เอเยนซี –สมุดปกน้ำเงินรายงานสภาพสังคมปี 2008 ของบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์เผย แม้ช่องวางรายได้เมือง-ชนบทจะยิ่งห่าง ทว่าชาวนากลับมีความสุขกว่า ขณะที่คนเมืองกลับอมทุกข์ โดยเฉพาะคนจนในเมือง ที่เจอภาระค่าใช้จ่ายสุมหัว ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อรุมเร้า
ระดับความพอใจของชาวนาจีนในชนบทกว่า 700 ล้านคนเพิ่มสูงขึ้น แม้ช่องว่างรายได้ระหว่างเมืองกับชนบทจะยิ่งกว้าง ขณะที่คนจนในเมืองกลับเจอปัญหารุมเร้า จากภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทำเอาระดับความพอใจตก อย่างไรก็ตาม ค่าอาหารที่สูงขึ้นกลับส่งผลในด้านตรงข้ามต่อชาวชนบท เนื่องจากเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชากรชนบท ที่ส่วนมากเป็นผู้ผลิตอาหาร
นิตยสารไฉ่จิงระบุว่า แม้รายได้หลังหักภาษีของคนเมืองเมื่อปี 2007 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ทว่าบรรดาค่าใช้จ่าย อาหาร และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นปัจจัยริดรอนความสุขที่คนจนเมืองพึงได้รับจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
หลีเผยหยวน บรรณาธิการสมุดปกน้ำเงินฯ กล่าวว่า “การควบคุมราคาอาหาร สร้างความมั่นคงให้กับราคาและอุปทาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรักษาความมั่นคงในสังคม”
เมื่อปี 2007 ปัญหาราคาอาหารที่พุ่งไม่ยั้ง ทำให้รัฐบาลกังวลว่า อาจเกิดเหตุการณ์ เทียนอันเหมินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เนื่องจากนักศึกษาจำนวนมากในรั้วมหาวิทยาลัยได้รวมตัวก่อการประท้วงราคาอาหารในโรงอาหารที่แพงจนไม่สามารถจ่ายไหว
นอกจากนี้รัฐบาลยังเร่งแก้ไขปัญหา ช่องว่างรายได้ระหว่าง เมืองกับชนบท ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงในชนบทหลายครั้ง หลีกล่าวว่า แม้ขอบเขตของปัญหาจะกระจุกอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนมาก ทว่าในระดับชาติปัญหาสังคมจีนในปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้น
ส่วน หยังอี๋หย่ง รองหัวหน้าสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ-สังคม ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) กล่าวเสริมว่า แม้ตลาดธุรกิจจีนจะขาดแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก ทว่าบัณฑิตจีนกลับตกงานระนาว ขนาดมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างชิงหัว ยังมีอัตราบัณฑิตได้งานเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าระบบการศึกษาของเรามีปัญหา เราต้องเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมการศึกษาแบบท่องจำให้เป็นการศึกษาที่สอนให้คน คิดสร้างสรรค์มากกว่านี้