xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นมือถือ 2 จี ดับใน 3 เดือน กทค.รับข้อเสนอทรูให้เอไอเอสเช่าใช้โครงข่ายต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม มีมติไม่อนุมัติคำร้องของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ขอขยายระยะเวลาเยียวยาการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ต่อไป เพื่อโอนย้ายลูกค้า 2จี ที่ค้างการใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ หลังจากสัญญาสัมปทานออกจากระบบ เนื่องจากมติเดิมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กำหนดให้มาตรการเยียวยาลูกค้าสิ้นสุดลงเมื่อผู้ชนะการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รายหนึ่งรายใดนำเงินค่าประมูลงวดแรก พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) มามอบให้แก่ กสทช. ซึ่งบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต 4จี แจ้งกำหนดวันส่งมอบเงินงวดแรกพร้อมวางแบงก์การันตีแล้วในวันที่ 11 มีนาคมนี้

สำหรับลูกค้าของเอไอเอส ในระบบ 2จี ที่ใช้ซิมการ์ดค้างอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ยังมีเหลืออยู่ราว 800,000 ราย และลูกค้าที่ใช้ซิมการ์ดบนคลื่นความถี่อื่นแต่ใช้บริการเชื่อมโยงข้ามโครงข่าย (โรมมิ่ง) เพื่อใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ราว 8 ล้านคน

นายฐากรกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ให้เอไอเอสสามารถใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวต่อไปได้อีก 3 เดือน เพื่อให้โอนย้ายลูกค้าออกจากระบบ 2จีให้เรียบร้อย โดยทรูให้เหตุผลว่าไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายให้ลูกค้าเอไอเอสซิมดับ ซึ่งเอไอเอสต้องจ่ายค่าเช่าใช้งานคลื่นความถี่ให้แก่ทรู ในอัตรา 450 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นมูลค่าที่เฉลี่ยมาจากราคาคลื่นความถี่ที่ทรูประมูลได้ หารด้วยจำนวนเดือนที่ทรูมีสิทธิใช้งาน โดยราคาดังกล่าวยังไม่นับรวมรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย หรือกำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการที่เอไอเอสจะต้องส่งมอบให้ทรู และค่าเช่าใช้งานโครงข่ายคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เอไอเอส ต้องจ่ายให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยการกำกับดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทางทรูขอมอบให้ กสทช. เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ กสทช. เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง คือ ทรู, เอไอเอส และบริษัทลูก คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ และบริษัท ทีโอที มาประชุมร่วมกำหนดแนวทางที่เหมาะสม ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและรายได้ ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ และสรุปแนวทางให้บอร์ด กทค. พิจารณาในวันที่ 11 มีนาคม

นายฐากรกล่าวว่า กรณีให้เอไอเอสใช้งานคลื่นได้ต่อจะไม่ใช่มาตรการเยียวยา แต่เป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะกรณีเปลี่ยนผ่านก่อนเปิดใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวแม้เอไอเอสเป็นผู้ดูแลลูกค้า แต่ลูกค้าสามารถเลือกที่จะย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นแบบคงสิทธิเลขหมาย (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ได้ทันที โดยไม่เข้าเงื่อนไขข้อกำหนดที่มีของการคงสิทธิเลขหมายแบบปกติที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน

“แนวทางทั้งหมดจะต้องทำภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ ถ้ากฎหมายไม่เอื้อ หรือตกลงกันไม่ได้จะต้องใช้ มาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และหากตกลงกันไม่ได้อีกจะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอใช้มาตรา 44 เพราะ กสทช. เห็นว่าวันนี้ประชาชนต้องมาก่อน จึงต้องไม่ซิมดับ ไม่งั้นคนทั่วไปคงไม่เข้าใจและจะมาด่า กสทช. ว่าปล่อยซิมดับได้อย่างไร” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาคำร้องของทรู กรณีเอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ไม่สามารถปล่อยลูกค้าที่ต้องการโอนย้ายแบบคงสิทธิเลขหมายจาก เอไอเอส และดีแทค ไปยังทรูได้ โดยทั้ง 2 บริษัท ให้เหตุผลว่า ทรูโอนย้ายลูกค้าไม่เป็นธรรมตามข้อกำหนดมาตรขั้นตอนทั้ง 8 ประการในการกำหนดไว้สำหรับการโอนย้ายลูกค้าแบบคงสิทธิเลขหมาย ส่งผลให้ลูกค้า เอไอเอส และ ดีแทค ที่กำลังรอย้ายไปทรู รวม 600,000 เลขหมาย ไม่สามารถโอนย้ายได้นั้น บอร์ด กทค. พิจารณาแล้วมีมติให้ออกคำสั่งทางปกครองให้ เอไอเอส และ ดีแทค โอนย้ายลูกค้าไปยังทรูทันที ภายใน 3 วัน เนื่องจากหน้าที่ในการตรวจสอบการโอนย้ายของลูกค้า เป็นของผู้ให้บริการรายใหม่ที่กำลังรับลูกค้าไป และเป็นหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งกรณีการโอนย้ายดังกล่าวผิดเงื่อนไขจริงหรือไม่ทาง กสทช. จะเป็นผู้ตรวจสอบเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น