xs
xsm
sm
md
lg

กรมน้ำเร่งสร้าง"อ่างพวง"ครอบคลุมทั่วประเทศ หวังแก้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า กรมทรัพยากรน้ำได้เข้าพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการทำระบบกระจายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำเหลือใช้ไปให้กับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่น้ำไม่พอใช้ หรือระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรืออ่างพวง เพื่อกระจายน้ำให้ประชาชนใช้ให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาภัยแล้งของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการใช้อ่างพวง หรือระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำมาใช้ โดยพื้นที่ไหนมีศักยภาพว่าทำได้ก็จะเข้าไปดำเนินการทันที ซึ่งหลักการทำงานของอ่างพวง คือการนำน้ำส่วนเกินเติมน้ำส่วนที่ขาด โดยให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนสามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างได้ จากการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยขึ้น ซึ่งประชาชนสามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร แต่ต้องมีแผนงานการใช้จ่ายน้ำของแต่ละปี หรือฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้มีน้ำในการบริหารได้ตลอดทั้งปี และในหลายพื้นที่จะมีแหล่งน้ำหลักหรือน้ำขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงใช้วิธีต่อท่อทำเป็นโครงข่ายเอาน้ำไปเติมยังบ่อน้ำที่น้ำแห้ง หรือน้ำไม่พอใช้น้ำหลัก 1 แห่ง

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า อ่างพวงจะช่วยกระจายน้ำไปให้น้ำขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงได้หลายแห่งด้วยกัน และความไกลของบ่อที่จะรับน้ำจากแหล่งน้ำหลักทำได้ตั้งแต่ 10 กิโลเมตรขึ้นไป โดยแต่ละบ่อที่รับน้ำไปแล้วแก้ภัยแล้งได้กว่า 1,000 ไร่ และบางบ่อหรือบางพื้นที่มีประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำร่วมกัน 2-3 ตำบล ซึ่งระบบการกระจายน้ำขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น หากพื้นที่ไหนแหล่งน้ำหลักอยู่ที่สูงจะใช้ระบบแรงโน้มถ่วงของโลก หรือพื้นที่ไหนอยู่ไกลมากจะใช้เครื่องสูบน้ำระบบโซลาร์เซลล์เข้าช่วย ในเบื้องต้นกรมทรัพยากรน้ำมีอ่างพวงอยู่ประมาณ 800 อ่างทั่วประเทศ ดำเนินการแล้ว 7 แห่ง ที่ จ.พิจิตร ลพบุรี ราชบุรี แพร่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย โดยในปี 2564 มีแผนที่จะทำอ่างพวงต่ออีก 10 แห่ง ใช้งบประมาณหลักประจำปีและงบเงินกู้ คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ประชาชนได้