลังมาถึงจุดที่น้ำมันดิบสำรองทั้งหมดได้ถูกใช้หมดไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง และช่วงระยะเวลาที่โลกมีน้ำมันราคาถูกตลอดจนมีปริมาณอย่างอุดมล้นเหลือก็กำลังหมดสิ้นลงไปแล้ว) ที่ถูกเอ่ยอ้างเอาตามใจชอบอยู่เรื่อย หากแต่มันเกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำมันและราคาของน้ำมันต่างหาก

พวกเขาทำเรื่องเช่นนี้กันอย่างไร?>

ประการแรก บทบาทของตลาดน้ำมันระหว่างประเทศในลอนดอนและนิวยอร์ก คือสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดขั้นเป็นตายสำหรับเกมนี้ ตลาดไนเม็กซ์ (Nymex) ในนิวยอร์ก และ ตลาด อินเตอร์คอนติเนนตัล เอ็กซเชนจ์ (ไอซีอี) ฟิวเจอร์ส (Intercontinental Exchange (ICE) Futures)ในลอนดอน เวลานี้เป็นผู้ควบคุมราคาน้ำมันชนิดที่ถือเป็นมาตรวัดราคาน้ำมันของทั่วโลก และด้วยเหตุดังนั้น ตลาดสองแห่งนี้จึงมีอิทธิพลในการกำหนดราคาสินค้าน้ำมันที่ซื้อขายกันอย่างเสรีแทบทั้งหมดไปด้วย พวกเขาทำเช่นนี้ได้โดยอาศัยสัญญาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์ส (futures) ของน้ำมันดิบ 2 ชนิด นั่นคือ เวสต์ เทกซัส อินเตอร์มิเดียต (West Texas Intermediate หรือ WTI ในระยะหลายปีหลังๆ มานี้ ยังรู้จักกันในชื่อว่า light sweet crude, light crude –ผู้แปล) และ นอร์ท ซี เบรนต์ (North Sea Brent)

สำหรับตลาดตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สน้ำมันแห่งที่สามซึ่งเป็นตลาดค่อนข้างใหม่ นั่นคือ ตลาด ดูไบ เมอร์แคนไทล์ เอ็กซเชนจ์ (Dubai Mercantile Exchange หรือ DME) ซื้อขายน้ำมันดิบชนิดดูไบ (Dubai) ตลาดแห่งนี้พอจะเรียกได้ว่าเป็นลูกสาวของไนเม็กซ์ โดยที่ เจมส์ นิวซัม ประธานกรรมการบริหารของไนเม็กซ์ นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของ ดีเอ็มอี ส่วนพวกบุคลากรหลักๆ คนสำคัญที่สุด ก็ล้วนเป็นพลเมืองอังกฤษหรือไม่ก็อเมริกัน

ในสัญญาซื้อขายทั้งแบบส่งมอบทันทีและแบบระยะยาวต่างๆ จำนวนมาก เบรนต์มักถูกระบุให้ใช้เป็นตัวอ้างอิง เพื่อกำหนดราคาของน้ำมันดิบชนิดอื่นๆ ที่ถูกผลิตส่งเข้ามายังตลาดน้ำมันต่างๆ ทั่วโลกในแต่ละวัน ราคาของเบรนต์ได้รับการเผยแพร่โดยวารสารวงการอุตสาหกรรมน้ำมันที่ชื่อ “แพลตส์” (Platt’s)

พวกประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ๆ อาทิ รัสเซีย และ ไนจีเรีย ใช้เบรนต์เป็นมาตรวัดอ้างอิงในการกำหนดราคาน้ำมันดิบที่พวกเขาผลิตออกมา เบรนต์ถือเป็นน้ำมันดิบผสมชนิดสำคัญที่สุดของตลาดแถบยุโรป และของตลาดแถบเอเชียด้วยในบางระดับ

ส่วนเวสต์ เทกซัส อินเตอร์มิเดียต (WTI)โดยประวัติความเป็นมาแล้ว ต้องถือเป็นน้ำมันดิบผสมของสหรัฐฯมากกว่า ไม่เพียง WTI จะถูกใช้เป็นพื้นฐานสำหรับตราสารฟิวเจอร์น้ำมันซึ่งซื้อขายกันในสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังถือเป็นมาตรวัดตัวหลักของการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯอีกด้วย

**หางที่กำลังแกว่งเรียกหมา**

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ดูดีเรียบร้อยและเป็นทางการ ทว่าวิธีกำหนดราคาน้ำมันในทุกวันนี้แท้ที่จริงแล้วตัดสินกันด้วยกระบวนการที่คลุมเครือเสียจนกระทั่งมีเพียงพวกธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นผู้ซื้อขายน้ำมันรายใหญ่จำนวนหยิบมือเดียว อาทิเช่น โกลด์แมนแซคส์ หรือ มอร์แกนสแตนลีย์ ซึ่งพอจะทราบว่าใครบ้างที่กำลังซื้อและใครบ้างที่กำลังขายตราสารฟิวเจอร์สน้ำมันหรือสัญญาอนุพันธ์อื่นๆ ในโลกใหม่อันแปลกประหลาดของ “น้ำมันกระดาษ” และความเคลื่อนไหวของ “น้ำมันกระดาษ” นั่นแหละ กลายเป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันที่จับต้องใช้เป็นเชื้อเพลิงและอื่นๆ ได้จริงๆ ในปัจจุบัน

จากพัฒนาการของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สน้ำมันในระดับระหว่างประเทศ ตลอดระยะเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา หนทางก็ได้ถูกเปิดออก สำหรับระดับราคาน้ำมันที่ลอยฟ่องละลิ่วเป็นฟองสบู่จากการเก็งกำไร ดังที่กำลังเห็นกันอยู่ในเวลานี้

นับตั้งแต่การปรากฏขึ้นของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สน้ำมัน หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ก็คือ สัญญาฟิวเจอร์น้ำมันของสองตลาดสำคัญในลอนดอนและนิวยอร์ก การควบคุมราคาน้ำมันก็ได้หลุดออกจากมือขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) และไปอยู่ในมือของวอลล์สตรีท นับว่าเป็นกรณีตัวอย่างระดับคลาสสิกของคำพังเพยที่ว่า “หางที่แกว่งเรียกหมา” (tail that wags the dog นั่นคือ ส่วนที่สำคัญน้อยที่สุด กลับกลายเป็นส่วนที่มีอิทธิพลมากมายเหนือส่วนที่สำคัญที่สุด –ผู้แปล)

รายงานว่าด้วย “บทบาทของการเก็งกำไรในตลาดต่อการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันและแก๊ส” (The Role of Market Speculation in Rising Oil and Gas Prices) ของคณะอนุกรรมการถาวรด้านการสอบสวนแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่จัดทำขึ้นในเดือนมิถุนายน 2006 ได้ชี้เอาไว้ว่า “... มีหลักฐานอันแน่นหนาที่สนับสนุนข้อสรุปที่ว่า การเก็งกำไรกันอย่างใหญ่โตมโหฬารในตลาดปัจจุบัน มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น”

สิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการของวุฒิสภาคณะนี้รวบรวมเป็นหลักฐานเอาไว้ในรายงานฉบับนี้ ก็คือช่องโหว่เบ้อเริ่มเทิ่มในระเบียบกฎเกณฑ์กำกับตรวจสอบของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใช้ดูแลการซื้อขายตราสารอนุพันธ์น้ำมัน ซึ่งเป็นช่องโหว่อันใหญ่โตขนาดช้างทั้งโขลงเดินลอดผ่านได้ทีเดียว และนั่นก็ดูจะเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำกันอยู่พอดีเลยในการทำให้ราคาน้ำมันอาละวาดกระโจนพรวดไปจนทะลุหลังคาในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

รายงานของวุฒิสภาฉบับนี้ได้ถูกละเลยไม่ให้ความสนใจทั้งในหมู่สื่อมวลชนและในรัฐสภาอเมริกัน รายงานนี้ชี้ชัดว่า คณะกรรมการการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Futures Trading Commission หรือ CFTC) ที่เป็นหน่วยงานกำกับตรวจสอบตราสารอนุพันนธ์ฟิวเจอร์สทางการเงินทั้งหลายนั้น ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากรัฐสภา ให้ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ราคาต่างๆ ในตลาดฟิวเจอร์สสะท้อนกฎแห่งอุปทานและอุปสงค์ ไม่ใช่เกิดจากวิธีสร้างราคาบงการตลาด หรือการเก็งกำไรจนเกินกว่าจะยอมรับได้ ทั้งนี้ รัฐบัญญัติตลาดสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐฯ (US Commodity Exchange Act หรือ CEA) ระบุไว้ว่า

“การเก็งกำไรจนเกินกว่าจะยอมรับได้ในสินค้าโภคภัณฑ์ใดๆ ภายใต้สัญญาที่จะขายสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวด้วยการส่งมอบในอนาคต ... ซึ่งกำลังเป็นเหตุทำให้เกิดความผันผวนอย่างฉับพลันหรืออย่างไม่มีเหตุผล หรือความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นธรรมในราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว คือภาระอันไม่เป็นธรรมและไม่จำเป็นต่อการพาณิชย์ข้ามมลรัฐในสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว”

ยิ่งกว่านั้น บทบัญญัติของ CEA ยังระบุให้ CFTC ต้องกำหนดขอบเขตข้อจำกัดของการซื้อขายลักษณะเก็งกำไรจนเกินกว่าจะยอมรับได้เช่นนี้ “โดยเมื่อคณะกรรมการตรวจพบ จักต้องทำการลดทอน, กำจัด, หรือป้องกันภาระเช่นว่านั้น” ก็แล้ว CFTC อยู่ที่ไหนในเวลานี้ อันเป็นเวลาที่เราต้องการขอบเขตข้อจำกัดดังกล่าวอยู่ทีเดียว คณะกรรมการชุดนี้ทำตัวเหมือนกับว่าจงใจที่จะเดินผละจากความรับผิดชอบในการกำกับตรวจสอบตามที่ได้รับมอบอำนาจ ในสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดสำคัญที่สุดที่มีการซื้อขายกันของโลก นั่นก็คือ น้ำมัน ดังที่รายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า

“จวบจนกระทั่งก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ตราสารฟิวเจอร์สพลังงานของสหรัฐฯมีซื้อขายกันเฉพาะในตลาดซื้อขายที่มีระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลภายในสหรัฐฯเอง อาทิ ไนเม็กซ์ ซึ่งอยู่ใต้การกำกับตรวจสอบอย่างกว้างขวางครอบคลุมของ CFTC อาทิ มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจจับและป้องกันการบงการตลาดสร้างราคาหรือการฉ้อโกงต่างๆ อย่างไรก็ดี ระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ มีการเติบโตขยายตัวอย่างมหาศาลของสัญญาซื้อขายชนิดที่ดูเหมือนและก็จัดโครงสร้างคล้ายคลึงกับสัญญาตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สเป็นอย่างยิ่ง ทว่าสัญญาเหล่านี้ไปซื้อขายกันอยู่ตามตลาดระบบอิเล็กทรอนิกส์โอทีซี (over the counter) ที่ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแล เนื่องจากความที่ละม้ายเหมือนกับสัญญาฟิวเจอร์ส สัญญาเหล่านี้จึงมักถูกเรียกว่า “สัญญาที่เหมือนๆ กับฟิวเจอร์ส” (futures look-alikes)”

ความแตกต่างกันในทางปฏิบัติเพียงประการเดียว ระหว่างพวกสัญญาที่เหมือนๆ กับฟิวเจอร์ส กับสัญญาฟิวเจอร์ส ก็คือ พวกเหมือนๆ กับฟิวเจอร์ส มีการซื้อขายกันในตลาดที่ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแล ขณะที่ฟิวเจอร์สซื้อขายกันในตลาดที่มีระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแล การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานโดยพวกบริษัทใหญ่ๆ ผ่านตลาดระบบอิเล็กทรอนิกส์โอทีซี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกำกับตรวจสอบโดย CFTC จากมาตราๆ หนึ่งของรัฐบัญญัติการทำให้ตราสารฟิวเจอร์สด้านสินค้าโภคภัณฑ์มีความทันสมัย (Commodity Futures Modernization Act) ปี 2000 โดยมาตราดังกล่าวนี้ได้ถูกแทรกเข้ามาในร่างรัฐบัญญัติ ตามคำร้องขอของบริษัทเอนรอน ตลอดจนเทรดเดอร์ด้านพลังงานรายใหญ่อื่นๆ ในระหว่างชั่วโมงท้ายๆ ของรัฐสภาสหรัฐฯชุดที่ 106

ผลกระทบของการแก้ไขกฎหมายคราวนี้ที่มีต่อการกำกับตรวจสอบตลาดนับว่าใหญ่หลวงมาก ตัวอย่างเช่น พวกเทรดเดอร์ในไนเม็กซ์ จะต้องเก็บบันทึกการซื้อขายทั้งหมดและรายงานรายการซื้อขายขนาดใหญ่ๆ ต่อ CFTC “รายงานการซื้อขายรายใหญ่” เหล่านี้ เมื่อรวมกับข้อมูลการซื้อขายประจำวันซึ่งให้ข้อมูลด้านราคาและปริมาณซื้อขาย คือเครื่องมือพื้นฐานของ CFTC ในการตรวจวัดขนาดขอบเขตของการเก็งกำไรในตลาด และในการตรวจจับ, ป้องกัน, ตลอดจนกล่าวโทษดำเนินคดีกับการสร้างราคาบงการตลาด ประธานของ CFTC รูเบน เจฟฟรีย์ เพิ่งแถลงไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ระบบข้อมูลการซื้อขายรายใหญ่ของทางคณะกรรมการ คือหนึ่งในเสาหลักของแผนงานเฝ้าระวังของเรา และทำให้สามารถที่จะตรวจจับการสั่งซื้อสั่งขายที่มีการรวมศูนย์และการประสานงานกัน ซึ่งอาจจะถูกใช้โดยเทรดเดอร์รายหนึ่งหรือมากกว่านั้น เพื่อพยายามสร้างราคาบงการตลาด”

ตรงกันข้ามกับการซื้อขายที่กระทำในไนเม็กซ์ พวกเทรดเดอร์ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์โอทีซีที่ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแล ไม่ต้องเก็บบันทึกการซื้อขายหรือส่งรายงานการซื้อขายรายใหญ่ให้ CFTC และการซื้อขายเหล่านี้ก็ได้รับการยกเว้นจากการกำกับตรวจสอบตามปกติของ CFTC ตรงกันข้ามกับการซื้อขายที่กระทำในตลาดตราสารฟิวเจอร์สที่มีระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแล ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์โอทีซีที่ไร้ระเบียบกำกับดูแลนั้น ไม่มีขอบเขตข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนของสัญญาที่นักเก็งกำไรรายหนึ่งๆ สามารถที่จะถือครอง, ตลาดโอทีซีเองก็ไม่มีการติดตามการซื้อขาย, และไม่มีการรายงานรายงานปริมาณสัญญาที่ยังคงค้างอยู่ ณ สิ้นวันของแต่ละวันทำการซื้อขาย

จากนั้น ในการกระทำที่เหมือนกับทำให้มั่นใจแน่ๆ ว่า หนทางถูกเปิดกว้างอ้าซ่าแล้วจริงๆ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะทำการบงการตลาดสร้างราคาน้ำมัน เมื่อเดือนมกราคม 2006 CFTC ในยุคของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้อนุญาตให้ ไอซีอี ผู้ดำเนินการตลาดซื้อขายตราสารพลังงานระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระดับหัวแถว ใช้เครื่องสั่งซื้อสั่งขายของตนที่ติดตั้งอยู่ในสหรัฐฯ สำหรับการซื้อขายตราสารฟิวเจอร์สน้ำมันดิบสหรัฐฯ ซึ่งไปขึ้นทะเบียนซื้อขายกันอยู่ในตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ที่ลอนดอน

เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order”


  • ‘นักเก็งกำไร’น็อก‘โอเปก’ตกลงจากเวทีกำหนดราคาน้ำมัน (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น