xs
xsm
sm
md
lg

"ทีโอที"มีเฮ ศาลปกครองสั่งไม่ต้องจ่าย"ทรู" 9 พันล้าน หลังสู้คดี 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนคำชี้แจงของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ที่ให้ บมจ.ทีโอที แบ่งผลประโยชน์ตอบแทน และชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 9,175 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการนำบริการพิเศษตามสัญญาร่วมการงาน และร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์มาผ่านโครงข่ายของกลุ่มทรู

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวทีโอทียื่นคำร้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2549 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการ และกลุ่มทรูซึ่งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาตามกฎหมายไทยตามที่กำหนดในสัญญา และมาตรา 34 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทมีเจตนารมณ์ให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดสรรต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมาตรา 25 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 บัญญัติให้การเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่าย (แอ็คเซ็ส ชาร์จ หรือไอซี) โทรคมนาคมต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม

โดยให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียม และค่าบริการโทรคมนาคม รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (8) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543

นอกจากนี้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาท โดยพิจารณาแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนด้วยการคำนึงถึงความสุจริตยุติธรรม และปกติประเพณีตามมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการชี้ขาดข้อพิพาท โดยไม่ได้พิจารณาถึงความสมเหตุสมผล และเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ขอใช้หรือขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทุกราย จึงเป็นการไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ดังนั้นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ และศาลต้องปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องด้วยในผล และมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น