xs
xsm
sm
md
lg

กรมปศุสัตว์ยืนยันควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยในโคมมได้ วอนอย่าตื่นตระหนก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคปากเท้าเปื่อยในโคนม ที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ว่า การควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยนั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรในทุกกรณี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำกับเกษตรกรแล้ว

สำหรับสาเหตุที่เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในโคนมช่วงนี้ มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่ออาหารของวัว คือหญ้า ขาดแคลนและอาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้วัวอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการกินฝุ่นข้าวโพดที่มากจนเกินไป ส่งผลต่อการย่อยของวัว โดยอำเภอมวกเหล็ก มีพื้นที่กว้าง และมีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่น มีเกษตร 2,390 ราย โคนม 99,897 ตัว ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ เช่น มูลสัตว์ น้ำนม อาหารสัตว์ ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมโรคล่าช้า โรคแพร่กระจายไปเป็นวงกว้าง รวมถึงฟาร์มส่วนใหญ่ไม่มีระบบป้องกันโรคเข้าฟาร์มตามมาตรฐาน และฟาร์มส่วนใหญ่ไม่ผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

เบื้องต้นได้แนะนำให้เกษตรกรควบคุมการเข้า-ออกฟาร์มอย่างละเอียด มีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง ผ่านอ่างเก็บน้ำยาฆ่าเชื้อ หมั่นสังเกตอาการของวัว งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยงให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนม และอุปกรณ์ต่างๆ

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากวัวมีอาการน้ำลายยืด ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าดูแลอาการ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย วัวทั่วไปปีละ 2 ครั้ง ส่วนวัวนมปีละ 3 ครั้ง โดยทางปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนให้ฟรี หากเกษตรกรคนใดยังไม่ได้นำวัวไปฉีดวัคซีน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อทำการฉีดให้ฟรี ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนให้วัวไปแล้ว 91,842 ตัว

สำหรับอาการโรคปากเท้าเปื่อย สัตว์จะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล มีเม็ดตุ่มใสพุพองเกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบ ต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกะเผลก น้ำลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม

ขณะที่สถานการณ์โรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีได้ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่จำพวกโค กระบือ แพะ แกะ สุกร หมูป่า และกวาง ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็กได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคปากและเท้าเปื่อย ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านคลองม่วงใต้ ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2563 จนถึง 9 กุมภาพันธ์ 2563 เบื้องต้นมีเกษตรกรแจ้งมาแล้ว 108 ราย มีโคนมร่วมฝูง 5,654 ตัว ที่ป่วย และได้ทำการรักษาให้หาย โดยเหลือ 897 ตัว ที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการ