xs
xsm
sm
md
lg

“โบว์”เชื่อปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งเป้าสร้างพลเมืองโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.ณัฏฐา มหัธนา แกนนำคนอยากเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ระบุว่า โบว์ได้ยินคำว่า Global Citizen หรือ พลเมืองโลก ครั้งแรกเมื่อกว่าสิบปีก่อน ตอนทำงานกับองค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งหนึ่ง ในวันนั้นคำนี้เป็นคำใหม่และเป็นแนวคิดใหม่ของการสร้างคน ที่จะไม่เป็นเพียงทรัพยากรของประเทศหนึ่งประเทศใดเท่านั้น แต่เป็นคนที่จะร่วมกันสร้างสังคมและดูแลแก้ปัญหาของทั้งโลกร่วมกัน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พูดง่ายๆว่าหากเราสร้างพลเมืองโลกได้ เราจะอยู่ในโลกที่ไม่มีสงคราม มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เจริญก้าวหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนบนความแตกต่างหลากหลาย โดยพลเมืองโลก จึงต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ

-มีความเข้าใจในพหุวัฒนธรรม และเคารพความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ วัย สถานะทางสังคม ฯลฯ

-เข้าใจ เคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชน

-มีความรู้และรู้สึกมีส่วนร่วมกับปัญหาของโลก เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

-สามารถสื่อสารด้วยภาษาต่างชาติ

-มีทักษะในการทำงานเป็นทีมและทำงานต่างถิ่นได้

-มีทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์วิพากษ์ และมีความคิดสร้าง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาใหม่ๆเสมอในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

-มีทักษะการสื่อสารที่ดี และสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หากตั้งเป้าได้ว่านี่คือคนแบบที่ประเทศเราต้องการสร้าง ภายใน 20 ปีเราจะมีประชากรที่มีศักยภาพไม่เพียงแก้ปัญหาในท้องถิ่นและประเทศ แต่สามารถประสานประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในโลก เพื่อความมั่นคงทุกด้านอย่างยั่งยืนได้ นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ ระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าในโลกในหลายประเทศต่างพัฒนาหลักสูตรและแนวการสอนเพื่อสร้างคนให้มีทักษะเพื่อเป้าหมายนี้ หากอยากดูตัวอย่างก็ลองศึกษาจากหลักสูตร IB หรือ International Baccalaureate ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายในหลายประเทศรวมถึงมหาวิทยาลัยระดับโลก เป็นแนวทางดูได้ ซึ่งแนวทางที่เป็นสากลนี้จะให้ประโยชน์ได้จริงทั้งในท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ลองแปรเป้าหมายเป็นรูปธรรม ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ได้แก่

-มีการสอนทักษะการ”หาข้อมูล”เพื่อมาสังเคราะห์เป็นความรู้ โดยใช้เทคโนโลยี ICT ทุกโรงเรียนต้องมีอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ได้มาตรฐาน

-เด็กไทยได้เรียนภาษาอังกฤษไม่ช้ากว่า ป.1 โดยเน้นทักษะการสื่อสารความคิดและการนำเสนอ และมีโอกาสในการเรียนภาษาที่ 3 อย่างเท่าเทียมกัน

-การสอนวิชาแนวสังคมศึกษาจะให้น้ำหนักในเรื่องพหุวัฒนธรรมและความแตกต่างหลากหลาย เด็กไทยได้รู้จักสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วัยประถมและมีสำนึกในการปกป้องความยุติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์

-วิชาต่างๆ มีการบูรณาการและผนวกข่าวสารสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ได้ฝึกใช้ความรู้ที่เรียนมาประยุกต์สู่การแก้ปัญหาเสมอ

-การทำงานเป็นทีมเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของห้องเรียน โดยครูได้รับการฝึกทักษะของการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator)

-มีโครงการแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีประสบการณ์กับการทำงานและใช้ชีวิตต่างถิ่น ฯลฯ

แน่นอนว่าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างทักษะใหม่ๆให้ผู้สอนหรือ”ครูพันธุ์ใหม่” ที่จะไปปฏิบัติพันธกิจในการสร้างพลเมืองโลกไปด้วยกัน

ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงในแง่ทรัพยากรที่ต้องปรับให้ทัดเทียมกันทั้งประเทศก็ต้องทำควบคู่กันไป เสถียรภาพทางการเมืองเป็นความท้าทายของการปฏิรูปการศึกษาในทุกยุค แต่หากปักหมุดเป้าหมายร่วมกันได้ การขับเคลื่อนที่อาจต่างกันบ้างในทางปฏิบัติก็ไม่น่าจะทำให้หลงทาง ถือว่าเป็นการเสนอนโยบายจากภาคประชาชน ในวันที่พรรคการเมืองยังถูกมัดมือมัดเท้ากัน ใครถูกใจก็นำไปพิจารณาต่อยอดได้เลยค่ะ