xs
xsm
sm
md
lg

ทส.เล็งใช้ ม.44 ยุบรวม"กรมน้ำ-กรมน้ำบาดาล"ผุดกรมพัฒนาน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กำลังจะยุบรวมกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นกรมเดียวกัน โดยรัฐบาลตั้งใจที่จะนำเรื่องน้ำเป็นวาระของชาติ ซึ่งกรมที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นั้นจะดูแลครอบคลุมทุกแหล่งน้ำ เช่น น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ระบบน้ำทางท่อ ระบบน้ำจากซอกหิน เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น โดยขณะนี้ได้วางกรอบโครงสร้างใหญ่ๆ แล้ว แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่ลงตัว ส่วนข้าราชการและพนักงานราชการในทุกตำแหน่ง จะต้องไม่เดือดร้อนในการโยกย้ายเปลี่ยนเป็นกรมใหม่ อย่างไรก็ตาม คงไม่นำกรมชลประทานมารวม เพราะกรมชลประทานต้องดูแลพื้นที่เกษตรกรรมในเขตกรมชลประทาน ส่วนเขตนอกชลประทานจะมีกระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดูแลเอง

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ จะจัดตั้งเป็นสภาพัฒนาน้ำ ที่จะเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ ซึ่งต้องดูแลโครงการน้ำขนาดใหญ่ เช่น การผันน้ำระหว่างประเทศ การกระจายน้ำระบบท่อ เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศด้วย โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่าจำเป็นที่ต้องใช้มาตรา 44 หรือไม่ในการตั้งกรมใหม่ เพราะอยากให้โครงสร้างหลักลงตัวก่อน หากโครงสร้างกรมใหม่เสร็จแล้วจะส่งให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณา จากนั้นฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาว่าควรจัดตั้งเลยหรือไม่ ซึ่งภายในปี 2559 จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ทางด้านอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการจัดตั้ง กรมพัฒนาน้ำ โดยระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวความพยายามใช้มาตรา 44 เพื่อจัดตั้งกรมพัฒนาน้ำขึ้นใหม่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการรวมกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเดิม และเพิ่มอำนาจหน้าที่เข้าไปอย่างมากนั้น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ วสท.ไม่เห็นด้วยกับการพยายามดำเนินการดังกล่าว ด้วยเหตุผลและประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย มีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2550 

2.จะเป็นการขัดต่อร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำประเทศ โดยจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้จัดทำแผนนโยบาย และควบคุมกำกับการใช้งบประมาณของประเทศในการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำ 3.เป็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม ได้แก่ กรมชลประทาน ซึ่งปฏิบัติภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศมาอย่างยาวนาน และ 4.ในการกำหนดหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งดำเนินงานทั้งการวางแผน ปฏิบัติงาน และติดตามประเมินผลภายในหน่วยงานเดียวกัน เป็นการรวมศูนย์อำนาจ เป็นแนวคิดการบริหารเบ็ดเสร็จแบบเดิมที่ขัดต่อหลักการปฏิรูปและหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการของประเทศในอนาคต จากเหตุผลและประเด็นดังกล่าว จึงยังไม่จำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น