ครม.ไฟเขียวโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย กรอบวงเงิน 2,875 ล.แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ลุ่มน้ำยมตอนล่าง
วันนี้ (7 เม.ย.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย กรอบวงเงิน 2,875 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการตามแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2563-2567) ซึ่งมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ดังนี้
โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย เป็นการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหลัก โดยการตัดยอดน้ำบางส่วนจากแม่น้ำสายหลัก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับปริมาณน้ำได้ ซึ่งเริ่มจากจุดรับน้ำบริเวณคลองหกบาท ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ไปยังจุดระบายน้ำลงแม่น้ำน่านบริเวณปลายคลองยม-น่าน ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกรมชลประทานจะดำเนินการปรับปรุงคลองหกบาท จากเดิมที่สามารถรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองลดลงเท่ากับความสามารถที่รับได้ของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในสภาวะปกติ ซึ่งปริมาณน้ำจากคลองหกบาทจะถูกระบายไปที่คลองยม-น่าน ที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าที่สามารถรับน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งในระหว่างนี้กรมชลประทานจะดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดหาที่ดิน ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะเป็นโยชน์ในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุม 15 ตำบล 27 หมู่บ้าน 5,340 ครัวเรือน และสามารถกักเก็บน้ำในแนวคลองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรและการปศุสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,300 ไร่
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี