เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.2563) คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงผลการพิจารณาศึกษาแนวทางส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำและเศรษฐกิจชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ณ จุดแถลงข่าว ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา)
โดยทางคณะกรรมาธิการ ขอเสนอไปยังรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณสำหรับทำแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้ และเกษตรกรมีน้ำใช้ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในการปฏิรูปประเทศได้อีกทางหนึ่ง
รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีตัวอย่างการจัดการน้ำชุมชนที่ประสบความสำเร็จใน 60 ชุมชน หรือคิดเป็น 1,652 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถเพิ่มน้ำต้นทุน 83 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง ลดอุทกภัยและภัยแล้ง เกิดความมั่นคงและสมดุลด้านทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร และเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนมีรายได้ ลดหนี้สิน มีเงินออม และเกิดกองทุนชุมชน นำไปสู่ความมั่นคงทางสังคม ซึ่งในอนาคตจะสร้างระบบการจัดการน้ำชุมชนให้มากขึ้น ตั้งเป้าให้ได้อย่างน้อย 120 ล้านไร่ เนื่องจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมาะสมกับสังคมที่ครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำ ดิน ป่า และพลังงานอย่างบูรณาการ
ขณะที่ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการจะเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน ซึ่งแนวทางส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำและเศรษฐกิจชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ก็เป็น 1 ในหลายเรื่องที่พยายามติดตามและมีข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืน