xs
xsm
sm
md
lg

‘นักเก็งกำไร’ น็อก ‘โอเปก’ ตกลงจากเวทีกำหนดราคาน้ำมัน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.comX

Speculators Knock OPEC off oil-price perch
By F William Engdahl
05/05/2008

ราคาน้ำมันที่เพิ่มพรวดขึ้นมาในเวลานี้ ส่วนใหญ่ทีเดียวไม่ได้เป็นผลจากปัญหาด้านอุปทาน หากแต่เป็นผลจากกิจกรรมเก็งกำไรของพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์และอื่นๆ ที่มุ่งแต่หาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในราคาของมันเท่านั้น โดยไม่ได้มีการใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้โดยตรงเลย ทั้งนี้ ประตูเปิดสู่การซื้อขายที่กำลังอยู่ในสภาพไร้ระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลเช่นนี้ ได้ถูกถ่างกว้างขึ้นอีกมาก ภายใต้คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ก่อนหน้านั้น ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ในลอนดอน มีการซื้อขายแต่เฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานของฟากยุโรป ได้แก่ น้ำมันดิบชนิดเบรนต์ และแก๊สธรรมชาติของสหราชอาณาจักร ในฐานะที่เป็นตลาดตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สของสหราชอาณาจักร ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส จึงอยู่ในการกำกับตรวจสอบของ สำนักงานบริการทางการเงินแห่งสหราชอาณาจักร (UK Financial Services Authority) แต่เพียงผู้เดียว ครั้นถึงปี 1999 ตลาดที่ลอนดอนนี้ก็ได้รับอนุญาตจาก CFTC ให้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์สั่งซื้อสั่งขายของตนได้ในสหรัฐฯ เพื่อให้พวกเทรดเดอร์ในนิวยอร์กและตามเมืองใหญ่อื่นๆ ของสหรัฐฯ สามารถที่จะซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานของยุโรปผ่านตลาด ไอซีอี

**CFTCเปิดประตูอ้าซ่า**

ต่อมา ในเดือนมกราคม 2006 ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ในลอนดอน เริ่มการซื้อขายสัญญาตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สของน้ำมันดับชนิดเวสต์เทกซัสอินเตอร์มิเดียต (WTI) อันเป็นน้ำมันดิบชนิดที่ผลิตและส่งมอบกันในสหรัฐฯ ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ยังได้แจ้งต่อ CFTC ด้วยว่า จะอนุญาตให้พวกเทรดเดอร์ในสหรัฐฯ ใช้เครื่องสั่งซื้อสั่งขายของ ไอซีอี ที่ติดตั้งในสหรัฐฯ ทำการซื้อขายสัญญา WTI ใหม่ของตนกันในตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ที่ลอนดอน นอกจากนั้น ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ยังยินยอมให้พวกเทรดเดอร์ในสหรัฐฯ ทำการซื้อขายตราสารฟิวเจอร์สของน้ำมันเบนซินและน้ำมันเตาสหรัฐฯ ในตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ลอนดอนอีกด้วย

ทั้งๆ ที่มีพวกเทรดเดอร์สหรัฐฯใช้เครื่องสั่งซื้อสั่งขายที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ทำการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สของน้ำมันดิบ, เบนซิน, และน้ำมันเตาของสหรัฐฯ แต่จวบจนถึงทุกวันนี้ CFTC ก็ปฏิเสธไม่ยอมอ้างยืนยันอำนาจหน้าที่กำกับตรวจสอบของตนเหนือการซื้อขายสัญญาเหล่านี้

บุคคลที่อยู่ภายในสหรัฐฯ จึงสามารถที่จะหาทางซื้อขายพวกสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานตัวหลักๆ ของสหรัฐฯ นั่นคือ ตราสารฟิวเจอร์สด้านน้ำมันดิบ, เบนซิน, และน้ำมันเตา ของสหรัฐฯ โดยหลีกหนีการถูกกำกับตรวจสอบจากผู้รับผิดชอบด้านตลาด หรือการต้องทำรายงานแจ้งผู้รับผิดชอบด้านตลาด ด้วยวิธีเปลี่ยนเส้นทางซื้อขายของพวกตนให้ผ่านตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ในลอนดอน แทนที่จะผ่านไนเม็กซ์ในนิวยอร์ก

นี่ไม่ใช่เรื่องที่สง่างามหรอกหรือ CFTC ผู้คุมกฎของตราสารฟิวเจอร์สพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้เปิดทางอ้าซ่าให้แก่การเก็งกำไรตราสารฟิวเจอร์สน้ำมัน ที่ดำเนินการกันอย่างสุดแสนจะคลุมเครือและไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ดูแลในเวลานี้ น่าสังเกตว่า เจมส์ นิวซัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันของไนเม็กซ์ ซึ่งนั่งเป็นกรรมการบริหารของตลาด ดูไบ เอ็กซเชนจ์ ด้วยนั้น คืออดีตประธานของ CFTC ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันนั้น บานประตูหมุนที่เชื่อมต่อระหว่างตำแหน่งงานในภาคเอกชนกับในภาครัฐนั้น สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นจะตายไป

หากพิจารณาราคาตราสารฟิวเจอร์ของเบรนต์ และของ WTI ตั้งแต่เดือนมกราคม 2006 เป็นต้นมา จะพบการเคลื่อนไหวไปในทิศทางและระดับเดียวกันอย่างน่าสังเกต ระหว่างราคาน้ำมันที่ทะยานโด่งทะลุฟ้า และการซื้อขายอย่างไร้ระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลในตราสารฟิวเจอร์สน้ำมันของไอซีอี ในสหรัฐฯ เราต้องไม่ลืมด้วยว่า ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ในลอนดอนนั้น แท้จริงแล้วผู้ที่เป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมอยู่ ก็เป็นบริษัทสหรัฐฯแห่งหนึ่ง ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย

ในเดือนมกราคม 2006 เมื่อ CFTC อนุญาตให้ตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ได้รับการยกเว้นชนิดที่เป็นช่องโหว่เบ้อเริ่ม ราคาน้ำมันเวลานั้นซื้อขายกันในระดับ 59-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทุกวันนี้หลังจากเวลาผ่านไป 2 ปีเศษ เราก็ได้เห็นราคาน้ำมันทะลุทะลวงระดับ 120 ดอลลาร์ อีกทั้งยังมีแนวโน้มไต่สูงต่อไป เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาที่มาจากโอเปก แต่เป็นปัญหาของการละเลยเพิกเฉยอย่างเลวร้ายในด้านระเบียบกฎเกณฑ์การกำกับตรวจสอบของรัฐบาลสหรัฐฯต่างหาก

จากการที่ไม่ได้กำหนดให้ ไอซีอี ต้องส่งรายงานประจำวันของรายการซื้อขายรายใหญ่ในสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน จึงทำให้ไม่สามารถตรวจจับและขัดขวางการบงการตลาดสร้างราคาได้ ดังที่รายงานของวุฒิสภาฉบับที่กล่าวไว้ข้างต้น ได้ชี้ให้เห็นว่า

“ความสามารถของ CFTC ในการตรวจจับและขัดขวางการบงการตลาดสร้างราคาพลังงาน กำลังได้รับความเสียหายไปมากจากช่องโหว่ด้านข้อมูลที่สำคัญยิ่งยวด เพราะในปัจจุบันพวกเทรดเดอร์ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์โอทีซี และตลาด ไอซีอี ฟิวเจอร์ส ของลอนดอน กำลังได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำรายงานตามระเบียบของ CFTC ทั้งนี้ การรายงานรายการซื้อขายรายใหญ่ ยังมีความจำเป็นมากสำหรับการวิเคราะห์ถึงผลของการเก็งกำไรที่มีต่อราคาพลังงาน”

รายงานฉบับนี้กล่าวอีกว่า

“จากรายงานต่างๆ ที่ไอซีอีแจ้งต่อทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ อีก บ่งชี้ให้เห็นว่า ตลาดอิเล็กทรอนิกส์โอทีซีของบริษัท ทำบทบาทหน้าที่ในการแสวงหาระดับราคาที่เหมาะสมในตลาดเงินสด สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานซึ่งซื้อขายกันในตลาดแห่งนั้น (และดังนั้นจึงมีผลต่อราคาพลังงานของสหรัฐฯ)”

ในการทะยานขึ้นไม่ยอมลงของราคาพลังงานช่วงหลังๆ มานี้ เราจะเห็นพวกสถาบันการเงินขนาดใหญ่, กองทุนเฮดจ์ฟันด์, กองทุนเงินบำนาญ, และนักลงทุนอื่นๆ กำลังเทเงินหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์เข้าไปในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน เพื่อหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือไม่ก็เพื่อประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาดังกล่าว การลงทุนส่วนเพิ่มเหล่านี้ส่วนมากที่สุดแล้วไม่ได้มาจากพวกผู้ผลิตหรือพวกผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้หรอก แต่มาจากพวกนักเก็งกำไรที่กำลังหาประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของราคาเหล่านี้นั่นแหละ ทั้งนี้ CFTC ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “นักเก็งกำไร” เอาไว้ว่า คือ บุคคลผู้ซึ่ง “ไม่ได้ผลิตหรือใช้สินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ แต่นำเงินทุนของเขาหรือของเธอเองมาเสี่ยงในการซื้อขายตราสารฟิวเจอร์สของสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ด้วยความคาดหวังที่จะทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา”

การที่พวกนักเก็งกำไรเข้ามาซื้อสัญญาตราสารฟิวเจอร์สของน้ำมันดิบกันเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลก่อให้เกิดอุปสงค์ส่วนเพิ่มในน้ำมันขึ้นมา และกำลังขับดันราคาน้ำมันสำหรับการส่งมอบในอนาคตให้สูงขึ้น ในทำนองเดียวกับอุปสงค์ส่วนเพิ่มในสัญญาน้ำมันสำหรับการส่งมอบสินค้าจริงๆ ในวันนี้ จะขับดันราคาน้ำมันในตลาดส่งมอบให้สูงขึ้นทันทีนั่นเอง สำหรับความคิดความเข้าใจของตลาดแล้ว อุปสงค์ในน้ำมันหนึ่งบาร์เรลที่เป็นผลจากการซื้อสัญญาฟิวเจอร์สโดยนักเก็งกำไรคนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นของจริงพอๆ กับอุปสงค์ในน้ำมันหนึ่งบาร์เรลซึ่งเป็นผลจากการซื้อสัญญาฟิวเจอร์สโดยโรงกลั่นน้ำมันรายหนึ่ง หรือผู้ใช้น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ

**60% ของระดับราคาน้ำมันน่าจะมาจากการเก็งกำไร**

โกลด์แมนแซคส์ และ มอร์แกนสแตนลีย์ ในทุกวันนี้เป็น 2 บริษัทซื้อขายพลังงานชั้นนำในสหรัฐฯ ส่วนซิตี้กรุ๊ป และ เจพีมอร์แกนเชส ก็จัดอยู่ในระดับผู้เล่นรายใหญ่ นอกจากนั้นยังมีพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์อีกจำนวนหนึ่งที่คอยเข้ามาเล่นเก็งกำไร

ในเดือนมิถุนายน 2006 รายงานการสอบสวนของวุฒิสภาดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ประมาณการไว้ว่า น้ำมันที่ซื้อขายกันในตลาดตราสารฟิวเจอร์สในราคาราว 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ประมาณ 25 ดอลลาร์ของจำนวนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเก็งกำไรทางการเงินกันแท้ๆ ทีเดียว นักวิเคราะห์รายหนึ่งได้ประมาณการไว้ในเดือนสิงหาคม 2005 ว่า เมื่อพิจารณาจากระดับน้ำมันที่มีอยู่ตามคลังเก็บในสหรัฐฯแล้ว ราคาของน้ำมันดิบ WTI ควรที่จะอยู่ในระดับราวๆ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น ไม่ใช่ 60 ดอลลาร์

นั่นย่อมหมายความว่า ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลานี้ มีอย่างน้อยที่สุด 50-60 ดอลลาร์หรือกว่านั้นอีก เป็นผลเนื่องมาจากการเก็งกำไรของพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์และสถาบันการเงินต่างๆ โดยแท้ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาว่าสมดุลทางด้านอุปทานและอุปสงค์น้ำมันของโลกในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ขณะที่ราคาของตราสารฟิวเจอร์สน้ำมันที่ซื้อขายกันในตลาดไนเม็กซ์ และตลาด ไอซีอี แห่งนิวยอร์ก และลอนดอน กลับกระโจนพุ่งพรวดพราดแล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่ประมาณ 60% ของระดับราคาน้ำมันในเวลานี้คือผลของการเก็งกำไรแท้ๆ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครเลยที่ทราบอย่างเป็นทางการ ยกเว้นพวกธนาคารซึ่งซื้อขายพลังงานกันในนิวยอร์กและลอนดอนจำนวนหยิบมือหนึ่ง แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่ยอมพูดเรื่องแบบนี้หรอก

จากการซื้อสัญญาตราสารฟิวเจอร์สเอาไว้เป็นจำนวนมาก และดังนั้นจึงกำลังดันราคาของตราสารฟิวเจอร์สให้ขึ้นสูงยิ่งกว่าราคาในปัจจุบันเสียอีก พวกนักเก็งกำไรก็เท่ากับสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้แก่เหล่าบริษัทน้ำมันที่จะเข้าซื้อน้ำมันเพิ่มมากขึ้นอีกแล้วนำมาสะสมไว้ตามคลังเก็บ โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งย่อมจะเข้าซื้อน้ำมันส่วนเกินเพิ่มขึ้นในวันนี้ แม้มันจะมีราคาถึง 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็ตามที ถ้าหากว่าราคาของตราสารฟิวเจอร์สยังสูงกว่านี้ไปอีก

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา ระดับน้ำมันดิบตามคลังเก็บต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ตัวเลขน้ำมันดิบที่มีอยู่ในคลังเก็บทั่วสหรัฐฯเวลานี้ สูงกว่าช่วงเวลาใดๆ ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา การไหลทะลักเข้าสู่ตลาดตราสารฟิวเจอร์สน้ำมันของเม็ดเงินลงทุนที่มุ่งเก็งกำไร จึงกำลังนำไปสู่สถานการณ์ที่เรามีทั้งอุปทานน้ำมันดิบในปริมาณที่สูง และราคาน้ำมันดิบก็สูงด้วย

ตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันดิบของทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ อันที่จริงแล้วระหว่างเวลาดังกล่าว อุปทานของทั่วไปมีล้นเกินอุปสงค์ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ โดยที่สำนักงานสารสนเทศพลังงาน (Energy Information Administration หรือ EIA) แห่งกระทรวงดังกล่าว ได้ออกคำทำนายเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในช่วงสองสามปีข้างหน้า ศักยภาพการผลิตส่วนเกินของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ไปอยู่ในระดับระหว่าง 3 ถึง 5 ล้านบาร์เรลภายในปี 2010 ดังนั้น “หมองรองแห่งศักยภาพการผลิตส่วนเกิน (ที่จะช่วยป้องกันการกระแทกจากความปั่นป่วนผันผวนในตลาด ) ก็จะยิ่งหนาขึ้นอย่างมากทีเดียว”

**ความเชื่อมโยงระหว่างดอลลาร์กับราคาน้ำมัน**
ท่ามกลางภาวะการเสื่อมถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯและการไหลรูดของค่าเงินดอลลาร์ ยุทธศาสตร์การเก็งกำไรที่พบเห็นกันมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือพวกนักเก็งกำไร ตลอดจนกองทุนเพื่อการลงทุนปกติธรรมดา แต่ต้องดิ้นรนต้องการการลงทุนที่จะให้อัตราผลกำไรได้สูงขึ้น ท่ามกลางความหายนะจากตลาดแปลงหนี้สินให้กลายเป็นหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ จะพากันหันเข้าไปเล่นตราสารฟิวเจอร์ส โดยเก็งขายดอลลาร์แบบ “ชอร์ต” (short คาดหมายว่าดอลลาร์จะราคาอ่อนตัวลงอีกในอนาคต) แต่เก็งขายน้ำมันแบบ “ลอง” (long คาดหมายว่าน้ำมันจะราคาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต)

สำหรับกองทุนเงินบำนาญหรือธนาคารขนาดมหึมาในสหรัฐฯหรือสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังดิ้นรนหาผลกำไร ภายหลังจากรายได้ตกฮวบลงนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2007 สืบเนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯและภาวะสินเชื่อตึงตัว น้ำมันจึงกลายเป็นหนึ่งในวิธีดีเยี่ยมที่สุดที่จะทำรายได้จากการเก็งกำไรอย่างชนิดได้กันเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่เหตุผลข้ออ้างที่จะนำมาใช้สนับสนุนระดับราคาที่กลายเป็นฟองสบู่ไปแล้วของน้ำมันในปัจจุบัน ก็คือเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในตะวันออกกลาง, ในซูดาน, ในเวเนซุเอลา, ในปากีสถาน, ตลอดจนอุปสงค์น้ำมันอันแข็งแกร่งมั่นคงจากจีนและพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกนอกเหนือสหรัฐฯ ทั้งนี้ นักเก็งกำไรย่อมซื้อขายกันโดยอาศัยข่าวลือ ไม่ใช่พึ่งพาข้อเท็จจริง

ในทางกลับกัน ทันทีที่พวกบริษัทน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ในประเทศทางอเมริกาเหนือและสหภาพยุโรปเริ่มเก็บกักตุนน้ำมัน อุปทานก็ย่อมจะดูเหมือนว่าตึงตัวยิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักรองรับราคาในระดับปัจจุบัน

เพราะตลาดพลังงานฟิวเจอร์สโอทีซี และ ไอซีอี ฟิวเจอร์ส แห่งลอนดอน ไม่ได้มีระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแล จึงไม่มีตัวเลขที่แม่นยำหรือน่าเชื่อถือใดๆ ในเรื่องที่ว่ามีการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงหลังๆ มานี้คิดเป็นมูลค่าเท่าใด แม้จะมีตัวเลขประมาณการของหลายแหล่งออกมาว่าน่าจะอยู่ในเรือนหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ความสนใจเล่นเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ ยังสามารถมองเห็นได้จากความนิยมที่สูงขึ้นในการเข้าไปลงทุนกับพวกกองทุนดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ อันเป็นกองทุนที่วางยุทธศาสตร์การลงทุนแบบผูกติดกับราคาของตะกร้าตราสารฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ ตัว โกลด์แมนแซคส์ประมาณการว่า บรรดากองทุนเงินบำนาญและกองทุนรวมต่างๆ ได้เข้าลงทุนในพวกกองทุนดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ไปแล้วราวๆ 85,000 ล้านดอลลาร์ และเม็ดเงินลงทุนในดัชนีของวาณิชธนกิจแห่งนี้เอง นั่นคือ ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์โกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs Commodity Index หรือ GSCI) ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัวในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯคนปัจจุบัน เฮนรี พอลสัน ก็เคยเป็นอดีตประธานของโกลด์แมนแซคส์มาก่อน

เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order”

  • นักเก็งกำไร’น็อก‘โอเปก’ตกลงจากเวทีกำหนดราคาน้ำมัน (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น