ไชน่าเดลี่ – เมื่อวันอังคาร (25 ธ.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรแผ่นดิน สีว์เส้าสื่อเตือน ความมั่นคงอาหาร และ สังคมจีนจะกระเทือนหนัก หากพื้นที่เพาะปลูกยังลดลง ทั้งนี้การออกโรงเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน เนื่องจากปัจจัยราคาอาหารจีนที่แพงขึ้น
“การครอบครองพื้นที่เพาะปลูกอย่างผิดกฎหมาย (เพื่อจุดประสงค์อื่นที่มิใช่เกษตรกรรม) ทำให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารและสังคม” จีนต้องการพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 120 ล้านเฮคตาร์ สำหรับปลูกธัญพืชจำนวน 700 ล้านตัน เพื่อเลี้ยงดูประชากร ทว่าขยะอุตสาหกรรม การขยายตัวของพื้นที่ทะเลทราย ปรากฏการณ์ชะผิวดินโดยลม ทำให้พื้นที่จำนวน 6 ล้านเฮคตาร์ไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้ นอกจากนี้การครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายของรัฐบาลท้องถิ่นยังก่อให้เกิดอันตราย
จีนกำลังตกที่นั่งลำบากระหว่างปัญหาพื้นที่เพาะปลูกจำกัด กับความต้องการอาหารที่ไม่สิ้นสุด ฉะนั้นเราจึงตอบสนองความต้องการพื้นที่อุตสาหกรรมและการพัฒนาสาธารณูปโภคได้เพียงครึ่งหนึ่ง
“พิจารณาจากอัตราการเพิ่มของประชากร และการแพร่กระจายของเมือง และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การครองครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย น่าจะดำเนินต่อไป” สีว์กล่าว
เมื่อเทียบตัวเลขความต้องการพื้นที่เพาะปลูกขั้นต่ำที่ 120 ล้านเฮคตาร์ กับพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันคือ 121.8 ล้านเฮคตาร์ การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตัวเลข ณ ปัจจุบัน ห่างจากตัวเลขขั้นพื้นฐานเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ อาทิ ความแห้งแล้ง และ อุทกภัย ยังเป็นตัวผลักดันสำคัญให้เราต้องเร่ง มุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก
ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ส่วนมากอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าความต้องการพื้นที่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณนี้ก็สูงเช่นกัน จากผลสำรวจล่าสุด ปริมาณพื้นที่ต่อหัวใน 6 มณฑลและเทศบาลนครอาทิ กว่างตง (กวางตุ้ง) ฝูเจี้ยน และปักกิ่ง ลดลงต่ำกว่า 0.016 เฮคตาร์ต่อคน
สีว์ชี้ว่า รัฐบาลท้องถิ่นในระดับอำเภอ หมู่บ้าน และเมืองเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พื้นที่หดหาย เมื่อทางกระทรวงดำเนินการกวาดล้างการเข้าครอบครองที่ดินโดยมิชอบตั้งแต่เดือนกันยายน ปรากฏว่า ตรวจพบกรณีต่างๆกว่า 20,000 กรณี โดยรัฐบาลท้องถิ่นให้เช่าที่ดินโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนถึง 24,000 เฮคตาร์