xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีเปิดเวทีขายฝันโชว์อนาคตหากได้ความถี่กับเสาโทรคม 900 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“มนต์ชัย” เปิดเวทีขายฝันโชว์พนักงาน ทีโอที หากได้ความถี่ 900 MHz กับเสาโทรคมในข้อพิพาทมาบริหารเอง คาดจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท แจงส่งจดหมายถึง กสทช.ให้แก้ไขข้อบกพร่องเรื่อง กม.แล้วหลังจากนี้ 2 วัน หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องอาจต้องจบที่ศาล

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. เวลาประมาณ 14.00 น. นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน ร่วมรับฟังสถานการณ์ของทีโอทีในเรื่องสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz แนวทางการรักษาสิทธิ ปัญหาการแก้ไขสัญญากับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส แนวทางการรักษาประโยชน์ กรณีมีการโอนย้ายเลขหมายลูกค้าไม่ถูกต้องตามประกาศมาตรการเยียวยาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สถานะภาพทางการเงิน และแนวทางการหารายได้เพิ่ม

นายมนต์ชัย กล่าวว่า ทีโอทีจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อใช้สิทธิในการปกป้องความถี่ในย่าน 900 MHz ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ทีโอทีได้ส่งหนังสือไปยัง กสทช. เกี่ยวกับการตีความกฎหมายที่ต่างกัน ซึ่งทีโอทีเชื่อว่าใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 48 (4) ระบุว่า การคืนคลื่นต้องคืนมาเพื่อจัดสรรใหม่ หรือปรับปรุงการใช้งาน ดังนั้น ไม่ได้ระบุว่า ต้องคืนให้ กสทช.นำไปให้คนอื่น แต่ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ มาตรา 83 วรรคท้าย กลับไม่มีคำนี้ จึงขอให้ กสทช.ตอบมาว่าจะดำเนินการปรับปรุงข้อบกพร่องในการตีความอย่างไรภายใน 2 วันนี้ หากไม่ได้คำตอบ ทีโอทีต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่า เรื่องใดก็ตามหากไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะต้องไปตกลงกันที่ศาล ดังนั้น การที่ทีโอทีทำสิ่งนี้จะช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีในการคัดค้านการทำงานของ กสทช.ได้

อย่างไรก็ตาม หากทีโอที ได้คลื่นความถี่ 900 MHz มาให้บริการต่อ ทีโอทีคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 22,800 ล้านบาท จากการต่อยอดในย่านความถี่ดังกล่าว โดยเป้าหมายรายได้ที่คาดการณ์นั้นประกอบด้วย 1.การให้บริการลูกค้าระบบ 2G ที่มีลูกค้าค้างอยู่ 2.4 ล้านราย โดยคาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 4,800 ล้านบาทต่อปี และ 2.รายได้จาการโรมมิ่งบริการจาก 3G ของทีโอทีเองอีกปีละ 18,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทีโอทีสามารถเลี้ยงตัวเองได้

นอกจากนี้ ในการต่อยอดธุรกิจจากคลื่น 900 MHz หลังจากที่ทีโอทีได้รับโอนมอบทรัพย์สินจากคู่สัญญาสัมปทานเอไอเอสในระบบ 2G จำนวน 13,198 เสาโทรคมนาคม รวมกับในระบบ 2G ที่เอไอเอสนำไปอัปเกรดเป็น 3G อีก 3,700 แห่ง และเสาโทรคมนาคมของทีโอทีในย่าน 2100 MHz จำนวน 5,320 แห่งรวมเป็นทรัพย์สินทางเสาโทรคมจำนวน 22,218 แห่ง ซึ่งสามารถนำมาให้บริการได้ แต่ในส่วนเสาโทรคมนาคมที่ยังเป็นข้อพิพาทกับเอไอเอสอยู่นั้นจะพยายามให้สิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแนวทางในการยุติข้อพิพาทก็มีการหารือใน 3 รูปแบบ คือ 1.ตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) 2.กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเสาโทรคมนาคม และ 3.การทำสัญญาเช่าระยะยาว โดยทีโอทีปฏิเสธแนวทางร่วมทุนแต่ต้องการตั้งกองทุนหรือให้เช่าระยะยาวมากกว่า

“ส่วนเรื่องหาพันธมิตรนั้น ขณะนี้มีมติบอร์ดเพราะเกรงว่า การทำธุรกิจในรูปแบบการร่วมทุนจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) หรือไม่ จึงได้ชะลอการเจรจาเรื่องพันธมิตรออกไปก่อนจนกว่าจะได้หนังสือตอบกลับจากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทราบผลได้ภายในเดือน ต.ค. คาดว่า ภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปว่าจะเลือกใคร และใช้รูปแบบไหน ซึ่งจริงๆ การทำพันธมิตรกับเอไอเอสก็ต้องดำเนินการต่อ ส่วนเรื่องคลื่น 900 MHz ที่เอไอเอสต้องโอนทรัพย์สินคืนเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรายืนยันว่าเราต้องทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารให้เต็มที่”
กำลังโหลดความคิดเห็น