ไอซีทีเร่ง 2 รัฐวิสาหกิจสร้างรายได้ระยะยาว ปั้นเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ เปิดทางให้เอกชนร่วมธุรกิจ ย้ำทีโอทีต้องอยู่ได้โดยไม่มี 900 MHz แนะนำทรัพยากรที่มีอยู่มาทำแผนธุรกิจหากมีแนวโน้มดี ทำได้ พร้อมสนับสนุนทั้งงบประมาณ และบุคลากร
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า แนวทางที่จะทำให้ 2 รัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อยู่รอดอย่างยั่งยืน คือ ทั้ง 2 บริษัทต้องนำทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมารวม และบริหารงานร่วมกัน เพื่อให้ทั้ง 2 องค์กร เป็นองค์กรให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมเช่าใช้ ซึ่งจะส่งผลดีในการลดต้นทุน ไม่เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน ทำให้มีค่าบริการที่สามารถแข่งขันได้ สอดคล้องต่อสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้กำหนดกลุ่มโครงสร้างบริการของทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ที่เหมือนกันเพื่อให้ง่ายในการทำงานร่วมกันได้
ดังนั้น ตนเองจึงได้สั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงานเสนอแผนธุรกิจที่ทำให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืนมาให้พิจารณา โดยเฉพาะในกรณีของทีโอที ต้องเสนอแผนธุรกิจในการขับเคลื่อนภายใต้เงื่อนไขว่าทีโอทีไม่มีคลื่น 900 MHz มาด้วย เพราะทีโอทียังมีทรัพยกรอีกหลายอย่างที่สามารถทำให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นบรอดแบนด์ ไฟเบอร์ออปติก คลื่นทั้ง 2100 MHz 2300 MHz ซึ่งหากแผนงานที่เสนอมาน่าสนใจ และมีแนวโน้มว่าทำได้ ช่วยทำให้ทีโอทีมีรายได้ รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณ และบุคลากร ขณะที่ กสท โทรคมนาคม เองก็ต้องเสนอแผนมาเช่นกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงได้ให้ 2 หน่วยงานทำโครงการร่วมกัน 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (ซับมารีน เคเบิล) โดยให้ กสท โทรคมนาคม เป็นเจ้าภาพ และโครงการท่อร้อยสายใต้ดิน ให้ทีโอที เป็นเจ้าภาพในการนำสายโทรคมนาคมลงท่อใต้ดิน
“ผมเชื่อว่าเมื่อทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับของ คนร. และต่อไปหากมีบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ก็จะยิ่งทำให้ทั้ง 2 องค์กรต้องทำงานเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่กระทรวงจะเป็นผู้ดูแลด้านนโยบาย ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะเดินหน้าได้ก็ต้องเคลียร์ข้อพิพาทที่มีให้หมดด้วยตามที่ คนร.สั่ง จึงได้เร่งสั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงานเสนอแผนงานมาโดยเร็วที่สุด”
ส่วนเรื่องทีโอทียังคงมีความหวังในการขอคลื่น 900 MHz มาบริหารงานเอง และมีแนวโน้มว่าจะยื่นฟ้องศาลเพื่อขัดขวางการประมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น ตนเองยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ เพราะว่าการฟ้องร้องยังไม่เกิดขึ้นซึ่งต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ เชื่อว่าทีโอทีคงต้องกระตือรือร้นในการทำให้องค์กรตนเองอยู่รอด เพราะขณะนี้สัญญาสัมปทานคลื่น 900 MHz ที่ทำกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส หมดลงแล้ว และทีโอทีมีแนวโน้มจะขาดทุน 1,000 ล้านบาท
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วย คือ การต้องขับเคลื่อนกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลด้วย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย 3 ฉบับใหม่ หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะที่ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังอยู่ระหว่างการร่างรายละเอียดใหม่ มีเพียง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น ที่เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้น หากต้องการให้กฎหมายผ่านทั้งหมดต้องนำเข้าพร้อมกัน โดยที่ผ่านมา มีปัญหาและกฎหมายไม่ผ่านตามแผน เนื่องจากมีการเรียงลำดับในการพิจารณาไม่ถูกต้อง