xs
xsm
sm
md
lg

อภ.เดินหน้าพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด-19 คาดสำเร็จปลายปี 64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เภสัชกรหญิงนันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ได้วิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) สำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยในระยะแรกได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาทดลองพัฒนาสูตรเบื้องต้น 100 กรัม และสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 กิโลกรัม ซึ่งจะมาถึงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และประสิทธิผลทางชีวสมมูล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน และวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอรองรับการรักษาผู้ป่วยภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะวิกฤตและระยะยาว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องประมาณ 1-2 ปี

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมมีการดำเนินงานพร้อมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ การนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ในระยะเร่งด่วน มีการนำเข้ายาต้นแบบจากบริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีน ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งได้นำเข้ามาแล้ว 187,000 เม็ด และพฤษภาคมนี้ นำเข้ามาอีก 303,860 เม็ด

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่ดำเนินการคู่ขนานกับการนำเข้านั้น ได้มีการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้พัฒนาและผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ได้เองภายในประเทศ โดยจัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาเพื่อทดลองผลิตในเบื้องต้นและอยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ศึกษาความคงสภาพ และศึกษาประสิทธิผลทางชีวสมมูล เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน

นอกจากนี้ การดำเนินการด้านวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ โดยองค์การเภสัชกรรมได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สวทช. 4.28 ล้านบาท สำหรับดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน จากนั้น องค์การเภสัชกรรมนำมาขยายขนาดการสังเคราะห์สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายน 2564

เภสัชกรหญิงนันทกาญจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ได้มายื่นคำขอสิทธิบัตรด้านการผลิตเม็ดยา Favipiravir ที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2553 แต่ปัจจุบันยังเป็นเพียงคำขอสิทธิบัตรเท่านั้น หากยาดังกล่าวได้รับสิทธิบัตร จะได้ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี โดยนับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรในไทย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสูตรภายในประเทศสามารถทำได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง แต่หากผลิตจำหน่ายในท้องตลาด อาจโดนฟ้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น อาจต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตและจำหน่าย