กสทช.เตรียมตัดสินกรณีดีแทค กับเอไอเอสร้องเรียนทรูให้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิมที่ร้านสะดวกซื้อไม่ถูกหลักเกณฑ์ โดยทรูส่งหนังสือถึง กสทช.อ้างทำตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ กม.ใหม่เพิ่งบังคับใช้ 2-3 เดือน ด้าน กสทช.ขอเวลารวบรวมข้อมูลส่งบอร์ด กทค.พิจารณาวันที่ 16 ก.พ.นี้ ขณะที่ไอซีทีเผย พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุง คาดเข้า สนช.ภายในไตรมาสแรกปีนี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรณี บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ทำหนังสือยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ขอให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบวิธีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์มือถือ กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือบางรายที่ดำเนินการโอนย้ายลูกค้าของผู้ให้บริการรายอื่นผ่านร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่า อาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดไว้นั้น
ขณะนี้ได้มอบหมายให้ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.ด้านโทรคมนาคม เป็นผู้รวบรวมข้อร้องเรียน และข้อเท็จจริงในการดำเนินการของผู้ประกอบการที่มีการกล่าวอ้างถึงคือ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ส่งให้สำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 12 ก.พ.2559 เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 16 ก.พ.2559
ทั้งนี้ ทียูซี ได้ส่งหนังสือชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอ้างว่ามีผลบังคับใช้มาแล้ว 2-3 เดือนแล้ว ทำให้สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น จึงต้องดูก่อนว่าประกาศหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการโอนย้ายเลขหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการ และกำกับดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรมให้มีการเรียกเก็บเอกสารที่ลงนามยืนยันโดยผู้โอนย้ายที่ กสทช.ออกมานั้นกำหนดให้เป็นลายเซ็นจริง แล้ว พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลต่อประกาศหรือไม่ หากมีผล กสทช.ก็ต้องปรับปรุงประกาศให้สอดรับต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากทียูซี ทำความผิดจริง กสทช.ต้องส่งจดหมายแจ้งเตือนให้หยุดการกระทำดังกล่าว ส่วนผู้เสียหายก็ต้องนำผลจากการพิจารณาของ กสทช.ไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ แต่หากทำได้ผู้ประกอบการรายอื่นก็ต้องทำได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เคยกล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็น พ.ร.บ. 1 ใน 8 ฉบับ ที่กระทรวงไอซีทีกำลังปรับปรุงจากฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และคาดว่าจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ภายในไตรมาสแรกของปีนี้
Company Related Link :
กสทช.