ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรรมการ กสทช. ลุยโคราช ตรวจคุณภาพการให้บริการมือถือ อินเทอร์เน็ต พบเรื่องร้องเรียนอื้อ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคิดค่าบริการ และสัญญาณไม่ดี โทร.ไม่ติด สั่งปรับปรุง พร้อมแจ้ง ปชช.ใช้โทรศัพท์ระบบ GSM 1800 และ 900 MHz เร่งย้ายค่ายก่อนซิมดับ เผยเปิดประมูลทั้ง 2 ระบบ ต้นเดือน พ.ย.นี้
วันนี้ (30 ต.ค.) รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวที่ จ.นครราชสีมา ว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตหลัก จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นเอกชน 3 รายคือ เอไอเอส, ทรู, ดีแทค และอีก 2 รายเป็นรัฐวิสาหกิจ คือ ทีโอที กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ CAT ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจต้องให้บริการอย่างมีคุณภาพตามที่ กสทช.กำหนดไว้ โดยรวมพบว่าการให้บริการของทุกค่ายยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเอาไว้
สำหรับการร้องเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการคิดค่าบริการ ซึ่งผู้ใช้กับผู้ให้บริการอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกันและกัน เช่น เก็บเงินเกินแพกเกจที่ใช้บริการ เรื่องนี้ต้องไปดูว่าสัญญาที่มีระหว่างกันเป็นอย่างไร ประเด็นที่ 2 คือ คุณภาพของสัญญาณ บางคนอยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ บอกว่าสัญญาณที่ได้รับไม่ชัด โทรศัพท์ไม่ติด ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องลงไปกำกับดูแล และแจ้งผู้ให้บริการเร่งดำเนินการแก้ไข จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง หากยังไม่ดำเนินการแก้ไขก็จะมีบทลงโทษต่อไป
ส่วนกรณีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM 1800 และความถี่ 900 MHz ซึ่งจะหมดอายุการคุ้มครองในเดือน พ.ย.นี้ และจะทำให้ซิมดับนั้น รศ.ประเสริฐ กล่าวว่า กสทช.ได้ออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ดูแลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 MHz ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ จนกว่า กสทช.จะประกาศกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งระบบ GSM 1800 และระบบ 900 MHz โดย กสทช. จะปิดการให้บริการภายในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ถ้าไม่เช่นนั้นการให้บริการอาจไม่ได้รับความสะดวก นั่นหมายความว่า อาจโทร.ออกไม่ได้ และคลื่นที่นำมาประมูลยังไม่แน่ใจว่าใครจะประมูลได้
ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ย้ายไปใช้ระบบอื่นแต่สามารถใช้เบอร์เดิมได้ แต่หากช้าเกินไปซิบถูกตัดดับไป เบอร์ หรือหมายเลขโทรศัพท์อาจจะหายไปด้วย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีประชาชนที่ใช้หมายเลขโทรศัพท์ในระบบ 900 อยู่ประมาณ 2 ล้านหมายเลข ในจำนวนนี้น่าจะมีจำนวนหนึ่งที่ใช้อยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจไม่ได้ใช้เพียงแต่ไม่ได้แจ้งยกเลิก
ดังนั้น จึงขอแจ้งไปยังประชาชนให้ย้ายค่าย โดยหลังเสร็จสิ้นการประมูลซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้แล้วค่อยย้ายกลับมาระบบเดิมก็ได้ หากยังติดใจการให้บริการ ซึ่งการจัดการประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.สำหรับคลื่น GSM 1800 และ 12 พ.ย.2558 ประมูลคลื่น 900 MHz หลังประมูลแล้วภายใน 7 วัน จะรับรองผลการประมูล หากไม่มีเหตุต้องสงสัยว่ามีการฮั้ว เราจะประกาศรายชื่อผู้ชนะ แล้วรับรองผลการประมูล หลังจากนั้นจะได้รับใบอนุญาตโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขให้ครบ ที่สำคัญคือ ต้องจ่ายค่าประมูลก่อน ซึ่งราคากลางที่ตั้งไว้ทั้ง 2 ใบ แต่ละใบวงเงินหมื่นกว่าล้านบาท ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 4 ราย ทั้ง 2 ระบบ