นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก
“อัษฎางค์ ยมนาค”หัวข้อ “อะไรคือปัญหาของปัญหาในปัจจุบัน”ระบุว่า ถ้าผมเป็นนายกฯ เป็น รมต. เป็น ส.ส. หรือเป็นคนที่สามารถกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ ผมจะจัดการกับระบบการศึกษาเป็นอันดับแรก
ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา คือการขาดการศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
เรามีปัญหาที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไข นั้นคือ “การคอร์รัปชั่น” และตอนนี้เรามีปัญหาใหญ่ปัญหาใหม่เพิ่งเข้ามาอีก 1 ปัญหา นั้นก็คือ “ความขัดแย้งทางความคิด”
2 ปัญหานี้ มันใหญ่และซับซ้อนกว่าที่จะคาดคิด
สิ่งหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาของทั้ง 2 ปัญหานี้คือ คนไทยเรามีการศึกษา มีความรู้ อย่างครึ่งๆ กลางๆ
เรารู้จักประชาธิปไตยอย่างครึ่งๆ กลางๆ
เรารุ้จักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อย่างครึ่งๆกลางๆ เรารู้จักการการเมืองของเรา อย่างไรครึ่งๆกลางๆ
เรารู้จักความเห็นที่แตกต่าง อย่างครึ่งๆ กลางๆ
ตอนทักษิณเพิ่งตั้งพรรคไทยรักไทย และสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส ครั้งแรก
มีคนแซ่ซ้องทั่วบ้านทั่วเมือง และผมได้ยินคนขับรถเมล์ชื่นชมทักษิณด้วยความตื่นเต้นออกมาดังๆ ว่า คนนี้เค้าเป็นดอกเตอร์ เค้าจบปริญญาโท
เห็นความรู้ความเข้าใจ แบบครึ่งๆ กลางๆ ของคนไทยมั้ย
ผมเห็นคนต่อต้าน รังเกียจ นักการเมือง ข้าราชการที่คอร์รัปชั่น
แต่พอเขาขับรถผิดกฎจราจรและโดนจับ เขาพร้อมจะเจรจาและยัดเงินให้ตำรวจ
เห็นความรู้ความเข้าใจ แบบครึ่งๆ กลางๆ ของคนไทยมั้ย
ปัจจุบัน ผมเห็นคนเรียกร้อง ให้รับยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่พอมีคนที่คิดต่างกับตัวเขาเอง เขาก็จะโจมตีด้วยการคุกคามด้วยอารมณ์และถ้อยคำที่รุนแรง
เห็นความรู้ความเข้าใจ แบบครึ่งๆ กลางๆ ของคนไทยมั้ย
เมื่อเขาทำผิดกฎหมาย แล้วถูกตำรวจจับ เขาบอกว่าเขาถูกคุกคาม แล้วถ้าเขาโดนโจรปล้น แล้วไปแจ้งตำรวจให้จับโจร แล้วโจรพูดว่าเขาถูกคุกคาม คุณจะทำยังไง
เห็นความรู้ความเข้าใจ แบบครึ่งๆ กลางๆ ของคนไทยมั้ย
ตอนผมมาเรียนที่ออสเตรเลียใหม่ๆ ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย เราต้องเข้าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ
ซึ่งคนที่สอบผ่านภาษาอังกฤษมาจากเมืองไทยจะพลาดคอร์สนี้
“การเรียนภาษาอังกฤษ ที่ไม่ใช่แค่การเรียนภาษาอังกฤษ”
ความเข้าใจของผมในตอนแรกกับการเรียนภาษาอังกฤษคือ เรียนเพื่อให้เรา ฟังพูดอ่านเขียน ภาษาอังกฤษได้ และจะได้เข้าใจบทเรียน
แต่เมื่อเรียนแล้วยิ่งมีคำถาม เพราะมันมีอะไรต่อมิอะไรมากกว่านั้น
นอกจากที่เราเรียนไวยากรณ์ แกรมม่า การฝึกอ่าน ฝึกเขียน ฝึกพูด แล้ว เราต้องเรียนการเขียน thesis
ธีสิส หรือที่คนไทยเรียกว่าการเขียนวิทยานิพนธ์
ก่อนจะเขียนธีสิสนั้น เราต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในขั้นที่ดีพอสมควรแล้ว และหัวใจของการเขียนธีสิส นอกจากเรื่องการใช้ภาษาแล้ว ก็คือการเข้าใจในประเด็น ปัญหา และการแก้ไขปัญหา ของธีสิสที่เราจะเขียน
อาจารย์สอนว่า ในธีสิสนั้น เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราเข้าใจปัญหาว่าอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอะไร อย่างไร และสุดท้ายเราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร และเรามีความคิดเห็นว่าอย่างไร
ซึ่งหัวใจของมันคือ เรามีความคิดเห็นว่าอย่างไร
การเขียนธีสิส คือการค้นคว้า การวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์
ซึ่งการบ้านในการเรียนหนังสือในเมืองฝรั่งไม่ว่าจะเป็นการบ้านชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาจนมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ คือการเขียนธีสิส ไม่ใช่การนั่งสอบแบบกาเลือกว่าจะเป็น ABC กขค
ฝรั่งไม่ได้สอนให้ท่องจำแบบการศึกษาเมืองไทย แต่สอนให้ค้นหา ค้นคว้า การวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์
ซึ่งก่อนที่เราจะมีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์อะไร หรือใครได้ เราต้องรู้ลึก รู้จริง เสียก่อน
ไม่ใช่การท่องจำ จากตำราเรียนที่มีคนเขียนไว้เมื่อนานมาแล้วเพียงเล่มเดียว แล้วเข้าห้องตอบคำถามแบบอัตนัย แล้วก็รับปริญญาจากความสามารถในการจำ
แล้วสุดท้ายพลเมืองของไทยก็กลายเป็นคนที่มีความรู้แค่ครึ่งๆ กลางๆ
จากหนึ่งวิชาที่เราเรียน เราจะรู้ทฤษฎีจากหนังสือเพียงเล่มเดียว ที่เป็นความรู้และความคิดเห็นของคนๆ เดียว หรือคณะเดียว โดยไม่เคยรู้ว่ายังมีหนังสือเล่มอื่น จากทฤษฎีอื่นๆ และจากประสบการณ์และความคิดเห็นอื่นๆ อีกมากมายที่เหมือนและแตกต่างกัน
พอเรียนจบออกมาสู่ชีวิตจริง เราจึงกลายเป็นคนที่มีความรู้แบบครึ่งๆ กลางๆ และมีโลกทรรศ มีทัศนคติ แบบครึ่งๆกลางๆ
คำว่ามีความรู้แบบครึ่งๆกลางๆ คือ เป็นคนมีความรู้ แต่รู้แค่เพียงครึ่งเดียว แถมครึ่งเดียวที่รู้ อาจจะเป็นครึ่งที่น้อยนิด หรืออาจจะความรู้ที่ล่าสมัยไปแล้วก็ได้
แล้วมันเกิดปัญหาอะไรตามมา
ปัญหาที่เกิดตามมา คือเมื่อมีคนพูดสิ่งที่เป็นอีกครึ่ง ที่ตัวเองไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยิน ก็จะปฏิเสธ และบอกว่า ความคิดเห็นของอีกคนนั้นผิด
หรือเมื่อมีคนมาโกหก หรือยกทฤษฎีที่ไม่เคยมีอยู่จริง มากล่าวอ้าง กลับเชื่อ โดยไม่เคยไปค้นหาว่า มันจริงหรือไม่
เพราะไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอน ฝึกฝน ให้ค้นหาและ วิเคราะห์ ก่อนจะเชื่ออะไรสักอย่าง
สมัยที่เรียน ผมเคยสงสัยว่า ในเมื่ออาจารย์สอนให้เราเป็นตัวของตัวเอง และมีความเห็นที่แตกต่างได้ แล้วอะไรคือตัววัด ที่จะบอกว่าความเห็นที่แตกต่างของแต่ละคนนั้นถูกหรือผิด
คำตอบออกมา เมื่อเขียนธีสิสจบ เราก็เอาความรู้จากที่ค้นคว้าแล้วเอามาเขียนธีสิสนั้น เอามาดีเบตกัน
ตอนดีเบตกันครั้งแรก ผมตกใจ เพราะแต่ละคน แต่ละกลุ่ม เถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะแต่ละคนก็เชื่อในข้อมูลที่ตนเองมี ไม่มีใครยอมใคร
ในตอนต้น ผมสงสัยว่า อะไรจะเป็นตัววัด ว่าความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละคน ของคนไหนหรือเรื่องไหน จะถูกต้อง
แต่เมื่อนั่งฟังไป นั่งฟังไป และนั่งฟังไป ความรู้ที่เราเคยได้มาจากกาาค้นคว้า จากตำราของอาจารย์ นักคิดนักเขียนจากหลายสำนัก แล้วเอามาวิเคราะห์ ทำให้เรา ค่อยๆ มองเห็นว่า ความเห็นที่แตกต่างกันมากมาย ตรงไหนใช่ ตรงไหนถูก ตรงไหนผิด และความเห็นของใครตรงไหนที่ไม่ได้เรื่อง
นักเรียนนักศึกษา ไม่ได้อ่านหนังสือเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจัดให้เพียงเล่มหรือสองเล่ม แถมบางคนอ่านไม่จบ บางคนไม่อ่าน แต่ลอกข้อสอบคนนั่งข้างๆ
พอเรียนจบมา จึงมีความรู้แค่ ครึ่งๆ กลางๆ แล้วก็ออกไปวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องราวต่างๆ เหมือนว่าเป็นผู้รอบรู้ ทั้งๆ ที่ ตอนเรียนก็โดดเรียน รายงานก็จ้างเพื่อนทำ ข้อสอบก็ลอกเพื่อนมา
จึงกลายเป็นปลาเล็กที่โดนปลาใหญ่กิน
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด สุภาษิตนี้ยังใช้ได้ดีในปัจจุบัน
การเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา มันอันตรายเพราะตัวเองไม่เคยรู้ตัว
ผมถูกสอนมาให้ยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง
ในขณะเดียวกันก็ถูกสอนมา ให้หาคำตอบว่า ในความเห็นที่แตกต่างนั้น อะไรคือถูก อะไรคือผิด
จึงทำให้ผมไม่สามารถที่จะยืนอยู่ข้างสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้
ซึ่งมันก็เหมือนกับการที่เราจะรู้ว่าความเห็นที่แตกต่างมากมายใดๆ อันไหนถูกหรือผิด เมื่อเราไม่ได้มีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ