xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.ประกาศล้อมคอกอาจารย์นอกแถว - ห้ามอยู่ในที่ลับตากับศิษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานที่ประชุม ทปอ.
อุบลราชธานี - อธิการบดีมหาวิทยาลัยชื่อดัง 26 แห่งทั่วประเทศ ตั้งวงถกเปลี่ยนรูปแบบการสอบแอดมิชชั่นใหม่ และประกาศล้อมคอกอาจารย์นอกรีด โดยห้ามลูกศิษย์พบอาจารย์ในที่ลับตาคน ชี้อนาคตไม่สามารถเร่งเปิดหลักสูตร หากอาจารย์-สถานที่ไม่พร้อม

วันนี้( 3 พ.ค.)มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดประชุมสามัญอธิการบดีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 2/2551 โดยมีอธิการบดีจาก 26 มหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมหารือ โดยมีการตกลงเปลี่ยนรูปแบบการสอบแอดมิชชั่นปี 2553 ให้ต่างจากระบบเดิม เพราะมีการแบ่งการสอบเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นคะแนนแบบจีแพค และคะแนนแบบโอเน็ต 8 สาระวิชาคิดเป็นร้อยละ 50 อีก 50 เปอร์เซ็นต์จะเป็นการวัดผลด้านศักยภาพของนักเรียนในการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยจำนวน 8 แพควิชา โดยแต่ละแพคเป็นการวัดความรู้วิชาพื้นฐานอาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับการออกข้อสอบทดสอบความรู้จะให้สำนักงานทดสอบแห่งชาติ (สทส.) เป็นผู้ออกข้อสอบ และผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 และผู้ที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย และในที่ประชุมยังมีการหารือเรื่องความประพฤติของอาจารย์กับลูกศิษย์ โดยมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะถือเป็นเรื่องร้ายแรง และจะมีการทบทวนวิธีการคัดเลือกอาจารย์ที่จะเข้ามาทำการสอนในมหาวิทยาลัยให้เข้มข้นกว่าในอดีต

รวมทั้งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จะจัดสถานที่ให้อาจารย์พบกับนิสิตนักศึกษา โดยเป็นห้องรวมมีอาจารย์หรือนักศึกษาอยู่ด้วยกันจำนวนมาก ไม่ให้อยู่ในที่ลับตาคน พร้อมให้สภาอาจารย์และสโมสรนักศึกษาเข้ามาร่วมมีบทบาทดูแลพฤติกรรมของอาจารย์และลูกศิษย์

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังตกลงให้ทุนการศึกษาจำนวนกว่า 1,000 ทุน แก่เด็กนักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีการศึกษา 2552 เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กนักเรียนเหล่านั้น สามารถเข้าศึกษาต่อกับมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ

หลังการประชุม รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานที่ประชุม ทปอ.ให้สัมภาษณ์ถึงการเร่งเปิดหลักสูตรจนทำให้คุณภาพการศึกษาของผู้จบการศึกษาด้อยลงกว่าอดีตว่า การจะเปิดหลักสูตรได้ต้องมีอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรนั้นไม่น้อยกว่า 5 คน ในอนาคตการเปิดหลักสูตรไม่สามารถทำได้ง่าย เพราะ สกอ.จะต้องเข้าตรวจสอบบุคลากรและสถานที่ เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการขอเปิดหลักสูตร และการเปิดหลักสูตรต้องดูความต้องการของท้องถิ่นด้วย สำหรับนักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปแล้ว มหาวิทยาลัยยังคงติดตามประเมินผล ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีข้อมูลเรื่องนี้อยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น