xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีเปิดศึกรอบด้าน !!(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ออกมาเคลื่อนไหวกดดันหน่วยงานต่างๆทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงการทำงานไม่ชอบในเรื่องการนำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ได้หมดสัญญาสัมปทาน กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เมื่อวันที่ 30 ก.ย. โดยจะนำไปเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการรายอื่น ทั้งที่จริงๆแล้วคลื่นต้องถูกนำกลับคืนมาที่ทีโอทีตามสิทธิ์ที่ ทีโอที ได้รับมา

ขณะที่สหภาพฯทีโอทียังได้ยื่นหนังสือเพื่อจะขับไล่กรรมการบริษัทบางคนที่ไม่ต่อสู้ หรือ ฟ้องร้องศาลเพื่อให้ได้คลื่นมาแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายบริหารซึ่งเก็บตัวอยู่ระยะหนึ่งต้องออกมาชี้แจงถึงจุดยืนของฝ่ายบริหารที่เห็นสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสหภาพฯทีโอทีเช่นกัน

*** เปิดศึกด้านแรก เอไอเอสหมกเม็ดทรัพย์สิน

งานนี้ 'มนต์ชัย หนูสง' ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ได้นัดหมายพนักงานทีโอทีเพื่อรับฟังจุดยืนดังกล่าวร่วมกัน โดยเขากล่าวว่า เมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินของคลื่น 900 MHz ที่เอไอเอสมีทั้งหมดรวมถึงที่สร้างใหม่เองด้วยซึ่งเป็นไป ตามสัญญา BTO (Build Transfer Operate) ต้องคืนให้ทีโอที ซึ่งปัจจุบันทรัพย์สินทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินดังกล่าวประกอบไปด้วย ชุมสายโทรศัพท์ สถานีฐาน และเสาโทรคมนาคมจำนวน13,198 แห่ง กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องที่มีประมาณ 7 แสนรายการว่าอยู่ครบหรือไม่ คาดว่าภายในไม่เกินเดือน ต.ค.นี้จะดำเนินการเสร็จ

แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ เสาโทรคมนาคม จำนวน13,198 แห่งนั้นเอไอเอสไม่ยอมส่งมอบให้ทีโอที และกลายเป็นข้อพิพาทอยู่ในอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เป็น 10 ปีกว่าเรื่องจะจบ หรือไม่จบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังพบว่าเอไอเอสได้แบ่งคลื่น 900 ระบบ 2G ไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเป็น 3G ซึ่งมีเสาโทรคมนาคมอยู่ 3,700 แห่งโดยทีโอทีไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน

ขณะเดียวกันก็ยังพบปัญหาอีกหลายจุด ได้แก่ มีการยกเลิกใช้สถานีฐานของทีโอทีโดยไม่แจ้งให้ทราบ การเช่าพื้นที่ควรเช่าในนามของทีโอที แต่เอไอเอสกลับไม่ทำทั้ง 100% ปัญหาการใช้สายอากาศที่มีการนำสายอากาศสำหรับคลื่น 900 MHz ลงจากเสาและเปลี่ยนมาใช้สายอากาศ 2100 MHz ซึ่งมีความสามารถในการรับทั้ง 2 คลื่นแทน ทำให้ทีโอทีไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสายอากาศควรจะเป็นทรัพย์สินของใคร ขณะที่อุปกรณ์จ่ายไฟให้กับสถานีฐานของทีโอทีก็หายกลับมาแทนที่ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถจ่ายให้ได้ทั้ง 2 คลื่นเช่นเดียวกัน

เหล่านี้ล้วนสร้างความสับสนในการรับมอบงานทั้งสิ้น เพราะเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินต้องเป็นของทีโอที แต่เอไอเอสกลับทำแบบนี้ จึงไม่ทราบว่าเจตนาคืออะไร

***เปิดศึกด้านที่สอง กสทช.ต้องแก้ไขข้อบกพร่อง

มนต์ชัย กล่าวว่า ทีโอที ไม่ยอมรับการประกาศตามมาตรการเยียวยาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคลื่น 900 MHz ของกสทช.เพราะเป็นการเปิดช่องให้เอไอเอสเชิญชวนลูกค้า 2G ย้ายไปอยู่เครือข่าย 3G 2100 MHz ของตนเอง เนื่องจากมีข้อความระบุว่า ผู้ให้บริการต้องพร้อมให้ความสะดวกในการย้ายเครือข่าย แล้วใครจะเป็นคนจ่ายค่าเช่าโครงข่ายให้ทีโอที

ดังนั้นทีโอทีจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อใช้สิทธิในการปกป้องความถี่ในย่าน 900 MHz ของตนเอง ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมาทีโอทีได้ส่งหนังสือไปยัง กสทช.เกี่ยวกับการตีความกฎหมายที่ต่างกันซึ่งทีโอทีเชื่อว่าในพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 48 (4) ระบุว่าการคืนคลื่นต้องคืนมาเพื่อจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้งานดัง นั้นจึงไม่ได้ระบุว่าต้องคืนให้กสทช.นำไปให้คนอื่น

แต่ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ มาตรา 83 วรรคท้าย กลับไม่มีคำนี้ จึงขอให้กสทช.ตอบมาว่าจะดำเนินการปรับปรุงข้อบกพร่องในการตีความอย่างไร ภายใน2 วันนี้ หากไม่ได้คำตอบ ทีโอทีต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ยอมรับว่าเรื่องใดก็ตาม หากไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะต้องไปตกลงกันที่ศาล ดังนั้นการที่ทีโอทีทำสิ่งนี้จะช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีในการคัดค้านการทำงานของกสทช.ได้ และที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าทีโอทีไม่ส่งหนังสือถึง กสทช.แต่ทีโอทีทำมาตั้งแต่ปี 53 และ 54 แล้วแต่ทีโอทีก็ไม่ได้อะไรตอบกลับมาจากกสทช.

*** วาดฝันได้คลื่นทำเองสร้างรายได้ปีละ 2 หมื่นล.

อย่างไรก็ตาม มนต์ชัย เชื่อว่า หากทีโอที ได้คลื่นความถี่ 900 MHz มาให้บริการต่อทีโอทีคาดว่าจะมีรายได้ปีละ22,800 ล้านบาท จากการต่อยอดในย่านความถี่ดังกล่าวโดยเป้าหมายรายได้ที่คาดการณ์นั้นประกอบด้วย 1.การให้บริการลูกค้าระบบ 2Gที่มีลูกค้าค้างอยู่ 2.4 ล้านราย โดยคาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 4,800ล้านบาทต่อปี และ 2.รายได้จาการโรมมิ่งบริการจาก3G ซึ่งลูกค้า 3G ของเอไอเอสแม้ว่าจะย้ายไประบบ 2100 MHz ไปจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่กลับพบว่ายังมีลูกค้าประมาณ 10 ล้านรายโรมมิ่งกลับมาใช้ 2G คลื่น 900 MHz ของทีโอที โดยคาดว่าจะมีรายได้ปีละ18,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทีโอทีสามารถเลี้ยงตัวเองได้

หากทีโอทีได้รับมอบทรัพย์สินคืนมาทั้งหมดประกอบด้วยเสาโทรคมนาคม2G จำนวน 13,198 แห่ง เสาโทรคมนาคมในระบบ2Gที่ เอไอเอสนำไปอัปเกรดเป็น 3G อีก 3,700 แห่ง และเสาโทรคมนาคมของทีโอทีในย่าน 2100 MHz จำนวน 5,320 แห่ง เมื่อนำมารวมจะทำให้ทีโอทีมีเสาโทรคมนาคมจำนวน 22,218 แห่ง ทำให้สามารถนำมาให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'เรายอมรับว่าเราไม่มีความชำนาญ เรื่องการทำธุรกิจโมบายล์ แต่ล่าสุดเมื่อเราเห็นไฟแนนซ์เชียลโมเดล ทำให้ทีโอทีมั่นใจว่าจะสามารถบริหารคลื่นเองต่อไปได้ในอีก 10 ปี เราจะเอาเงินตรงนี้ไปปรับปรุงโครงข่าย และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคาถูก เพราะเรามีต้นทุนต่ำ ที่สำคัญยังมีกลุ่มลูกค้าผู้ที่ไม่ได้ใช้การสื่อสารข้อมูล (ดาต้า) อีกจำนวนมาก ถ้าเราได้คลื่นมาเราจะไปจุดธูปหน้าพระพรหม โดยจะนำคลื่นมาทำเพื่อประโยชน์ของชาติ และจะไม่ทำให้ล้มเหลวเหมือน 3G ที่ทำเมื่อก่อน'

ด้านกำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ ทีโอที กล่าวว่า ถ้าทีโอทีได้คลื่นคืนกลับมาทีโอทีก็มีทีโออาร์พร้อมให้เวนเดอร์ผู้ทำเครือข่ายทำงานต่อได้เลย ที่สำคัญเวนเดอร์ของทีโอทีกับเอไอเอสเป็นเจ้าเดียวกัน โดยทีโอทีจะใช้เวลาในการทำระบบหลังบ้าน 3-4 เดือน โดยต้องทำงานคู่กับเอไอเอสสักระยะหนึ่งก่อน แต่มั่นใจว่าจะไม่กระทบลูกค้าแน่นอน

ขณะที่รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทีโอที กล่าวว่า บริการ 3G คลื่น 2100 MHz ของทีโอทีสามารถรับลูกค้าได้ 5-7 ล้านราย หากลูกค้า 2G คลื่น 900 MHz จะย้ายมาใช้บริการ 3G ของทีโอที ทีโอทีก็มีโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า ซึ่งยังสามารถรับลูกค้าในกรุงเทพฯอีกหลักแสนราย ส่วนการรองรับลูกค้าตามภูมิภาคต้องใช้เวลาในการขยายโครงข่าย ทั้งนี้รูปแบบการเพิ่มรายได้ของทีโอทีจะเน้นไปที่การขายซิมลูกค้าที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ

ขณะที่ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ยังคงกล่าวยืนยันเช่นเดิมว่า กสทช. มีหน้าที่ในการนำคลื่นที่หมดสัญญาสัมปทานแล้วมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูล และจะไม่มีอะไรมาหยุดกระบวนการได้นอกจากมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ คำสั่งจากศาลปกครองเท่านั้น เพราะหากสทช.ไม่ดำเนินการนำคลื่นมาประมูลก็อาจจะโดนมาตรา 157 ในฐานะละเลยการปฏิบัติหน้าที่ได้

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้เข้าพบพลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.โดยเข้าหารือกันในหลายประเด็น โดยประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการประมูล 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะจัดให้มีการประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.58 ซึ่งรมว.ไอซีที ยอมรับว่า สหภาพฯทีโอทีจะดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองอย่างแน่นอน แต่ในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแล ทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดไม่เคยที่จะต้องการขัดขวาง กสทช.เพื่อไม่ให้เกิดการประมูลแต่อย่างใด

บทสรุปท่าทีของทีโอทีวันนี้ จึงชัดเจนยิ่งนักว่าฝากอนาคตไว้กับคำพิพากษาของศาล !!

Company Related Link :
ทีโอที

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น