xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกประกาศยกระดับ "เชื้ออหิวาต์หมู" สกัดเข้าประเทศ ยันไม่ติดสู่คน แต่หากระบาดกระทบส่งออก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ออกประกาศยกระดับเชื้อ "อหิวาต์แอฟริกาในหมู" เป็นเชื้อโรคกลุ่ม 3 ต้องขออนุญาตครอบครอง ดำเนินการได้เฉพาะห้องแล็บปศุสัตว์ หวังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ สกัดเชื้อเข้าประเทศไทย คร.ยันไม่ติดต่อสู่คน อย่ากังวล กินเนื้อหมูได้ตามปกติ แต่ขอให้ซื้อหมูที่มีแหล่งที่มา ไม่เอาหมูป่วยตายมากิน เพราะยังเสี่ยงโรคอื่นจากหมู

วันนี้ (25 ธ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง รายการเชื้อโรค ที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา 18 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ซึ่งมีการปรับเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู จากเชื้อโรคกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ 3 ว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยที่ต้องยกระดับเนื่องจาก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หากระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ โดยมีการรายงานการระบาดโรคในหลายประเทศ แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีการระบาดในไทย โดยโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกร มีหมูป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะ แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หากมีการระบาดในประเทศจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ขณะที่เชื้อไวรัสก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง และสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากเนื้อสุกร โรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบ 100% หลายประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดและวางมาตรการรับมือกับโรคนี้ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมฯ เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านชีวภาพ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีโอกาสหลุดลอดเข้ามาในประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ภายใต้ พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการครอบครองเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยแก้ไขระดับความเสี่ยงและความอันตรายของเชื้อโรคดังกล่าวในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเชื้อดังกลาวจากเชื้อโรคกลุ่มที่ 2 เป็นเชื้อโรคกลุ่มที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตในการดำเนินการผลิต ขาย มีไว้ในครอบครอง นำเข้า ส่งออก และนำผ่านทุกครั้ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำกัดการครอบครองเชื้อ โดยกำหนดให้ดำเนินการได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ กรณีหน่วยงานอื่นที่ประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อนี้ ให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ โดยคำแนะนำของกรมปศุสัตว์

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน ซึ่งปศุสัตว์จะมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามา ส่วนเรื่องของคน แม้จะไม่ติดต่อสู่คนก็ไม่ให้ประมาท และไม่แนะนำให้กินเนื้อหมูป่วยหรือตายไม่รู้สาเหตุ เพราะในเนื้อสัตว์ไม่ได้มีแค่เชื้อดังกล่าวอย่างเดียว ยังมีเชื้ออื่นๆ ด้วย เช่น เชื้อโรคไข้หูดับ ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคืออย่ากินหมูที่ไม่รู้แหล่งที่มา ซึ่งในต่างจังหวัดบางครั้งหมูตายแล้วมักง่าย เอาไปชำแหละขายราคาถูก บางทีหมูที่ตัวเองเลี้ยงไว้ตาย เสียดาย ไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นโรคอะไร ก็เอามากิน ก็จะป่วยตั้งแต่คนชำแหละและคนที่อาจไปกิน สำหรับคนที่จะกินเนื้อหมูดิบ ก็ต้องรู้แหล่งว่าปลอดภัยจริง เช่น มีการเลี้ยงอย่างปลอดภัยมากที่สุด คือ างคนชอบเอาไปรวน แต่ถ้าหมูเลี้ยงปลอดภัย เราก็ไม่ได้ห้าม ถ้าไม่รู้ก็ต้องทำให้สุก ดังนั้น โรคอหิวาต์แอฟริกาหมูคนทั่วไปไม่ต้องกังวล ยังรับประทานเนื้อหมูได้ แต่เลือกซื้อจากแหล่งที่มีที่มา ส่วนที่ควรกังวลคือผู้เลี้ยงสุกรและปศุสัตว์ ถ้ามีโรคและระบาด จะมีปัญหาเรื่องการขาย


กำลังโหลดความคิดเห็น