เมื่อเวลา 11.00 น. นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ (H.E. Mrs. Linda Thomas-Greenfield) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (Ambassador and Permanent Representative of the United States of America to the United Nations) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือและกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ สู่ประเทศไทยในครั้งนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และได้หารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีคาดหวังให้ไทย-สหรัฐฯ มีการแลกเปลี่ยนการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องต่อไป พร้อมฝากความระลึกถึงและขอบคุณประธานาธิบดีโจ ไบเดน สำหรับความร่วมมือและความสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีให้กับไทยมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถานการณ์โควิด-19
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยและสหรัฐฯ มีจุดร่วมด้านนโยบายที่สอดคล้องกันและสามารถร่วมมือกันได้ในหลายประเด็น รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนความร่วมมือในกรอบพหุภาคีอย่างสหประชาชาติ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ขณะที่เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ กล่าวยินดีที่ได้เดินทางเยือนไทยและได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ฝากความระลึกถึง และยืนยันว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับไทยในฐานะมิตรประเทศที่ใกล้ชิดยาวนาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตลอดจนชื่นชมบทบาทนำของไทยในภูมิภาคนี้ ซึ่งเอกอัครราชทูตกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ว่ามีอนาคตที่ผูกไว้ด้วยกัน (Both futures tie to each other)
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งต่างเห็นพ้องถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ และสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า ไทยยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นความช่วยเหลือตามหลักการด้านมนุษยธรรมที่ไทยให้ความสำคัญและยึดมั่นเสมอมา โดยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ขอบคุณรัฐบาลไทยและเชื่อมั่นในการดำเนินการของไทย
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยชน และด้านสาธารณสุขที่จำเป็นสำหรับประชาชนเมียนมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและดำเนินการร่วมกันต่อไป
ส่วนประเด็นสถานการณ์โควิด-19 เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อทั่วโลกว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกฝ่ายเผชิญกับความยากลำบาก ความร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ กล่าวถึงโอกาสที่ได้เห็นการดำเนินการของไทยในการฉีดวัคซีนและปกป้องประชาชนด้วยวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ ได้มอบให้ ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้จัดสรรวัคซีนอย่างรวดเร็ว และเหมาะสม ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ให้แก่ไทยในการรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะการบริจาควัคซีนกว่า 1.5 ล้านโดส สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงพื้นฐานความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่แนบแน่นและเป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้ไทยอีก 1 ล้านโดส เร็วๆ นี้ และจะมอบความช่วยเหลือมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับไทยเพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ โดยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ให้ความสำคัญกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลไทย โดยไทยมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 และให้การสนับสนุนการลงทุนด้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ซึ่งยินดีหากเอกชนสหรัฐฯ สนใจลงทุนในประเทศไทย