xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ทำหนังสือถึง ปธ.รัฐสภาขอเปิดอภิปรายทั่วไปฯ ชี้การชุมนุมกระทบการบริหารราชการแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (22 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา เรื่อง ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ว่าบัดนี้มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีข้อเท็จจริงของปัญหาดังนี้

1. ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด 2019 ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ก่อนแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อดังกล่าว โดยมีสถิติผู้ป่วยติดเชื้อตลอดจนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศทุกวัน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการที่ห้ามหรือควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักเดินทางจากต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนทางธุรกิจท่องเที่ยว หรือใช้บริการสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะเดียวกัน ได้มีผู้นัดชุมนุมกันในทางการเมืองตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดในลักษณะแออัดประชิดตัวอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับมีฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากจนเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขเกรงว่าอาจเกิดโรคระบาดได้ง่าย เพราะประชาชนจะขาดความระมัดระวังในการป้องกันโรคที่เหมาะสมเพียงพอ จึงอาจกระทบต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคและความเชื่อมั่นของผู้จะเดินทางเข้ามาในประเทศได้

2. การชุมนุมยังคงมีต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จนเกิดเหตุอันไม่คาดคิดขึ้นเมื่อปรากฏว่าในวันดังกล่าวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปในการตั้งเปรียญ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามต่างๆ 4 แห่ง คือ วัดราชโอรสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ในขณะที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เคลื่อนไปตามถนนพิษณุโลก อันเป็นเส้นทางตรงขึ้นทางด่วนมุ่งไปยังวัดราชโอรสาราม ฝั่งธนบุรี กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้ขวางทางและหยุดขบวนเสด็จพระราชดำเนิน กลุ้มรุมล้อมรถพระที่นั่งและมีผู้ตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง แสดงอาการไม่สมควร และเป็นการคุกคามเสรีภาพของผู้อยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินและผู้ถวายการอารักขา ผู้ชุมนุมได้พักค้างคืน ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งใกล้กับบริเวณอันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับ และเส้นทางที่จะมีการเสด็จพระราชดำเนินในวันต่อๆ ไป ทั้งการชุมนุมส่อว่าจะยืดเยื้ออันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และอาจมีผู้ฉวยโอกาสแทรกเข้ามาก่อความวุ่นวายได้ แม้บางส่วนจะร่วมชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อยก็ตาม ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและระงับยับยั้งความรุนแรงอันอาจกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล นายกรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 04.00 นาฬิกา เป็นต้นไป ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

3. แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ฉละควบคุมตัวบุคคลบางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีบทบาทสำคัญในการยุยงและก่อให้เกิดการกระทำความผิด แต่การชุมนุมยังคงมีขึ้นในเวลาต่อมาที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน และแยกย้ายเป็นกลุ่มไปตามที่ชุมนุมชนต่างๆ ศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขชนส่งผู้โดยสารอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในต่างจังหวัด จนน่าวิตกว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย การคมนาคม และเศรษฐกิจในบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือน ห้ามปราม และพยายามหยุดยั้งการชุมนุมที่แม้จะมีเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐเข้าควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายก็เป็นข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามที่มาตรา 44 วรรคสอง กำหนดให้ทำได้ แต่เมื่อไม่เป็นผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสกัดและเรียกคืนพื้นที่ อันเป็นขั้นตอนการควบคุมฝูงชนตามมาตรการสากลที่ใช้ในนานาประเทศ เมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ณ บริเวณถนนพระรามที่ 1 ใกล้สี่แยกปทุมวัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมยังสามารถนัดแนะทางสื่อต่างๆ เพื่อชุมนุมกันต่อมาอีกหลายครั้ง โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ปล่อยตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และศาลยกคำร้องที่ขอประกันตัว การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความรุนแรง ยุบสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งข้อเรียกร้องบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว แม้การชุมนุมบางครั้งและบางแห่งจะเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อย แต่บางแห่งยังคงมีการจาบจ้วงบุคคลอื่น การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินของทางราชการและการก่อความชุลมุนวุ่นวาย นับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่อยู่ในความมุ่งหมายของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งน่าวิตกว่าอาจมีบางฝ่ายแฝงตัวเข้ามาฉวยโอกาสใช้อาวุธหรือก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และอาจมีฝ่ายอื่นที่เห็นต่างกันหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุมออกมาจัดการชุมนุมเพื่อตอบโต้หรือต่อต้านบ้าง จนเกิดการปะทะกันอันจะเป็นการจลาจลในบ้านเมืองได้

คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จึงสมควรฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป จักเป็นพระคุณยิ่ง