xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยอังกฤษชี้อาหารแพง “นาน” โลกขาดน้ำ-ที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ - บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจการเกษตรในอังกฤษ เผยแพร่ผลการศึกษาชี้ราคาอาหารจะยังคงพุ่งสูงในระยะยาวมากกว่าที่เกือบทุกคนคาดไว้ สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงปัจจัยด้านดีมานด์จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ

ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่โดยบิดเวลส์ แอกริบิซิเนสส์ บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ เมื่อวานนี้ (22) กล่าวว่า ราคาอาหารที่เพิ่มสูงนั้นจะพุ่งแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากซัปพลายอาหารตึงตัว ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น

ริชาร์ด วอร์เบอร์ตัน ผู้อำนวยการด้านธุรกิจการเกษตร แห่งบิดเวลส์ กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ว่าตลาดการเกษตรกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฏจักร หรือไม่ แต่วอร์เบอร์ตันเตือนว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฏจักร “เราก็จะเจอกับวัฏจักรขาขึ้นของราคาอาหารกันอีกนาน”

ในการจัดทำผลการศึกษาชิ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ศึกษาพิจารณาข้อจำกัดที่การผลิตทางการเกษตรต้องเผชิญในระยะกลาง แทนที่จะมุ่งศึกษาปัจจัยในปัจจุบันที่ผลักดันให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เช่น ประชากรที่เพิ่มขึ้น ระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ความต้องการใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า การขาดแคลนน้ำและพื้นที่เพาะปลูก เมื่อรวมกับการปรับปรุงปฐพีวิทยา หรือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพื้นดินเพาะปลูกสำหรับเกษตรกรรม อย่างเชื่องช้า ก็จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดวิถีทางของการผลิตอาหาร

“ท้ายที่สุดแล้ว ความยั่งยืนก็จะถูกกำหนดด้วยการผลิตอาหารต่อ 1 พื้นที่เพาะปลูก และปริมาณน้ำที่ใช้ไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยจำกัดอย่างเห็นได้ชัด” รายงานฉบับนี้กล่าว

วิธีที่จะเพิ่มพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกนั้นมีเพียงการทำลายพื้นที่ป่าและที่อยู่อาศัยขนานใหญ่และสร้างแรงกดดันอย่างยิ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอน การสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมกับความต้องการของประชากรที่หิวโหยมากขึ้นเรื่อยๆ และมากกว่าที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดในศตวรรษที่21

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โลกสามารถเพิ่มผลผลิตอาหารได้ สืบเนื่องมาจากขีดความสามารถในการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความก้าวหน้าทางพันธุกรรม เช่น เมล็ดธัญพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง และปฐพีวิทยาที่ดีขึ้น เช่น การใช้ชลประทาน ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ในวงกว้างขึ้น

อย่างไรก็ดี วอร์เบอร์ตัน กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตได้หยุดนิ่งไม่เพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 1.1 ตัน ต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ในปี1950 มาเป็น 2.7 ตัน ต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ในปี2000

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวเพิ่มว่า นอกเหนือจากการขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูกแล้ว การขาดแคลนน้ำก็เป็นอุปสรรคต่อการเกษตร ทั้งนี้ จีน และอินเดีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุด 2 อันดับแรกของโลก ต้องจัดสรรน้ำให้กับประชากรในเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มากกว่าเกษตรกร สิ่งนี้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น