xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำพุ่ง ดาวโจนส์ทะยาน น้ำมันร่วง 4 วันติด หลังสต็อกน้ำมันล้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (15 ต.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแรงลง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ - COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 7.7 ดอลลาร์ หรือ 0.65% ปิดที่ระดับ 1,187.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐที่ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลง 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่อ่อนแอในสหรัฐ ส่งผลให้ความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ มีน้อยลง

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (15 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากซิตี้กรุ๊ปเปิดเผยตัวเลขกำไรพุ่งกว่า 50% ในไตรมาส 3 นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับข้อมูลที่ระบุว่า จำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,141.75 จุด พุ่งขึ้น 217.00 จุด หรือ +1.28% ดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 4,870.10 จุด เพิ่มขึ้น 87.25 จุด หรือ +1.82% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 2,023.86 จุด เพิ่มขึ้น 29.62 จุด หรือ +1.49%

นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารอย่างคึกคัก หลังจากซิตี้กรุ๊ป อิงค์ เปิดเผยว่า ทางธนาคารมีกำไรพุ่งกว่า 50% ในไตรมาส 3 สู่ระดับ 4.29 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.35 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อเทียบกับระดับ 2.84 พันล้านดอลลาร์ หรือ 88 เซนต์ต่อหุ้นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากทางธนาคารมีค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายที่ลดลงอย่างมาก

ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าซิตี้กรุ๊ปมีกำไรต่อหุ้น 1.28 ดอลลาร์ในไตรมาส 3

ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของซิตี้กรุ๊ปช่วยหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้น โดยหุ้นเจพีมอร์แกน ดีดขึ้น 3.2% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา พุ่งขึ้น 3.5% หุ้นคีย์คอร์ป ทะยานขึ้น 4.7% หุ้นซิตี้กรุ๊ป พุ่งขึ้น 4.4% และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ปรับขึ้น 3%

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 255,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในรอบกว่า 40 ปี และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (15 ต.ค.) เป็นการปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ประกอบกับปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 31.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 55 ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมันดิบ

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 26 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 46.38 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 44 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 48.71 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงหลังจาก EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 ต.ค. เพิ่มขึ้น 7.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 468.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 2.6 ล้านบาร์เรล

สำหรับสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 54.2 ล้านบาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 221.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 147.6 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 600,000 บาร์เรล

สำหรับอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 1.5% สู่ระดับ 86.0% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.6%

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงในกรอบจำกัด เนื่องจากตลาดได้รับแรงหนุนในระหว่างวันจากข้อมูลของ EIA ที่ระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 ต.ค. ลดลง 76,000 บาร์เรล สู่ระดับ 9.096 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น