xs
xsm
sm
md
lg

จากเด็กกู้ยืม กยศ. สู่นักธุรกิจพันล้าน ด้านวิศวกรรมศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ป๋อง" - นิรุตติ นิลแก้ว วิศวกรวัย 41 ปี ก่อนจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการ บจก. เอ็นอาร์ที เซลส์แอนด์เซอร์วิส ที่จับธุรกิจพันล้านเชี่ยวชาญและประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ระบบพลังงานทดแทน และการวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน

ชีวิต ‘นิรุตติ’ ผ่านหลายเรื่องราว ทำงานหารายได้ระหว่างเรียน ด้วยการรับจ้างเดินสายไฟ ติดตั้งและล้างแอร์ และอาศัยเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาและค่าฝึกซ้อม มาเป็นค่าใช้จ่ายต่อมื้อ จากการเป็นนักกีฬาฟุตบอลระดับจังหวัด รวมถึงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อส่งตัวเองให้ถึงฝั่งฝัน


พื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ จบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคลำปาง และได้โควตาศึกษาต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ และได้มาศึกษาที่ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปัจจุบันก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงศึกษาต่อจนจบปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และกำลังเรียนปริญญาเอก เหตุที่เลือกราชมงคล “ไม่ใช่เพียงเพราะความรัก แต่ยังเป็นความผูกพันกับสถาบันที่เกิดขึ้น วันนี้ความฝันของผมเริ่มจะเป็นจริงแล้ว ที่ได้เรียนปริญญาเอกที่ราชมงคลธัญบุรีแห่งนี้”

นิรุตติ ย้อนวันวานถึงการเริ่มต้นทำงานจริงๆ ครั้งแรก ก่อนจบการศึกษาที่ บริษัท เอฟ ดี เค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฟูจิตสึ กรุ๊ป และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ระดับโลก จากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่กำลังเรียน ปวส. เทอมสุดท้าย

“ในเทอมสุดท้าย ก็มีบริษัทในเครือของฟูจิตสึ กรุ๊ป เข้ามาสัมภาษณ์และกำลังหาคนไปร่วมงานด้วย ผมก็สอบสัมภาษณ์ผ่านและได้เข้าไปทำงานทันทีก่อนที่จะเรียนจบ หลังจากเรียนจบก็ทำต่อเนื่องยาวถึง 4 ปีกว่า ถือเป็นคนแรก ๆ ในกลุ่มราชมงคลที่ได้ไปทำงานที่นั่น และสร้างความเชื่อมั่นในสถาบัน พร้อมกับชักชวนเพื่อนอีก 10 กว่าคน ไปทำงานด้วยกัน”


จากนั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งลาออกเพื่อมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่แห้ง เลยชวนให้ผมมาเป็นผู้จัดการโรงงาน ต่อมาเราก็อยากขยับขยายและสร้างโอกาสให้กับตนเอง และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ได้ใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดมาทำธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ทั้งยังเริ่มนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับต่อยอดจากความสนใจด้าน พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์

กว่า 5-7 ปี ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ออกแบบและให้บริการจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชน ภาคธุรกิจในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าหรือเข้าไม่ถึง ถือว่ามีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจในระดับที่ดีมาก และได้ขยายธุรกิจสู่สาธารณูปโภค การวางท่อร้อยสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน การวางท่อประปา การระบายน้ำเสีย การขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในการซื้อหัวเจาะมูลค่า 25 ล้าน เพื่อรับงานกับบริษัทใหญ่ และคาดการณ์ในอนาคตถึงศักยภาพในการรับงานมูลค่า 2-3 พันล้านต่อไป

ด้วยความเป็นราชมงคลฯ ในสายเลือด มองจุดแข็งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีในปัจจุบันว่า ความรู้และความสามารถในเชิงปฏิบัติยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องและเครือข่ายมีความเข้มแข็ง ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เด่นชัด แต่ทว่าความถนัดเฉพาะบุคคลเชิงลึกในปัจุบันอาจจะไม่เทียบเท่ากับรุ่นก่อนมากนัก ในภาพรวมยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และมีความเห็นว่าวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์สำคัญ ต้องใช้ทักษะการคิดแบบมีเหตุผล ใช้การคำนวณ ใช้ทักษะการแก้ปัญหาร่วมด้วย แต่หากว่าได้รับการส่งเสริมในเรื่องการบริหารจัดการ ความเป็นผู้นำ ภาษาและการสื่อสารทางธุรกิจ รวมถึงเรื่องการตลาด จะก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการได้ทันที

“หลักธรรมะสำคัญที่ย้ำกับตนเองเสมอ คือไตรลักษณ์ ประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยกตัวอย่างลักษณะแรกคืออนิจจัง หมายถึงความไม่เที่ยง เพราะทุกสิ่งย่อมอยู่ใน 3 สภาวะ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ในทางธุรกิจก็มีลักษณะและเชื่อมโยงเข้าได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ธุรกิจหรือบริการทุกประเภทล้วนไม่เที่ยง เมื่อมีเกิด ตั้งอยู่และในที่สุดก็จะดับไป ตามห้วงเวลาของธรรมชาติ ดังนั้น จึงอยู่ที่ตัวเราว่าจะเข้าใจธุรกิจนั้น ๆ ว่าอยู่ในสภาวะไหน และจะทำอย่างไรต่อไป ภายใต้ความไม่ประมาท”


หลายสิ่งที่ผมทำเพื่อสังคมมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอก คือ “ถ้าเราก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว เราควรจะกลับบ้าน ไปพัฒนาบ้านของตน” ล่าสุดผมเห็นผู้คนไปใช้บริการโรงพยาบาลสองเยอะมาก บางครั้งเกิดความแออัด จึงได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมให้แก่โรงพยาบาลประมาณ 28.5 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาและสังคมผู้สูงวัยต่อไปในอนาคต “การพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำมากหรือทำน้อยประการใด แต่ขอให้กลับมาบ้าน พัฒนาบ้านของเราให้ดียิ่งขึ้น วันนี้ผมมีความสุขมากในการเป็นเสาหลักของครอบครัว ดูแลแม่ และญาติพี่น้อง อย่างเต็มที่ และมองว่าความเจริญของคนเราจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ “ภูมิใจในการทำหน้าที่แทนพ่อ ในการดูแลแม่อย่างเต็มที่”

หรือช่วงที่เรียนปริญญาโท เราเห็นสิ่งที่ขาดของห้องแล็บอยู่หลายสิ่ง จึงเข้าไปสมทบทุนและช่วยรีโทเวตใหม่กว่า 5 แสนบาท “เราเข้ามาอยู่ มาศึกษาและมาใช้ ก็อยากตอบแทนมหาวิทยาลัยกลับไปบ้าง ขณะเดียวกันน้องๆ รุ่นถัดไปก็ได้ใช้ เหมือนเป็นการส่งต่อโอกาส” และเห็นว่าถ้าสภาพแวดล้อมยิ่งดีมากเท่าไร จะเอื้อต่อการศึกษาเล่าเรียนมากเท่านั้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น ยังมีส่วนร่วมกับอีกหลายด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนการศึกษา ด้านวิชาการ กิจกรรมและการเป็นสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษา

จากความมุ่งมั่นทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และการแบ่งปันสังคม รวมถึงความมานะ บวกกับประสบการณ์ทางธุรกิจ เชื่อมั่นว่าจะทำให้ นิรุตติ ก้าวสู่จุดมุ่งหมายในชีวิตและเป็นต้นแบบที่ดีแก่คนรุ่นใหม่ต่อไปได้






กำลังโหลดความคิดเห็น