ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์บทความบนเฟซบุ๊ก
“มานะ นิมิตรมงคล” ระบุว่า กลโกงที่ต้องระวังในการใช้จ่ายเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
1. โกงระหว่างดำเนินโครงการ
1.1 จัดซื้อจัดจ้าง เป็นการโกงที่ง่ายและทำกันมากทุกยุคสมัย
1.2 ผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ทำให้ตนเองหรือพวกพ้องได้โอกาสพิเศษหรือได้ก่อนคนอื่น
1.3 ลักขโมยหรือยักยอก เช่น เจ้าหน้าที่แอบขายของหลวงที่มีไว้แจกจ่ายประชาชน
1.4 การซื้อขายงบประมาณหรือโครงการ เช่น การวิ่งเต้นเส้นสายดึงโครงการลงพื้นที่ของตน
1.5 คนรับผลประโยชน์เป็นผู้โกงเงินหลวง เช่น ได้โดยไม่มีสิทธิ์ ได้ซ้ำซ้อนหรือได้มากกว่าผู้อื่น เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นโดยมีหรือไม่มีข้าราชการร่วมรู้เห็นก็ได้
2. โกงตั้งแต่เขียนนโยบาย (คอร์รัปชันเชิงนโยบาย)โกงแบบนี้สร้างความเสียหายให้บ้านเมืองมากที่สุด เป็นการโกงขนาดใหญ่ที่พิสูจน์เอาผิดยากเพราะเบื้องหลังได้วางแผนฉ้อฉลที่แยบยลไว้แล้ว เพื่อกอบโกยเงินทองหรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง
อนึ่ง นโยบายที่ดีต้องไม่เอื้อให้กลุ่มการเมืองหรือบุคคลใด และต้องสนองความต้องการของประชาชนเพื่อก่อให้เกิดการฟื้นฟูประเทศอย่างแท้จริง
3.โกงในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
เป็นความสูญเปล่าที่พบบ่อยมากคือ ทำงานสักแต่ใช้เงินก็ถือเป็นผลงานแล้ว บ้างก็ใช้เงินหลวงจัดงานเอาใจชาวบ้าน เช่น จัดอบรมโดยเกณฑ์ชาวบ้านมาให้ครบจำนวนที่ตั้งไว้ ให้ทุกคนลงชื่อ จ่ายเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง โดยไม่สนใจว่าเขาจะเป็นใคร ความรู้ที่อบรมจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้หรือไม่
เงินก้อนนี้ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นการใช้จ่ายผ่านหน่วยงานนับหมื่นแห่งทั่วประเทศจึงยากที่จะตรวจสอบ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการโกงทุกรูปแบบที่กล่าวมา หนทางป้องกันที่ทำได้คือ รัฐบาลต้องจัดการทุกอย่างให้ “โปร่งใส” ด้วยการเปิดเผยและยินยอมให้ประชาชนตรวจสอบได้อย่างเต็มที่เท่านั้น
ขอใช้พื้นที่ท้ายบทความนี้ขอกล่าวขอบคุณ พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ พี่เพิ่มพงษ์ เชาวลิต พี่ประยงค์ ปรียาจิตต์ ที่กรุณาให้ข้อคิดดีๆ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันของประเทศลึกซึ้งมากขึ้น