ศาสตราจารย์นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ChulaCOV-19ของไทย ว่า ประเทศไทยจะมีวัคซีนของคนไทยใช้ได้ก่อนสงกรานต์ คือเดือนเมษายน 2565 แต่ต้องขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น ในเดือนหน้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีกติกาในการขึ้นทะเบียนที่ชัดเจน โรงงานผลิตต้องเร่งดำเนินการ ให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมาก รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณที่ต้องมีอย่างเพียงพอในอนาคต
เมื่อถึงเวลานั้น วัคซีน ChulaCOV-19 น่าจะเป็นตัวกระตุ้นในการฉีดเข็มที่ 3 และเมื่อฉีดให้กับผู้ใหญ่อย่างปลอดภัยแล้ว จะมีการฉีดให้เด็ก ซึ่งนักวิจัยของจุฬาฯ อยู่ระหว่างการศึกษาการฉีดในเด็กด้วย เนื่องจากขณะนี้เราได้ศึกษาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กอยู่แล้ว
ศาสตราจารย์นายแพทย์ เกียรติ สรุปผลการทดลองการฉีดวัคซีน ChulaCOV-19 ระยะที่ 1 ในกลุ่มอาสาสมัคร 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี อาสาสมัครยังเป็นกลุ่มน้อย ผลข้างเคียงเล็กน้อย ปานกลาง และอาการจะดีขึ้นในช่วง 1-3 วันหลังจากฉีด ส่วนการตรวจสอบผลการกระตุ้น การสร้างภูมิคุ้มกัน พบว่ามีการสร้างแอนติบอดี ไม่ให้ติดเชื้อได้สูงเท่ากับไฟเซอร์ กระตุ้นการสร้างแอนติบอดีข้ามสายพันธุ์เดิมได้ดี สามารถยับยั้งสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ได้
ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มองว่า มีความเป็นไปได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะของ ChulaCOV-19 แต่ยังมีวัคซีนของคนไทยอีกหลายหน่วยงาน เราต้องเรียนรู้จากหลายประเทศที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน แต่ต้องอยู่บนมาตรฐานของความปลอดภัย และที่สำคัญต้องทำให้เกิดความมั่นใจ