xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสืบฯ ส่ง จม.ถึงนายกฯ กรณีซุปหูฉลามงานเลี้ยงพรรคร่วม รบ.แนะทบทวน 4 โครงการกระทบสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (6 ธ.ค.) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอเสนอให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยระบุว่า

สืบเนื่องจากข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ที่แสดงภาพงานเลี้ยงของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการเสิร์ฟเมนูซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดินในงานเลี้ยง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา จากภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจต่อเรื่องการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากพอ

ข้อมูลจากรายงาน "Global catches, exploitation rates, and rebuilding options for sharks" ที่ตีพิมพ์ลง Marine Policy Scientific Journal พบว่า ในแต่ละปีฉลามราว 100 ล้านตัว ต้องถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบจากฉลาม 73 ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม การล่าฉลามเพื่อตัดครีบเป็นการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนและโหดร้าย โดยฉลามถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงอยากให้พรรคร่วมรัฐบาลได้แสดงออกถึงความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม โดยการประกาศสั่งห้ามไม่ให้มีการเสิร์ฟซุปหูฉลามในงานเลี้ยงของหน่วยงานภาครัฐอีก เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนและเยาวชนคนรุ่นต่อไปที่จะเข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ขอเสนอให้ภาครัฐทบทวนโครงการอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงไปด้วยอีกหลายโครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแนวทางการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะตัดผ่านใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
สลักพระ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่ในอนาคต โดยขอให้พิจารณาเส้นทางผันน้ำอื่น คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น นอกจากต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และทำให้เกิดเส้นทางเรือสินค้าผ่านอุทยานแห่งชาติทางทะเลตะรุเตา ซึ่งท่าเรือดังกล่าวจะต้องมีกิจกรรมขนาดใหญ่มากมายเทียบเท่าท่าเรือแหลมฉบัง หรือมาบตาพุด ในอนาคตปะการังอ่อนที่สวยงามที่สุด รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญต่อทรัพยากรการประมงและการท่องเที่ยว ซึ่งบริเวณนี้เป็นทรัพยากรทางทะเลที่ดีที่สุดจะต้องถูกทำลายลงอย่างไม่มีวันฟื้นตัวกลับคืนมา

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงการที่ภาครัฐต้องการจัดระเบียบแม่น้ำเจ้าพระยาและพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของประเทศ แม่น้ำเจ้าพระยาคือพื้นที่สำคัญ การทำสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลงไปในแม่น้ำ จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้ ยังอ่อนไหวต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ จึงควรยกเลิกแนวคิดทำทางเลียบดังกล่าว และหันมารักษาฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาแทน

โครงการกำแพงหรือเขื่อนกันคลื่น เป็นโครงการที่กำลังรุกหนักตามแนวพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ส่งผลให้คลื่นเปลี่ยนทิศทางจากเดิม ทำให้พื้นที่ที่ถัดออกมาจากจุดที่มีโครงสร้างแข็งถูกกัดเซาะมากขึ้น จากข้อมูลเมื่อปี 2559 ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันระยะทางประมาณ 3,100 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งโครงสร้างแข็งทุกรูปแบบส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง รุนแรงกว่าการกัดเซาะตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เสนอให้เปลี่ยนมาจัดการในลักษณะกลุ่มหาด ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอเสนอรัฐบาลให้ทบทวนโครงการต่างๆ ดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและใส่ใจที่จะคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาตามวิสัยทัศน์ของประเทศ คือ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน" สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโครงการพัฒนาต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาที่รอบคอบและรอบด้าน และมีมาตรการลดผลกระทบให้ได้มากที่สุดอีกด้วย ทั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม