xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : คืนความสุขให้คนในชาติ 8 กรกฎาคม 2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน วันนี้มีความสำเร็จของนักกีฬาไทยอีก 2 คน ที่ทำให้คนไทยทั้งชาติมีความสุข ภาคภูมิใจ และเป็นเครื่องยืนยันว่า คนไทย ชาติไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร และไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้นะครับ คนแรกก็คือ น้องณี สุธิยา จิวเฉลิมมิตร นักยิงเป้าบินสาวไทยนะครับ ที่ล่าสุดสหพันธ์กีฬายิงปืนนานาชาติ หรือ ISSF ได้จัดอันดับให้ขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกอย่างเป็นทางการ ด้วยผลงานที่ผ่านมามากมายในระดับโลก ล่าสุดคว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับโลก 2 รายการติดต่อกันคือ แชมป์ ISSF World Cup 2016 ที่บราซิล และซานมาริโน เป็น 1 ใน 50 นักกีฬาไทย ที่ได้โควต้าเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมครั้งที่ 31 ณ ประเทศบราซิล เดือนหน้านี้

คนที่ 2 คือ โปรช้าง ธงชัย ใจดี แชมป์กอล์ฟยูโรเปี้ยนทัวร์ รายการ โอเพ่นเดอฟร้องซ์ ปีที่ 100 เป็นอดีตทหารจากศูนย์การสงครามพิเศษ ทราบว่ารางวัลนี้เป็นของขวัญวันเกิดให้ลูกชายด้วยนะครับ นับเป็นโปรกอล์ฟที่มีอายุมากที่สุดที่ชนะรายการนี้

ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย ในการแสดงความยินดี ในความสำเร็จ ซึ่งต้องแลกมาด้วยความวิริยะ อุตสาหะ และทุ่มเท อย่างมากในการฝึกซ้อม ผมขอยืนยันกับนักกีฬาของไทยทุกท่านนะครับ ตามที่น้องณีได้กล่าวไว้ว่า ท่านไม่ได้เดินคนเดียว ท่านเป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ และทุกคนติดตามให้กำลังท่านเสมอมาในทุกสนามการแข่งขัน รวมทั้งนักเรียน นักวิจัย ผู้แทนหรือทีมชาติไทย ที่ไปแข่งขันในรางวัลต่างๆ อีกนะครับ หลายประเภทด้วยกัน อาทิเช่น ล่าสุด สสวท. ได้นำคณะผู้แทนนักเรียนไทยเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ – วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศประจำปี พ.ศ. 2559 ทั้ง 20 คน ใน 5 สาขาวิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและคอมพิวเตอร์ ก็ขอให้ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดนะครับ เป็นทูตทางวิชาการไปด้วย ขอให้ประสบความสำเร็จสมดังที่มุ่งมั่นตั้งใจทุกคน

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในระดับโลก ทั้งนักกีฬา นักเรียน นักวิจัย หากสังเกตให้ดีแล้ว ภาษาอังกฤษนั้นจะเป็นภาษาสากล ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งนะครับ ในการที่จะเข้าถึงแหล่งวิชาการ เพื่อนำมาพัฒนาตนเอง ให้อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับผู้แข่งขันชาติอื่นๆ ทั่วโลก เราจะสามารถสื่อสารกับคนได้ทั่วโลก ในกิจการของตน รัฐบาลจึงได้เห็นความสำคัญ และผลักดันหลายโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ด้วยการปฏิรูปการศึกษาของไทยในด้านการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องเหล่านั้นที่รัฐบาลให้ความสำคัญอาทิ เช่น Con-Next-E-D ซึ่งเป็นโครงการผู้นำ เพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ด้วยความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ที่ภาคเอกชนเข้ามาเติมเต็มภาครัฐด้วย

อันที่ 2 ก็คือ แอปพลิเคชันภาษาอังกฤษในมือถือชื่อ Echo English และ 3 โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

นอกจากนั้น รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตทุกหมู่บ้าน ให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ในทุกสาขาวิชาชีพ จากแหล่งข้อมูลทางวิชาการทั่วโลก ที่มักจะเป็นภาษาอังกฤษด้วย ต่อไปคนไทยต้องกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ไม่ให้ใครมาป้อนแบบเด็กๆ เหมือนที่ผ่านมา ต้องเลือกทานได้ เราไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของแต่ละคนได้ โดยไม่ยั่งยืน เราต้องดูความยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้มากขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ตลอดชีวิต และทุกอย่างต้องระเบิดจากข้างใน คือตนเองนั้นต้องอยากรู้และอยากเรียนด้วย เราบังคับใครไม่ได้มากนักในเรื่องเหล่านี้

ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาตินั้น ให้รองรับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เรามีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกภาคส่วน ทุกคน ต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันเราจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่การเป็น คนไทย 4.0 วันนี้ต้องยอมรับว่าเรามีหลายระดับด้วยกัน ไม่ว่าจะ 3.0, 2.0, 1.0 ก็มีคละเคล้ากันไปนะครับ เราติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่ในปัจจุบัน เราจะก้าวไปสู่ 4.0 ได้ทั้งหมด เราก็เอา 3.0 เป็น 4.0 ก่อน ในส่วนของ 1.0, 2.0 ต้องทำไปสู่ 3.0 แล้วก็นำไปสู่ 4.0 เพราะงั้นระยะเวลาใช้เวลาแตกต่างกัน รัฐบาลแยกแยะเพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นเหมือนกับเราตัดเสื้อตัวเดียว ไม่ได้ทั้งหมดแหละ เพราะงั้นถือว่าคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว เราจะต้องมีนวัตกรรม มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจประเทศจะต้องเข้มแข็ง ครบวงจร เราจะต้องมีมูลค่าสินค้าของเราให้สูงขึ้น สร้างห่วงโซ่มูลค่า ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน CLMVT อาทิเช่น 1.ชาวนาชาวสวน เราจะทำนาตามมีตามเกิด คอยฟ้า คอยฝน หวังธรรมชาติอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว เราจะต้องเป็น Smart Farmer ต้องนำความรู้ หลักวิชาการ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยด้วยนะครับ คือทำน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นใช้พื้นที่ให้น้อยลง ใช้น้ำให้น้อยลง แต่ผลผลิตต้องมากขึ้นนะครับ ในส่วนภาครัฐก็ลงทุนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Agri Map นะครับ เป็นแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลด้านเกษตรกรรมทั้งเรื่องน้ำ ดิน พืช ประมง การตลาด โลจิสติกส์ และข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ขอบเขตการปกครอง การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น ขอให้ช่วยกันร่วมมือกันในทุกเรื่องที่ผมกล่าวมา

เรื่องที่ 2 คือเรื่องแรงงาน แรงงานทุกคนต้องพัฒนาตนเองให้มีทักษะมากขึ้น เชี่ยวชาญในวิชาชีพมากขึ้น ใช้ความรู้สมัยใหม่ เพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคดิจิทัล โดยภาครัฐก็ดำเนินการบูรณาการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ นะครับ ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลแรงงาน เพื่อให้การผลิตแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน อย่างแท้จริง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิเช่น ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะต้องปฏิรูปการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาสร้างชาติมากขึ้น และหลักสูตรทวิภาคีศึกษา ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวะ ได้ฝึกงานจริงในสถานประกอบการอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับกับอัตราค่าจ้าง ที่เหมาะสมกับความรู้ ทักษะ ฝีมือ และความสามารถของแต่ละบุคคลเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุนอุดมศึกษาด้วยนะครับ คงเน้นอาชีวะอย่างเดียวไม่่ได้ เพราะว่าสถาบันอุดมศึกษานั้น ต้องผลิตคนอีกหลายประเภทด้วยกัน เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่ 4.0 เพราะงั้นเราต้องเตรียมการทุกอย่าง ตั้งแต่แรงงาน ตั้งแต่ความรู้ การพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจะนำเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น เราก็ต้องมีรายได้ในการดูแลเกี่ยวกับเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้นแรงงานในวัยฉกรรจ์ก็ลดลงเราก็ต้องพัฒนาไปสู่การใช้นวัตกรรม ใช้เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ ถ้าเราผลิตเองได้ก็ประหยัดลงได้มาก

เรื่องที่ 3 คือกรณีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้ไม่ต้องต่อสู้อุปสรรคด้วยตัวเองแต่เพียงลำพังอย่างเดียว ในการทำธุรกิจ ธุรกรรม ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างนะครับ เราก็จะส่งเสริม ในเรื่องของการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็น Smart Enterprise หรือ Smart Star-up นอกจากนั้นจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ชั้นนำของประเทศ มาช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ด้านความรู้และประสบการณ์ ในลักษณะพี่ช่วยน้อง เพื่อช่วยเพื่อน และภาครัฐก็มีนโยบายส่งเสริมอย่างครบวงจรด้วย ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต คมนาคมขนส่ง อินเตอร์เน็ต ดิจิตัลอีโคโนมี อีคอมเมิร์ส และศูนย์บริการ OSS กับบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี จำกัด ให้มีการจับคู่ทางธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน สร้างแรงจูงใจ รวมทั้งการอำนวยความสะดวก ในการประกอบธุรกิจและการลงทุนในประเทศ ได้มีการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กระจายทั่วภูมิภาคของประเทศให้สอดคล้องกับ ไมโครคลัสเตอร์ในระดับจังหวัด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งจากข้างในท้องถิ่นชุมชนเองนะครับ ให้มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด 4.0 ผ่านกลไกประชารัฐเชิงพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้แทนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนเข้าร่วมด้วย ทั้งหมดนั้นจะช่วยให้ความมั่งคั่งนั้นไม่กระจุกตัวในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ๆ นะครับ ความเจริญจะกระจายสู่ท้องถิ่น เรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ทุกคนช่วยกันร่วมมือ อดทน แก้ไขปรับปรุงด้วย

กุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้างคนไทย 4.0 เพื่อรองรับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 นั้น รัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในแต่ละภูมิภาค ทุกประเภท จะต้องเข้ามาสนับสนุนด้านการศึกษา การวิจัย และพัฒนาในแต่ละกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป้าหมายตัวอย่างเช่น 1.อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลาฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา

2.กลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและชีวภาพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติ อัจฉริยะ ดิจิทัล และหุ่นยนต์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัย.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2559 ได้รับรายงานว่า มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2559 จำนวน 504 โครงการ เพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 230,000 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้น 410 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 40 เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้มีการลงทุนตามคำขอรับการส่งเสริมต้นทุนดังกล่าว ทั้งในระดับของไทย และจากต่างประเทศ จะสามารถสร้างงานให้กับคนไทยได้ 48,000 ตำแหน่ง มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 219,000 ล้านบาทต่อปี และใน 2-3 ปีข้างหน้า จะเกิดมูลค่าจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นรายได้ให้ประเทศ ราว 268,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผมเห็นว่าโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทยยังมีอีกมาก เราต้องเตรียมความพร้อมตัวเองในการที่จะเป็นคนไทย 4.0

อย่างไรก็ตาม ต้องดูแลคนอื่นๆ ด้วย ที่อาจจะช้ากว่าเราหรืออาจจะกำลังพัฒนาอยู่ ต้องช่วยกันทั้งหมดนะครับ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันเรื่องการวิจัยและพัฒนา รัฐบาลกำลังทำยุทธศาสตร์การวิจัย และพัฒนาในระยะยาว จะต้องร่วมมือกันทั้งสถาบันของรัฐ ของเอกชน ของสถาบันการศึกษาให้มันเป็นระบบ ครบวงจร ตรงความต้องการในเรื่องของการวิจัย ขณะเดียวกันต้องนำสู่การผลิตจับคู่การผลิตให้ได้ อะไรที่จะให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่รับไป ขนาดกลาง ขนาดเล็กรับไป เราต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เขาด้วย แล้วก็มีรายได้ให้กับนักวิจัย เพื่อจะได้มีกำลังใจต่อไปในอนาคต

เราได้ร่างกติกาเหล่านี้ไว้ทั้งหมดแล้ว ก็อยู่ที่การปฏิบัติ เมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงในอนาคต เราจะต้องเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มมูลค่าสินค้าต่างๆ ที่มีราคาต่ำลงในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่เกิดจากการเกษตร เราต้องเพิ่มให้มีรายได้สูงขึ้น แล้วอีกเรื่องก็คือเรื่องอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย เราต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดนะครับ ที่ผ่านมานั้นในช่วงยุคไทยแลนด์ 3.0 ซึ่งเรากำลังติดอยู่ตรงนี้ อุตสาหกรรมและวิสาหกิจของไทยนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่ตรงตามความต้องการในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจระบบรากแขนง ไม่มีความมั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ต่อยอด วันนี้ ในการก้าวเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 เราต้องการเศรษฐกิจระบบรากแก้ว ซึ่งเราต้องพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SME Start-up ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของเราเอง หรือเป็นการสร้างห่วงโซ่มูลค่าในประเทศ ก่อนที่จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค หรือโลก ในอนาคต บนโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์และ ICT ที่รัฐกำลังเร่งรัดให้เกิดขึ้นในขณะนี้

ตัวอย่างเช่น การนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวไทย ที่มีอยู่มากมาย แต่อาจจะไม่เคยนำไปสู่การผลิตอย่างแท้จริง ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ทั้งนี้ในการประชุมที่ผ่านมาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2559 ก็ได้มีข้อเสนอให้ผมจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว ก็ได้มีการหารือ แล้วก็ยกระดับในเรื่องของการอำนวยความสะดวก งานวิจัยข้าว ไปสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นการวิจัย การเจาะตลาดนวัตกรรมข้าว ก็จะเป็นที่ทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้มีประสบการณ์ ด้านนวัตกรรม ด้านการตลาด และธุรกิจ ในเชิงช่วยวิเคราะห์ตลาด กำหนดโจทย์ในการวิจัย สร้างเครือข่ายทางธุรกิจและวิชาการ ตลอดจนขับเคลื่อนให้มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวออกสู่ตลาด ทั้งในและนอกประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ตัวอย่าง อีกอันหนึ่งก็คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากรำข้าว ประมาณ 0.6 ล้านตัน คิดเป็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ จากผลผลิตข้าว 27 ล้านตันต่อปี เราจะต้องนำมาแปรรูปผลิตเป็นน้ำมันรำข้าว เครื่องสำอาง อาหารเพื่อสุขภาพ สารเคลือบผลไม้ เราก็จะสามารถเพิ่มมูลค่ารำข้าวจากเดิมที่มีมูลค่าเพียง 6,000 ล้านบาท เป็น 26,000 ล้านบาท หรือมากกว่า 4 เท่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก ก็ได้สั่งการเพิ่มเติมในที่ประชุมไปแล้วว่า ให้ขยายขอบเขตไปสู่พืชผลการเกษตรประเภทอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะ 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และยางพารา โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาง กับ 147 บริษัท จาก 28 ประเทศ จะสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 20,000 ล้านบาท แต่ก็คงเป็นมาตรการส่งเสริมระยะสั้นนะครับ ในระยะยาว ก็จะมีสถาบัน หน่วยงาน ในลักษณะตามที่ นบข. เสนอมา มาดูแลอย่างต่อเนื่อง ครบวงจร มันก็จะสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรของไทยได้

ปัญหาที่สำคัญในเรื่องนี้คือ 1. การเกษตรเหล่านี้เรื่องความสมดุล ดีมานด์และซัพพลาย เรายังลดพื้นที่บางอย่างไม่ได้ พืชบางอย่างปลูกมากไปราคาตก ถ้ายังลดพื้นที่ไม่ได้ ต้องลดด้วยการเอามาทำมูลค่าเพิ่ม ชดเชยอนาคตที่เราต้องลดพื้นที่เหล่านั้นลงไปให้ได้ ไม่งั้นเกษตรกรแย่ลงทุกวัน วันนี้ น่าเห็นใจเขา

สำหรับการทำเกษตรแปลงใหญ่ ตามนโยบายรัฐบาล ขอให้ติดตามการประชาสัมพันธ์รัฐบาลด้วย เป็นมาตรการมุ่งเน้นให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การปฏิรูปภาคเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยกลไกประชารัฐ มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องจักรเครื่องมือ งานวิจัยพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการภาคเอกชน ที่เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ ในปัจจุบันผลงานของกระทรวงเกษตรมีทั้งสิ้น 580 แปลง บนพื้นที่ 1.34 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 85,000 ครัวเรือน ใน 31 รายการสินค้า เช่น ข้าว พืชไร่ สมุนไพร ผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น กล้วยไม้ ปศุสัตว์ ประมง และม่อนไหม เป็นต้น

ผลการดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2558-2559 พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศมีดังนี้

1. ข้าว จำนวน 393 แปลงใหญ่ พื้นที่ 8.3 แสนไร่ ลดต้นทุนได้ 19 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มผลผลิต 13 เปอร์เซ็นต์

2. ปาล์มน้ำมัน จำนวน 15 แปลงใหญ่ พื้นที่ 2.7 แสนไร่ ลดต้นทุน 15 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มผลผลิตได้ 19 เปอร์เซ็นต์

3. มันสำปะหลัง จำนวน 34 แปลงใหญ่ พื้นที่ 6.6 หมื่นไร่ ลดต้นทุน 25 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มผลผลิต 30 เปอร์เซ็นต์ และ

4. อ้อย จำนวน 10 แปลงใหญ่ พื้นที่ 1.1 หมื่นไร่ ลดต้นทุนได้ 20 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มผลผลิตได้ 25 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยนะครับในการดำเนินการช่วงแรก โดยเป้าหมายระยะต่อไปต้องลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตจาก 120 เปอร์เซ็นต์ ต่อแปลง สำหรับพืชทุกประเภท

สำหรับตัวอย่างที่ให้เห็นได้วันนี้คือ พื้นที่การปลูกข้าวแปลงใหญ่ที่ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ นับว่าประสบความสำเร็จในการทำ เกษตรสมัยใหม่แปลงใหญ่แปลงหนึ่ง ตามแนวทางประชารัฐบนพื้นที่ 3,780 ไร่ มีสมาชิก 297 ราย บริหารงานโดยศูนย์ส่งเสริมและผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน สภาพพื้นที่ทำนาอยู่ในเขตที่มีความเหมาะสม ทั้งปานกลางและน้อย เราสามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 4,620 เหลือ 3,285 บาทต่อไร่ หรือลดลงได้ถึง 29 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 400 เป็น 500 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นได้ 25 เปอร์เซ็นต์ และอยากให้เป็นแบบอย่าง อาจมีหลายพื้นที่ที่ผมได้กล่าวถึง ขอบคุณด้วยที่ร่วมมือเราจะได้ช่วยตรงจุด

กระทรวงมหาดไทย มีการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการตามนโยบายการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ดังนี้ เรื่องสำคัญคือเรื่องที่ 1 การควบคุมผู้เช่านา มีจำนวนผู้เช่านา 360,000 ราย มีผู้ให้เช่า 340,000 ราย พื้นที่ที่มีการเช่านาทั้งหมด 9,600,000 ไร่ เราสามารถเจรจาลดค่าเช่านาให้แก่ ผู้เช่าได้จำนวน 120,000 กว่าราย คิดเป็นพื้นที่เช่านา 22,000 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 48 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ งดเก็บค่าเช่านาให้แก่ผู้เช่า ได้จำนวน 581 ราย ในพื้นที่เช่านา 7,300 คูณ 3 ไร่ จำนวนเงินที่ลดค่าเช่านาลงได้กว่า 1,100,000 บาท สำหรับจำนวนเงินที่งดเก็บค่าเช่านากว่า 2,600,000 บาท

เรื่องที่ 2 การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เปิดศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ จากจังหวัดเป็นอำเภอต่อไป ให้ชาวนา เกษตรกร ที่นำที่ดินไปจำนองนอกระบบ มาเจรจากับเจ้าหนี้ โดยมีปลัดช่วยเจรจา จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,600,000 ราย แบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1 หนี้สินที่เดือดร้อนเร่งด่วน ที่มีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว 2 หนี้นอกระบบที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง บังคับคดี กำลังแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบอยู่ กรณีประเด็นทางสังคมที่อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจ บ้านเมืองกำลังก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น เราต้องรักษาระบบเรียบร้อยให้มากที่สุดนะครับสำหรับประเทศไทย ในการเดินไปข้างหน้า และไปสู่การค้าการลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปสู่อนาคตเมื่อเรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วย

เพราะฉะนั้นความร่วมมือที่เราอยากขอทุกท่าน เรื่องแรกคือ การตั้งศูนย์รักษาความสงบ อันนี้ จริงๆ มีอยู่แล้ว ส่วนราชการมีอยู่แล้ว อันที่ตั้งใหม่ไม่ใช่เพื่อไปตั้งอะไรเยอะแยะ ไม่ใช่ ตั้งกลไกในการบูรณาการ แสวงหาความร่วมมือ 3 ฝ่ายให้ได้ อันแรกได้แก่ รัฐบาล หน้าที่โดยตรงเป็นของกระทรวงมหาดไทย อันที่ 2 เป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. 3 ส่วนนี้ต้องร่วมกันให้ได้

การดูแลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยมีความปลอดภัย ประชาชนมีความสุข และเป็นไปตามสิ่งที่ทุกคนต้องการ มันเป็นมาตรการในการป้องกันที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายได้ และปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด สุจริต ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ซึ่งจะมีการกำหนดความรับผิดชอบ และขั้นตอนการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ทหารของ คสช.จะดูแลรักษาสงบเรียบร้อยทั่วไป ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ ไปชี้นำ หรืออะไรต่างๆ แล้วแต่ ที่อีกฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายอะไรก็ตามหวาดระแวงอยู่ก็แล้วแต่ในการทำประชามติ เพราะในเขตของการลงคะแนนนั้น เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ของ กกต.รับผิดชอบอยู่แล้วเหมือนทุกครั้งที่่ผ่านมา คสช.เข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งหมดนั้นจะมีหน้าที่ในการนำข้อมูลการกระทำความผิด ตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ตามคำสั่ง คสช. ส่งให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณา ผมไม่อยากให้เกิดภาพความไม่สงบเกิดขึ้นอีก เหมือนกับการเลือกตั้งในอดีต จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย สิ้นเปลืองงบประมาณ เจ้าหน้าที่ถูกลงโทษ แล้วใครรับผิดชอบบ้างล่ะ วันนี้ผมก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ละเว้นอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการเดินหน้าและปฏิรูปประเทศตามโรดแมป และถ้าหากว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายของกระบวนการยุติธรรม อย่าไปหลงเชื่อคำบิดเบือน ผมไม่ไปบังคับใครอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ

ก็ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ป้องกัน ระงับยับยั้งเหตุที่จะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย รวมทั้งปัญหาที่อาจเกิดจากการชุมนุมสาธารณะที่บานปลาย ไร้การควบคุมด้วย เคยเกิดขึ้นในอดีตมากมาย ต่อไปนี้อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ผมก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนในการบังคับใช้กฎหมาย

ในเรื่องที่สองที่สำคัญคือเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายในการเพื่อจะจัดระเบียบสังคมและบ้านเมือง อันนี้เราใช้คำสั่ง คสช. มีกฎหมายทุกฉบับอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่าทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐได้อธิบาย ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าเหตุใดเราต้องดำเนินการ เข้าไปจัดระเบียบสังคม จัดระเบียบทางเท้า จัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตรวจค้นสถานประกอบการ ตรวจตลาด ทั้งนี้ ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ประโยชน์ที่จะเกิดและประชาชนจะได้รับในระยะยาว มันเป็นอย่างไร ทั่วถึงเป็นธรรมอย่างไร ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาจัดระเบียบอย่างเดียว ใครเดือดร้อน ใครมีปัญหาอะไรก็ไม่ฟัง ไม่พูดไม่ชี้แจง ประชาชนถามก็ตอบเหมือนเดิม คสช.สั่งมา ไม่พอใจก็ไปต่อว่า คสช.เอาเอง เดี๋ยววันหน้าก็กลับมาใหม่ คำพูดทำนองนี้ผมว่าเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมนะครับ ผมไม่ได้เกรงกลัวว่าใครจะมาต่อว่า คสช. ผมอดทนอยู่แล้วล่ะ แต่ผมสงสารประชาชน พ่อค้า แม่ค้า ที่เดือดร้อนจากการปล่อยปละละเลยในช่วงที่ผ่านมา

ผมอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันด้วยความเข้าใจ ปลูกฝังคนไทยให้พูดจากันด้วยเหตุด้วยผล เป็นสังคมที่ใช้ความคิด ใช้ปัญญา ทำอะไรก็ต้องมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป มีเป้าหมาย มีชัดเจน ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จแล้วก็จบข่าว แถลงข่าวแล้วจบ แบบนี้ไม่ได้ มันจะแก้ไขอะไรไม่ได้อีก แล้วก็กลับมาที่เดิม เราก็ต้องได้ทั้งงาน ได้ทั้งความสำเร็จ ได้ทั้งความเข้าใจของพี่น้องประชาชน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ฝากไว้อีกครั้งนะครับ เจ้าหน้าที่รัฐทุกท่าน ทุกส่วน ทุกกระทรวง ที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการในการใกล้ชิดพี่น้องประชาชนขอให้ทำในทุกกรณี

ส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดขึ้นจากกรณีการบังคับใช้กฎหมายโดยใช้เจ้าหน้าที่คนเดิมหรือหน่วยเดิมๆ ไปดำเนินการ ซึ่งประชาชนอาจยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือไม่ไว้วางใจ หากพื้นที่ใดที่มีปัญหาหมักหมมยาวนาน ก็ควรใช้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง คนละคน คนละชุด นอกพื้นที่ลงไปแก้ปัญหา แล้วก็ช่วยกันดูแลเฝ้าระวัง แล้วก็อย่าให้เกิดขึ้นอีก ก็ระวังการทุจริตด้วยนะครับจะถูกลงโทษสถานหนัก จะเห็นได้ว่ามีการสอบสวนมากมายในขณะนี้ ผมไม่อยากจะไปรังแกข้าราชการอยู่แล้ว

เมื่อวานนี้ผมได้พบนายมณเฑียร บุญตัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2560-2563 เป็นวงรอบที่ 2 แล้ว ผมก็ได้แสดงความยินดีกับเขา ให้กำลังใจในการทำงาน พร้อมกับรับฟังข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ สิ่งใดที่เราทำได้กับคนพิการก็จะทำให้ทันที สิ่งใดยังทำไม่ได้ ต้องใช้งบประมาณสูง ใช้เวลามาก ก็ต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบตามแผนงานจัดลำคับความเร่งด่วนในการใช้จ่ายงบประมาณ มีระยะสั้น กลาง ยาว เพราะว่าเราก็ต้องใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและหลายๆ ส่วนด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่งทุ่มลงไปหมด มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องดูแลคน 67 ล้านคน เกือบ 70 ล้านคนวันนี้ หลายๆ อย่างก็ต้องใช้เงินมาก เพราะว่าที่ผ่านมาอาจจะทำได้ไม่มากนัก เราก็ต้องทำให้มันสอดคล้องกับโรดแมปของเราด้วย และเตรียมการส่งมอบอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่

สุดท้ายนี้ จากการที่ผมได้สั่งการให้มีการปรับผังรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT เขาก็ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ให้นโยบายไปแล้วว่าขอให้เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อประเทศไทย ให้ทำรายการดีๆ เพื่อพี่น้องประชาชน ทำอย่างไรให้น่าดู น่าติดตาม ให้คนเปิดแล้วสนใจ ไม่เปลี่ยนช่อง ผมไม่บังคับใครดูตลอดอยู่แล้ว ช่วงไหนอยากดูละครดูบันเทิงก็ไปดูได้ แต่ช่วงไหนเป็นสิ่งสำคัญก็กรุณากลับมาดูบ้าง ไม่งั้นมันหากันไม่เจอ แล้วเราก็ไม่สามารถไปที่ช่องอื่นได้มากนัก เรื่องที่มันเป็นเรื่องของทางราชการ รวมทั้งการประกอบการทางธุรกิจด้วย

ซึ่งในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคมนี้ ก็จะครบรอบ 28 ปี ของ NBT มีหลายรายการใหม่ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ อย่างเช่น รายการขันเป็นข่าวของโฆษกรัฐบาล ที่จะเปิดตัววันแรกในวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม ในเวลา 3 ทุ่ม ก็ของให้ลองติดตามชม จะเป็นรายการที่ให้โฆษกรัฐบาลลงไปพบปะพี่น้องประชาชนตามถนนหนทาง ร้านค้าตรอกซอกซอย มีคำถามอะไรฝากถามรัฐบาล อะไรอยากรู้ก็ถามโฆษกไก่อู ที่ลงไปทำรายการนี้ อยากถามอะไรรัฐบาลก็ฝากถามมาได้ ตอบทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ต้องตอบ ก็คงต้องอาศัยระยะเวลา งบประมาณในการดำเนินการแก้ปัญหาทั้งหมด 1 2 3

ปัญหาสำคัญก็คือ ประชาชนต้องให้ความสนใจด้วย อันนี้สำคัญ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ถ้าดูบันเทิงอย่างเดียวความรู้มันก็ไม่ได้ ถ้าดู 2 อย่างพร้อมกัน มันก็ไม่ได้อีก ต้องจัดสรรเวลาของตัวเองให้ดี ถ้าฟังแล้ว ดูแล้ว มันก็อาจจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราปรับรายการไปแล้วไม่มีคนดู มันก็เหมือนเดิม ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ตาม ท่านก็ไม่รู้ ไม่ทราบ แล้วก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไร ไม่มีช่องทางเข้าหา กองทุนอะไรต่างๆ มันมีหมดอยู่แล้ว ใครเข้ามาเขาก็ได้ ใครปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เขาก็ได้ เว้นแต่ว่าคนไม่สนใจ ก็ยังมีอยู่ แต่ผมไม่โทษท่าน ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้มาตลอด วันนี้ผมก็ค่อยๆ พูดค่อยๆ แก้ไปแล้วกัน แต่อยากให้มันแก้เร็วขึ้น ประชาชนต้องสนใจ จะได้เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มเติมขึ้น ในปัจจุบันและในอนาคตด้วย ขอบคุณครับ สวัสดีครับ ขอให้มีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น