xs
xsm
sm
md
lg

สอนมวยคสช.!‘ธีรยุทธ’แนะใช้อำนาจพิเศษกำจัดคนชั่ว-ลดเสียงด่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เว็บไซต์สำนักข่าวอิศราเผยแพร่การข่าวนายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวปาฐกถาในงานเสวนาวิชาการเรื่อง“ปฏิรูปประเทศ การเมือง กฎหมายและเศรษฐกิจ’ จัดโดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ว่า คสช.เก่งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางทหาร คือ เลือกวางตัวตามแนวกฎหมายว่าด้วยการไว้วางใจในการปกป้องคุ้มครอง ตามแบบที่สหประชาชาติใช้เป็นเหตุผลแก้ความขัดแย้งภายในประเทศไม่ให้เกิดสงครามการเมือง หรือการปะทะนองเลือด ในแง่นี้ถือว่า คสช.ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มั่นใจว่า คสช.วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ภารกิจใหญ่จริงๆของคนไทยทั้งประเทศและเส้นทางจริงๆที่ประเทศควรก้าวเดินเป็นอย่างไรได้ชัดเจนหรือไม่

ที่ผ่านมากระบวนความคิดของ คสช.ดูต่างไปจากนักวิชาการการเมืองและปัญญาชนอย่างมาก จึงไม่แน่ใจว่า เมื่อโรดแมปดำเนินไปสิ้นสุด คสช.หมดภารกิจ แต่ปัญหาวิกฤติประเทศจะคลี่คลายหรือไม่ การสร้างความปรองดองถือเป็นภารกิจหลัก ซึ่งถูกต้อง จำเป็น มีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์การทหาร เพราะทำให้ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่การปฏิรูปการเมือง กลับไม่ถูกมองเป็นภารกิจหลักของ คสช.

“ในศาสตร์การเมืองหรือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ การรอมชอม ประนีประนอม แบ่งปันผลประโยชน์ การสนทนาต่อรอง เพื่อเกิดความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่การประนีประนอมจอมปลอมระหว่างถูก-ผิด หรือความชั่ว-ดี ซึ่งความสามัคคีปรองดองเป็นภาวะปกติของคนในสังคมเดียวกันอยู่แล้วแต่ถ้าเกิดเป็นปัญหาในระดับร้ายแรงแล้วก็สะท้อนว่า ระบบ กระบวนการ และกลไกต่างๆ ในประเทศผิดพลาดอย่างแรง จนเป็นต้นตอให้เกิดภาวะวิกฤติต่อเนื่องยาวนานมากอย่างไม่มีคนคาดคิดมาก่อน”

นายธีรยุทธ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปได้ แต่ก็คล้ายกับการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศพ้นจากสภาพด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนา ซึ่งไม่ใช่การใช้เงินทุน แรงกาย แรงใจลงไปในทุกๆ เรื่อง แต่ต้องเลือกลงทุนอุตสาหกรรมบางด้านที่เป็นจุดแข็งของประเทศ จนเศรษฐกิจดีขึ้นได้ การปฏิรูปการเมืองก็เช่นกัน ต้องเลือกทำเฉพาะบางจุดก่อนเท่านั้น ถ้าคสช.ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิดหรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง

นายกฯได้กำหนดชัดเจนถึงช่วงเวลาเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและถ้าตอกย้ำไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใดก็จะยิ่งมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ยิ่งนิ่งลง และนายกฯ ควรเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดประชาชนต้องเป็นผู้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง ข้าราชการ ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะไม่มีทางที่ทหารจะแสดงบทบาทในสถานการณ์พิเศษได้บ่อยครั้ง สถานการณ์พิเศษไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คนไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่าและใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น