xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์เผยโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” งบฯ 3 แสนล้าน ดูดเงินเอกชน 1.9 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์เผยรายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก งบฯ 3 แสนล้านบาท พื้นที่ “ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา” ดึงเงินเอกชนลงทุน 1.9 ล้านล้าน เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ... พร้อมเร่งศึกษา 6 แผน พัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบเป็น จุดจอดเรือยอชต์ ขยายท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เร่งปรับท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสนามบินร่วมระหว่างพลเรือนและทหาร และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

วันนี้ (29 มิ.ย.) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่ารัฐจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท และคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากเอกชนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยมุ่งหวังให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศ เชื่อมการลงทุนสู่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกและทวาย ประกอบกับใช้การเชื่อมโยงทางน้ำไปถึงชายฝั่งทะเลกัมพูชา และจีน โดยจะดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง จากการลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)

“การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะอาศัยการเชื่อมโยงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดเอกชนและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ด้วยการการเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางถนน โดยการสร้างถนนให้ครอบคลุม รวมถึงการขยายมอเตอร์เวย์ในช่วงพัทยา-มาบตาพุด ทางรางโดยการสร้างรถไฟทางคู่ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาเตรียมการ ทางเรือ โดยการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบให้เป็นจุดจอดเรือยอชต์ ประกอบกับขยายท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และทางอากาศ โดยการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาภายใต้การใช้สนามบินร่วมระหว่างพลเรือนและทหาร (Joint Use Civil Military Airport) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกว่า 3 ล้านคนต่อปี และใช้ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ”

โครงการดังกล่าวมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่อู่ตะเภาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดึงเม็ดเงินกว่า 60% ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่สูญเสียให้กับต่างประเทศกลับมา ซึ่งปัจจุบันไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงเครื่องบินพาณิชย์ประมาณ 771 ล้านเหรียญสหรัฐ และในพื้นที่ดังกล่าว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ใช้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอยู่แล้ว

สำหรับรายละเอียดของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) มีดังนี้

“๑. การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย พื้นที่เป้าหมายระยะแรก ๒ บริเวณ คือ (๑) บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ (๒) บริเวณแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ได้มีการขยายพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม ๘ จังหวัดภาคตะวันออก ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์เงินลงทุนเอกชนในภาคอุตสาหกรรมมูลค่า ๑.๙ ล้านล้านบาท ร้อยละ ๓๖ ของประเทศ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมูลค่า ๓ แสนล้านบาท มีผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาประจำปี คิดเป็นสัดส่วน ๑ ใน ๕ ของประเทศ และผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาอุตสาหกรรมคิดเป็น ๑ ใน ๓ ของประเทศ หรือร้อยละ ๓๙ มีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับอีกประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน สามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ท่าเรือสีหนุวิลล์ของราชอาณาจักรกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก จึงยังมีศักยภาพสูงที่จะขยายให้เป็นแหล่งการลงทุนของประเทศ

๒. กรอบแนวคิดการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ดำเนินการใน ๓ จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ เขตพัฒนาเมือง เพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่เห็นชอบในหลักการส่งเสริม ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ประกอบด้วย (๑) การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และ (๒) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) โดยส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว มีการบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงทั้งระบบและมีประสิทธิภาพ การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน การพัฒนาเมืองและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ การดำเนินการด้านผังเมือง สิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ การพัฒนาแหล่งน้ำให้มีคุณภาพและพอเพียงกับอุตสาหกรรม เกษตร ท่องเที่ยว และอุปโภคบริโภค และประเมินผลกระทบต่อประชาชน โดยให้มีพระราชบัญญัติการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

๓. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะต้องมีการบูรณาการเชื่อมโยงทั้งระบบ ทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ ท่าอากาศยานทั้ง ๓ แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง ลดเวลาในการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง พัฒนาท่าเรือโดยเพิ่มศักยภาพเรื่องการขนส่งสินค้าทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดให้เป็นจุดจอดเรือยอชท์ เรือข้ามฟาก (Ferry) และเรือสำราญ (Cruise) เน้นการเชื่อมโยงกับท่าเรือท่องเที่ยวอื่น ๒ ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่มีแนวขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี ๒๕๖๑ โดยองค์ประกอบโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญ มีดังนี้

๓.๑ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๖,๗๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ที่ใช้งานทางทหารฝั่งตะวันตกของทางวิ่ง โดยเป็นที่ตั้งหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบันมีการดำเนินงานเป็นท่าอากาศยานนานาชาติภายใต้การบริหารของกองทัพเรือตาม พรบ.กองทุนหมุนเวียน ใช้พื้นที่สำหรับเป็นอาคารผู้โดยสารและสิ่งอำนวยความสะดวกประมาณ ๑๐๐ ไร่ มีการใช้ประโยชน์ตอบสนองภารกิจ ๒ ด้าน อย่างสมดุล คือทั้งภารกิจทางทหารเพื่อความมั่นคง และภารกิจในการเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการใช้ศักยภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้หลักการ “การใช้สนามบินร่วม พลเรือน และทหาร” (Joint Use Civil Military Airport)

ทั้งนี้ กองทัพเรือมีแผนพัฒนาเพื่อดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ตามนโยบายพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ ๓ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบด้วยการจัดเตรียมพื้นที่เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ๑,๑๕๐ ไร่ พื้นที่สำหรับเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ (Air Cargo and Logistics Hub) ๕๕๐ ไร่ พื้นที่กิจการ General Aviation ๑๓๐ ไร่ พื้นที่รองรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมในอนาคต ๘๗๐ ไร่ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรมการบิน ๓๕๐ ไร่ และประกอบกิจการพาณิชย์ปลอดอากร (Free Trade Zone) ๓๒๐ ไร่ ทั้งนี้ กองทัพเรือจะจัดทำผังพื้นที่ และจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบวางผังสิ่งปลูกสร้าง ในสนามบิน (Airport Layout) โดยละเอียดต่อไป

๓.๒ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ปัจจุบันคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงของเครื่องบินพาณิชย์ประมาณ ๗๗๑.๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเกือบร้อยละ ๖๐ สูญเสียให้กับต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยขาดผู้ประกอบการซ่อมบำรุงที่มีศักยภาพในการสร้างศูนย์ซ่อม โดยท่าอากาศยานอู่ตะเภามีความเหมาะสมเป็นลำดับแรกที่จะพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ปัจจุบันบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เช่าพื้นที่ ๑๕๐ ไร่ เพื่อก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมและกองทัพเรือได้จัดทำแผนการพัฒนา เพื่อรองรับการขยายปริมาณผู้โดยสารทางอากาศและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ (๑) การพัฒนาสถานีรถไฟเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารหลังใหม่โดยตรง (สถานีอู่ตะเภา) (๒) การพัฒนาศูนย์พัฒนาบุคลากร ด้านการบิน (Aviation Training Center) และ (๓) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมโดยรอบพื้นที่โครงการ

๓.๓ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เป็นที่จอดเรือรบและฐานส่งกำลังบำรุง และใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่อเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน และขนส่งผู้โดยสาร โดยมีแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ให้เป็นจุดจอดเรือยอชท์ เรือสำราญ (Cruise) และเรือข้ามฟาก (Ferry) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง ๒ ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน พัทยา-จุกเสม็ด-ชะอำ โดยเรือสำราญจะสามารถใช้เวลาล่องจากสัตหีบไปหัวหินภายใน ๑ ชั่วโมง และเชื่อมต่อระบบรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่ง

๓.๔ การขยายท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

(๑) ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มี อัตราการเติบโตของการให้บริการขนถ่ายสินค้าสูง มีความทันสมัยสามารถรองรับเรือบรรทุกตู้สินค้าขนาด ๘๐,๐๐๐ DWT (Post Panamax) มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ ๑๑.๑ ล้านทีอียูต่อปี ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาความแออัดของการจราจรหน้าท่า และขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นประตูการค้าหลักของประเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าของท่าเรือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (STRO) รองรับตู้สินค้า ๒ ล้านทีอียูต่อปี พัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) รองรับตู้สินค้าชายฝั่ง ๓ แสนทีอียูต่อปี และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ รวมทั้งโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ เพื่อรองรับตู้สินค้าได้สูง ๘ ล้านทีอียูต่อปี

(๒) ท่าเรือมาบตาพุด เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และทันสมัย มีการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด ๒๖๔,๐๐๐ DWT เปิดให้บริการ ๑๒ ท่า (ท่าเรือสาธารณะ ๒ ท่า และท่าเรือเฉพาะกิจ ๑๐ ท่า) โดยมีเอกชน ๑๙ ราย เช่าดำเนินการเป็นท่าเรือ คลังน้ำมัน คลังสินค้า และโรงไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด ออกแบบเบื้องต้น และ EHIA ท่าเทียบเรืออุตสาหกรรมระยะที่ ๓ เพื่อให้เป็นท่าเรือชั้นนำที่มีศักยภาพ ขีดความสามารถ และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอในการเป็นท่าเรือที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย มีเป้าหมายในการรองรับเรือขนส่งสินค้าเหลวและ ก๊าชธรรมชาติ ประกอบด้วย ท่าเรือสินค้าเหลว ท่าเรือก๊าช ท่าเรือบริการ และพื้นที่คลังสินค้าและธุรกิจต่อเนื่องกับก๊าชธรรมชาติ

๓.๕ การพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางบก พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกมีโครงข่ายถนนค่อนข้างสมบูรณ์ครอบคลุมทั่วถึง ทางหลวงสายหลักส่วนใหญ่ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนที่สำคัญได้แก่ ทางหลวงหมายเลข ๓ ๓๔ ๓๖ ๓๐๔ ๓๓๑ ๓๔๔ ๓๖๑ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข ๗ กรุงเทพฯ-ชลบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด และก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรและบูรณะทางหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งนี้มีการพัฒนาโครงข่ายสายรองเพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งให้มีความสมบูรณ์ การปรับปรุงโครงข่ายถนนหลักโดยรอบพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่ง และพัฒนาโครงข่าย ถนนเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญ ๓ แห่ง อย่างเป็นระบบ ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา

รวมทั้งการพัฒนาระบบรางเพื่อให้เป็นโครงข่ายหลักในการขนส่งสินค้าของประเทศ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างสถานีบรรจุและแยกกล่อง (ICD) ที่ลาดกระบังและท่าเรือแหลมฉบัง แก้ไขปัญหาขาดแคลนรถจักรและแคร่บรรทุกสินค้า เพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถ และเพิ่มศักยภาพการบริการระบบราง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และมีโครงการสำคัญที่อยู่ในแผนดำเนินการในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กรุงเทพฯ-ระยอง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง แหลมฉบัง-นครราชสีมา

๓.๖ การดึงดูด ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม การจัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จการลงทุน (One Stop Service) การอำนวยความสะดวกในการอนุมัติเรื่องการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต การประกาศเป็นเขตปลอดภาษี การจัดหาที่ดินและระยะเวลาเช่าที่ดิน ระยะเวลาพำนักและทำงานของนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินตราต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์ธุรกรรมการเงิน และการจัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น”


กำลังโหลดความคิดเห็น