นครพนม - “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ตัวอย่างการจัดการบริหารน้ำอย่างยั่งยืนของ อบต.บ้านผึ้ง ที่ยึดแนวพระราชดำริการจัดการน้ำของในหลวง ร.๙ จากพื้นที่แห้งแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก กลายเป็นพื้นที่มีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดปี ไม่ต้องเปลืองงบแก้ปัญหาเรื่องน้ำ
“ธนาคารน้ำใต้ดิน” เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในท้องถิ่น ซึ่ง อบต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม ทำแล้วประสบความสำเร็จ ชาวบ้านมีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดทั้งปี จนกลายเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นหลายแห่งต้องเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้นำไปเป็นโมเดลแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ของตนเอง
ดาบตำรวจ พิทักษ์ ต่อยอด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง บอกว่า คำว่า “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หมายถึงการที่เรามีทั้งการฝากและถอนน้ำจากใต้ดินมาใช้ ที่ผ่านมาเรามีแต่ถอนอย่างเดียว คือการนำน้ำขึ้นมาใช้ ไม่มีการฝากหรือการเติมน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดิน เวลาฝนตกมากๆ ทุกคนก็จะระบายน้ำออกจากตำบลของตัวเองให้ไหลลงไปสู่แม่น้ำโขงแล้วไหลลงสู่ทะเล ไม่ได้มีการบริหารจัดการน้ำที่มีเหลือเกินใช้นั้นเก็บไว้หรือฝากไว้ใต้ดิน จึงทำให้หน้าแล้งในยามที่ต้องการใช้ น้ำใต้ดินของเราก็ขาดแคลน
โดยเฉพาะน้ำบาดาล ซึ่งชาวบ้านนำมาใช้ในการบริโภคมักจะมีปัญหาแหล่งน้ำแห้งขอด เหลือปริมาณน้ำเพื่อผลิตน้ำประประปาไม่เพียงพอ เมื่อประสบปัญหาอย่างนี้ซ้ำซาก ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้งก็นำมาวิเคราะห์ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
หน้าแล้งแต่ละปีเราต้องขนน้ำไปให้ชาวบ้านได้ใช้ได้ดื่ม เพราะน้ำใต้ดินที่ดูดจากประปาบาดาลนั้นเหลือน้อย ทั้งเค็ม และกร่อย เป็นสนิม ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้
ดาบตำรวจ พิทักษ์เปิดเผยต่อว่า จากนั้นจึงได้นำเอาปัญหาไปศึกษา โดยไปดูแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสไว้ว่าน้ำคือชีวิต น้ำคือความมั่นคง จากนั้นเราก็ไปดูว่าที่ไหนมีการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดินบ้าง ก็พากันไปศึกษาเรียนรู้ให้เห็นกับตา หลังจากนั้นได้กลับมาวางแผน ต่อมาจึงได้กำหนดจุดที่จะขุดบ่อระบบเปิด จำนวน 18 บ่อในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาน้ำแล้งเป็นประจำของตำบล
หลังจากขุดไป 1 ปี ปรากฏว่ามีการชาร์จน้ำลงไปเติมที่บ่อชาร์จและบ่อดัก ทำให้พื้นที่ตำบลบ้านผึ้งและตำบลข้างเคียงมีน้ำบาดาลใช้อย่างเพียงพอ ไม่เค็ม ไม่กร่อย ไม่เป็นสนิม
แต่เดิมถ้าน้ำท่วมจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 วันน้ำถึงจะลดลง ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย แต่หลังจากบริหารจัดการด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว ไม่เกิน 2 วันน้ำลดลงเป็นปกติ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้งไม่ต้องนำเงินไปช่วยเหลือแก้ปัญหาในส่วนนี้ ถือเป็นข้อดีของธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด
อย่างไรก็ตาม ดาบตำรวจ พิทักษ์บอกว่า ในการบริหารจัดการน้ำระยะที่ผ่านมา อบต.บ้านผึ้งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐ ตลอดจนท่านเจ้าคุณสมาน สิริปัญโญ พร้อมทีมงาน AGS และนักวิชาการหลายๆ หน่วยงาน ทั้งกรมน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรน้ำธรรมชาติ ชลประทาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของ ปตท. ที่ได้สนับสนุนเงินทุนมาทำการวิจัย
“อยากให้ท้องถิ่นอื่นได้ทำธนาคารน้ำใต้ดินไว้ใช้ประโยชน์ มันคือความยั่งยืนในอนาคต เราจะเห็นว่าธนาคารน้ำใต้ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง นอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ได้แล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ทำให้หน่วยงานมีงบประมาณเหลือจ่าย นำไปพัฒนาในส่วนอื่นๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” นายก อบต.บ้านผึ้งกล่าวทิ้งท้าย