xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผมมักฝันว่าจะเกิด 4 สิ่งนี้กับประเทศไทย 1. แยกหน้าที่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน ออกจากธนาคารกลางซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน (Separation of Supervision Function from Monetary Policy Function)

2. แปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้อยู่ในรูปบริษัทและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(Demutualization and Listing of Stock Exchange)

3. จัดตั้งองค์กรอิสระมาบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือ ที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund - SWF) 4 อนุญาตให้คนไทยไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้โดยตรง

ฝันข้อที่สี่ กำลังจะเป็นจริง ฝันข้อที่สาม กำลังเป็นรูปเป็นร่าง เนื่องจากมีคนช่วยคิดเยอะ ส่วนฝันข้อที่สองกำลังใกล้ความจริงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะเอาด้วยกับแนวคิดนี้ มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา มีการจัดประชุม มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้

ส่วนฝันข้อที่หนึ่ง กำลังลอยไปไกลเกินเอื้อม เนื่องจากวิกฤติ SUBPRIME ในสหรัฐ ทำให้กำลังจะมีการปฏิรูประบบกำกับดูแลสถาบันการเงิน และตลาดการเงิน เพื่อให้อำนาจแก่ธนาคารกลางมากขึ้น โดยเห็นว่าธนาคารกลาง ควรมีอำนาจและบทบาทเพิ่มเติมในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งรวมไปถึงพฤติกรรมของสถาบันการเงินทุกประเภท ทั้งที่ไม่ได้รับเงินฝากด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการหลายคนคัดค้านในการเพิ่มอำนาจให้กับ ธนาคารกลาง เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา ธนาคารกลาง ประสบความล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด ในการป้องกันวิกฤตการเงินและไม่สามารถบรรเทาปัญหาไม่ให้ลุกลามในวงกว้างได้ นักวิชาการหลายคนยังคงสงสัยถึงความสามารถในการจัดการกับปัญหาในระบบสถาบันการเงินของธนาคารกลาง เนื่องจาก ธนาคารกลาง มักจะไม่กล้าขึ้นหรือลดดอกเบี้ย หรือตัดสินใจช้าเกินไปในการขึ้นหรือลดดอกเบี้ย จึงเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติการเงิน หรือไม่สามารถป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามได้

สำหรับความฝันที่สาม ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ในเดือนพฤษภาคมโดยเชิญกองทุนความมั่งคั่งทั่วโลก มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการจัดตั้ง SWF และวิธีบริหารจัดการ โอกาสและความท้าทายในการบริหารกองทุนของประเทศ ตลอดจนแนวคิดในการพัฒนา SWF ในประเทศไทย และกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ถึงบทบาทเหมาะสมของ SWF และวิธีการกำกับดูแล ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) มาแล้ว

ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง SWF ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งมี SWF ถึง 2 แห่ง ได้แก่ Government Investment Corporation หรือ GIC และ Temasek Holding ซึ่งได้ช่วยพัฒนาฟูมฟักอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ให้เติบโต และช่วยให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจนถึงวันนี้ และประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรต ซึ่งมี SWF 2 แห่งคือ Abu Dhabi Investment Authority และ Abu Dhabi Holding ซึ่งช่วยบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศจีนก็ได้จัดตั้ง SWF ไปแล้ว ซึ่งคาดว่า จะกลายเป็น SWF ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอีก 10 ปี ข้างหน้า ส่วนประเทศที่ไทยน่าจะดูเป็นต้นแบบได้ ได้แก่ ประเทศเกาหลี ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารชาติของเกาหลีร่วมกันจัดตั้ง โดยใช้เงินภายใต้การดูแลจากทั้ง 2 หน่วยงาน ฝันของผมเป็นจริงหรือไม่ โปรดติดตามต่อไป

อนึ่งกระทรวงการคลังจะรับสมัครที่ปรึกษาสำหรับโครงการปรับปรุงระบบการเงิน ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ 1 ตำแหน่ง อายุไม่เกิน 50 ปี และพนักงานผู้ช่วย 1 ตำแหน่ง อายุไม่เกิน 40 ปี การศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคาร ตลาดเงินตลาดทุน มีประสบการณ์ทำงานในด้านดังกล่าว สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ WWW.fpo.go.th ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2551 เชี่ยวชาญ 1 ตำแหน่ง อายุไม่เกิน 50 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น