xs
xsm
sm
md
lg

สงคราม 4G สุดเดือด! “JAS” ประกาศล้มยักษ์ธุรกิจสื่อสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


JAS ตั้งโต๊ะแถลงสยบข่าวลือกระฉ่อน ไร้ศักยภาพในการให้บริหาร เพราะขาดทั้งประสบการณ์ และบุคลากร “พิชญ์” กร้าวไม่หวั่นข้อครหา เพราะมีพันธมิตรแข็งแกร่ง แบงก์การันตี ตั้งเป้าปีแรกลูกค้าใหม่ 2 ล้านราย ทั้งรายใหม่และลูกค้าที่ย้ายค่ายจากผู้ให้บริการรายอื่น

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS กล่าวถึงแผนกลยุทธการทำธุรกิจสื่อสาร หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ประมูลคลื่นความถี่ได้ กลับมีเสียงร่ำลือว่าไม่มีความสามารถ และศักยภาพมากพอที่จะแข่งขัน และการให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือบนคลื่นความถี่ 900 MHz บนโครงข่าย 4G เนื่องจากเป็นการใช้เงินทุนที่สูง อีกทั้งบริษัทยังไม่มีประสบการณ์ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้มากพอ ทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุน และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เป็นอย่างมาก

โดย นายพิชญ์ โพธารามิก กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทของตนนั้นแม้จะเป็นบริษัทใหม่ที่ลงสนามเข้ามาแข่งขันในธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ขอยืนยันว่า บริษัทฯ มีความพร้อมทุกด้านในการประกอบธุรกิจ อีกทั้งยังมีพันธมิตรที่แจ้งความจำนงในการเข้าร่วมลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนทั้งโครงการจากธนาคารกรุงเทพ ในการชำระค่าประมูลใบอนุญาต จำนวน 75,654 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์สถานีฐานอีกประมาณ 25,000 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท หัวเว่ย บริษัทพันธมิตรจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่ายอุปกรณ์โครงข่ายการสื่อสารขนาดใหญ่ที่สามารถผ่อนชำระในระยะยาวได้

“บริษัทฯ เตรียมที่จะชำระเงินประมูลงวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท หรือ 50% ของมูลค่าใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งในสัญญาการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ได้มีการรับรองโดยสถาบันการเงิน โดยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเป็นต้นไปที่บริษัทได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.แล้ว และจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในทันที ทั้งนี้ ตั้งเป้าในช่วงปีแรกจะมีลูกค้าประมาณ 2,000,000 ราย และเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5,000,000 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี ทั้งจากลูกค้าใหม่ และลูกค้าที่ย้ายค่ายมาจากผู้ให้บริการรายอื่น ขณะเดียวกัน คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากธุรกิจโมบายทำรายได้ที่ดีกว่าบรอดแบนด์ อีกทั้งการลงทุนก็ต่ำกว่าคลื่น 1,800 เมกะเฮิรตซ์มาก ขณะที่ในช่วงแรกจะเน้นลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการใช้โครงข่ายข้อมูลความเร็วสูง ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และลูกค้าเดิมจาก 3BB”


ขณะที่ในส่วนของโครงข่ายสถานีฐานซึ่งเป็นจุดกระจายสัญญาณทั่วประเทศนั้น ในช่วงแรกจะเป็นการเช่าเสาส่งสัญญาณจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (CAT & TOT) ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ไม่น้อยกว่า 15,000 สถานีฐาน โดยจะเน้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด หลังจากนั้น บริษัทจะลงทุนในการสร้างเสาส่งสถานีฐานเอง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ลูกค้าผู้ใช้บริการ จำนวน 77 จังหวัดทั่วประเทศในปีต่อๆ ไป






กำลังโหลดความคิดเห็น