นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “ปรองดอง-นิรโทษกรรม นิรโทษกรรม-ปรองดอง เพื่อลดความเกลียดชังของทุกฝ่าย” ระบุว่า ตอนนี้สังคมไทยกำลังถกเถียงกันว่า ระหว่างคำว่า "ปรองดอง" จะหมายถึง "นิรโทษกรรม" ด้วยหรือไม่ และคำว่า "ปรองดอง" หมายถึงอะไร มีขอบเขตแค่ไหน จะไปถึงไหน และมีเครื่องมืออะไรที่จะทำให้เกิดการปรองดองได้ และสังคมจะได้อะไรจากการปรองดอง และถ้าไม่มี "นิรโทษกรรม" จะทำให้เกิดการปรองดองไหม กับคำถามของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่เคยถามออกมาดังๆ ว่า "จะปรองดองกับใคร"
การนิรโทษกรรม เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ชาติไทย การนิรโทษกรรมของไทยที่มีชื่อเสียงและถูกนำมาอ้างถึงเสมอก็คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกเมื่อ 23 เมษายน 2523
และที่เถียงกันว่า ถ้า "นิรโทษกรรม" ก่อน จะเกิดการ "ปรองดอง" ไหม และสังคมไทยจะได้อะไร ถ้าเปรียบเทียบกับคำสั่ง "66/2523"
วันนี้นักเคลื่อนไหวในสังคมไทย เอาคำว่า "นิรโทษกรรม" นำหน้าคำว่า "ปรองดอง" พรรคการเมืองขานรับคำว่า "นิรโทษกรรม" เพราะเริ่มรู้สึกว่าเรื่องนี้ควรจะเกิดได้แล้ว เพื่อ "ลดความเกลียดชังและความเคียดแค้น" ระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่ายที่เริ่มมาจากหลังวิกฤตการเมือง 2548
การลดความเกลียดชังและความเคียดแค้น การเหยียดผิว ระหว่างสีผิวในระดับโลก ก็คือการตั้ง “คณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ - Truth and Reconciliation Commission - TRC “ หรือ “แมนเดลาโมเดล” ของอาฟริกาใต้ โดยขอให้ สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู มาเป็นประธาน จุดประสงค์ของงานนี้ของสาธุคุณตูตูคือ “ขจัดความเกลียดชังระหว่างผิวขาวกับผิวดำ” โดยที่คนผิวขาวนอกจากมีความเกลียดชังต่อคนผิวดำแล้ว คนผิวขาวยังมีอำนาจการปกครอง ออกกฎหมาย มีอำนาจตำรวจจัดการคนผิวดำมายาวนาน
เมื่อเกิดการสมานฉันท์แล้ว ก็เกิดประชาธิปไตยนำไปสู่การเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ ซึ่งคนผิวดำได้ประโยชน์เรื่องนี้ กลายเป็นชนชั้นปกครอง คนผิวขาวเป็นผู้ถูกปกครอง ทำให้ความเกลียดชังของมวลชนระหว่างสีผิวได้ลดลงไปจนเกือบไม่เป็นปัญหาระดับประเทศหรือระดับโลก
แต่ปัญหานั้นกลับไปผุดที่สหรัฐอเมริกาแทน ซึ่งฝั่งรากลึกของความเกลียดชังระหว่างสีผิวมานานนับร้อยปี และตัวประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ก็จัดการ “ความขัดแย้งแบบเสริมความเกลียดชัง” ให้มากขึ้นอีก ท่ามกลางการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโคโรนา 2019
กลับมาประเทศไทย ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้น การออกคำสั่ง 66/2523 ไม่ใช่การปลดปล่อยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้พ้นจากคดีความตามกฎหมาย แต่เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยที่นิยมระบอบทุนนิยม ที่อิงกับสหรัฐอเมริกา และปลดปล่อยมวลชนที่นิยมระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ ที่อิงกับจีนแผ่นดินใหญ่ และต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง 2475 ใหม่ จากประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไปสู่การปกครองระบบพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 3 ชุด ชุดหนึ่งคือ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองแห่งชาติ - คอป. โดยเชิญนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และอีกสองชุด มี นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน
ชุดแรกนั้นตั้งใจเลียนแบบ คณะกรรมการ TRC ของแอฟริกาใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการนำข้อเสนอนั้นมาตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ จากนั้นมาก็มีความพยายามมาทุกรัฐบาล จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน
มาวันนี้ ถ้ามีการประกาศนิรโทษกรรมเช่นเดียวกับคำสั่ง 66/2523 ประโยชน์ที่แกนนำทุกฝ่ายได้รับนั้นน้อยนิด ไม่กี่สิบคนหรือร่วมกับมวลชนนับร้อยคนเท่านั้น แต่มวลชนทั้ง 3 ฝ่าย ที่มีจำนวนมากมายมหาศาลกว่าครึ่งประเทศ ทั้งมวลชนฝ่าย พธม. มวลชนฝ่าย นปช. มวลชนฝ่าย กปปส. ต่างหากที่จะลดความเกลียดชังลงไปได้
เพราะทุกครั้งที่มีการตัดสินคดีความในศาล มวลชนทั้ง 3 ฝ่ายต่างแสดงความเกลียดชังและความเคียดแค้นออกมาในโลกของสังคมออนไลน์ โดยมีการกระตุ้นความเกลียดชังจากปัญญาชนระดับชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือศิลปินแห่งชาติ ด้วย
เหมือนกับประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อแกนนำทุกฝ่ายออกมารับผิด และขอโทษแล้ว จึงนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย การปกครองแบบปกติก็มาแทนที่ระบบการปกครองโดยชนกลุ่มน้อยที่เป็นฝรั่งผิวขาว ทำให้ความเกลียดชังและความเคียดแค้นในอดีตลดลงไปทันที
จริงอยู่ที่แอฟริกาใต้มีคนอย่างรัฐบุรุษ เนลสัน แมนเดลา มาทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์ โดยตั้งสาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู เป็นประธาน TRC
เมืองไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ที่ทรงมุ่งเป็นองค์พระประมุขของทุกฝ่าย เป็นสถาบันหลักของชาติ ที่ต้องการความรัก ความเคารพ จากประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันของมวลชนทุกหมู่เหล่า ให้คงอยู่กับสังคมไทยตลอดกาลนาน
การนิรโทษกรรมแกนนำ จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งและความเกลียดชังของมวลชนทุกฝ่ายได้ ความปรองดองก็จะเกิดตามมา และจะเป็นผลดีต่อสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถานบันพระมหากษัตริย์ ชาติก็จะเดินต่อไปได้หลังเหตุการณ์ระบาดของไวรัส COVID – 19
ที่สำคัญ การปรองดองจะเป็นการปลดปล่อยพลังความเกลียดชังและความเคียดแค้นในอดีต มาสู่พลังสร้างสรรค์ในอนาคต เพื่อไปปฏิรูปประเทศ ที่นำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น มากขึ้น จนมีความยากลำบากที่จะลดช่องว่างนี้ลงได้ในเร็ววัน ถ้าไม่ทำให้พลังทุกฝ่ายลดความเกลียดชังมาเป็น "พลังแห่งความรัก" และ "พลังแห่งความสมานฉันท์" ที่ทุกฝ่ายกลับมาทำงานร่วมกัน เช่นที่คำสั่ง 66/2523 ทำสำเร็จลุล่วงมาแล้ว
แต่ถ้าไม่มีนิรโทษกรรม แล้วที่จะนำไปสู่การปรองดอง ความเกลียดชังและความเคียดแค้นในอดีต จะคงดำรงอยู่ในหมู่ประชาชนระหว่างฝ่าย และความเกลียดชังนั้นอาจแปรผันไปสู่ความเกลียดชังต่อชนชั้นผู้ปกครอง ที่มีอำนาจในการออก พรบ.นิรโทษกรรม และสร้างความปรองดอง แล้วกลับไม่กล้าทำ
ทำให้อาจถูกตีความได้ว่า ชนชั้นปกครองไทย มีนโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง" บนความเกลียดชังและความความเคียดแค้นในอดีต
ซึ่งอาจนำไปสู่เงื่อนไขการเกิดความรุนแรงที่ในช่วงรอยต่อระยะการเปลี่ยนผ่านตามที่มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียน อันโตนิโอ กรัมซี่ กล่าวไว้
“ระบอบเก่าเสื่อมแต่ยังไม่สุด ส่วนระบบใหม่กำลังเกิด แต่ยังไม่เป็นตัวเป็นตน”
ปล. ความคิดนี้ พัฒนามาจากเวทีเสวนา"การผนึกทุกภาคส่วน ร่วมวางอนาคตประเทศไทย" จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563